23 มี.ค. 2022 เวลา 17:09 • ท่องเที่ยว
เชียงใหม่เดินหน้า เทศกาลท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์ สร้างงาน - กระตุ้นเศรษฐกิจ - ช่วงสถานการณ์โควิด
#นั่งรถรางชมเมือง บ่ายอันอบอ้าว ท่ามกลางการจราจรและฝุ่นควัน รถรางเปิดโล่งวิ่งช้าๆ เลียบไปตามถนน เสียงผู้บรรยายเผยภาพอดีตที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังความเจริญ ตึกราม ร้านค้า ผ่านไมโครโฟนอย่างออกรส ชวนให้ผู้คนที่จอดติดสัญญาณไฟแดงหันมาฟังด้วยความสนใจ
“เมื่อก่อน … เชียงใหม่เวลาจะออกรบออกศึกต้องไปชุมนุมทัพกันที่ข่วงสิงห์ ไปอาบน้ำว่านน้ำยาเพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า เมื่อเสร็จศึกก็ต้องมาไหว้ พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง วัดเชียงยืน แล้วก็มาเข้าประตูเมืองเชียงใหม่ทางช้างเผือก เดี๋ยวเราจะไปดูบ่อน้ำที่ว่ากัน”
ผู้ร่วมคณะฯ ที่โดนป้ายยาเป็นที่เรียบร้อยต่างเดินลงจากรถราง มุ่งตรงไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างราชสีห์ทั้งสองตน
“ตรงส่วนที่เราอยู่ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นเดชบ้านเดชเมือง ถือว่าที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ทำให้เกิดฤทธิ์เดชอำนาจ จะชนะข้าศึกสงครามอะไรต่างๆ ก็ต้องมาชุมนุมทัพและมาเอาน้ำตรงนี้แหละ”
“ตามตำนานพื้นเมืองล้านนาเชียงใหม่ แต่ละปีจะกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีพิธีสังเวยพลีกรรม มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นประธานประกอบพิธีกรรม ถือได้ว่าเป็นเสื้อเมือง ทรงเมือง ที่มีความสำคัญต่อชาวเชียงใหม่อีกจุดนึง เป็นที่มาของสำนวนที่ว่า ‘ พญาช้างอยู่ทางเหนือ พญาเสืออยู่ทางใต้’ หรือ ‘สิงห์เหนือเสือใต้’
“สิงห์กับช้างอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่ เป็นเดช ส่วนทางทิศใต้เป็นเสือ แต่ปัจจุบันพังไปแล้วเหลือเพียงวัดร้างข่วงเสือซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ชาวบ้านที่เคยดูแลทั้งสิงห์และช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษยังคงสืบทอดและทำพิธีพลีกรรมอยู่จนถึงทุกวันนี้”
รถรางหยุดจอดเป็นระยะ เพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญซึ่งเป็นไฮไลท์ทางประวัติศาสตร์ อาจารย์ภูเดช แสนสา นักวิจัยกลุ่มล้านนาคดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บรรยาย สะกดผู้โดยสารไว้ด้วยเรื่องราวอันมีมนต์ขลัง ที่หลายคนแม้เป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิดก็ส่ายหน้ายอมรับว่า ‘ยังไม่เคยรู้’
- -
การนั่งรถรางตามรอยเส้นทางสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่สายดังกล่าว เป็นเพียงหนึ่งใน 11 เส้นทาง ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายน 2565 และเป็นส่วนหนึ่งของ เทศกาลการท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ภายใต้ โครงการสร้างงานเพื่อประสิทธิภาพ จัดการสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
#จุดเริ่มนิเวศประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ “เมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ ตามดำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึง ชัยมงคล 7 ประการที่พญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาถือเอาเป็นเหตุผลของการสถาปนาชัยภูมิของ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดผ่านการเรียนรู้ระบบนิเวศต่างๆ ภูเขา แหล่งป่าต้นน้ำลำธาร คนโบราณเชื่อว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง เป็นชัยภูมิที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง แม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ไหลผ่าน มีสัตว์กินพืชอยู่อาศัย แสดงถึงความอุดมสมบุรณ์ปลอดภัย พื้นที่ลาดเอียงป้องกันการเกิดน้ำท่วม ที่ราบลุ่มและการทำนา ก็มีความสำคัญดังปรากฏในตำนานชียงใหม่ปางเดิมหรือตำนานเจ้าสุวรรณคำแดงว่า บริเวณแอ่งน้ำเชียงใหม่มีที่ดินอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ปลูกข้าวปีหนึ่ง จะได้มีข้าวรับประทานถึงเจ็ดปีด้วยกัน
#การท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและคุณค่าของประวัติศาสตร์ จุดประกายความหวังในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พื้นฟูสภาพแวดล้อม ท่ามกลางปัญหาหมอกควัน และกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ชุมชน องค์กรการปกครองท้องถิ่นและภาครัฐ ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า จึงได้ผนึกกำลังกันผลักดัน เทศกาลการท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ขึ้น” คุณอนันต์ธรณ์ โหจินดารัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ.2558
#ภาพรวมของโครงการ คุณเกวลิน สังขะสังค์ เขียว สวย หอม Greenery.Beauty.Scent เชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของโครงการ “โครงการนี้เราจะพัฒนากลุ่มงานของรุกขกร ผู้ที่ดูแลตัดแต่งต้นไม้และรักษาต้นไม้อย่างเป็นระบบตามหลักกระบวนการที่ถูกต้อง แล้วนำไปสู่พื้นที่นิเวศประวัติศาสตร์อันสวยงาม ทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยว ที่เราจะได้เห็นสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการดูแลอย่างดีใน 11 พื้นที่ อปท.ของเรา ทุก อปท.จะมีเสน่ห์มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองแล้วเราจะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันและกระตุ้นให้เสน่ห์นั้น ออกไปสู่สายตาประชาชน และผู้ที่จะมาเยือนเชียงใหม่ ทำให้เกิดความหลากหลายในการท่องเที่ยว”
#เส้นทางท่องเที่ยว นริศรา คงเพ็ชรศักดิ์ ตัวแทนนักศึกษาฝึกประสบการณ์โครงการเชียงใหม่เขียว สวย หอม นำเสนอ 11 เส้นทางการเดินรถ ที่ได้สำรวจและออกแบบร่วมกับชุมชน “การออกแบบเส้นทางเดินรถและท่องเที่ยว 11 เส้นทางนี้ มีไฮไลท์ตามสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น เส้นทางแรก
#เทศบาลนครเชียงใหม่ Night trip ชื่นชมเสน่ห์ของเมือง สัมผัสวิถีชีวิตชาวเชียงใหม่ในยามค่ำคืน ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ชมความงดงามของอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก ณ วัดศรีสุพรรณ และ เจดีย์ที่มีการผสมผสานของสถาปัตยกรรมระหว่างจีนและล้านนา ณ วัดเกตุการาม เที่ยวชมกาดหลวง แหล่งจับจ่ายซื้อของของคนเมืองเชียงใหม่่ #เทศบาลเแม่เหียะ เส้นทางนี้มีทั้งป่าและเมือง ความอุดมสมบรูณ์ของแปลงเกษตรอินทรีย์ บริเวณนี้ยังเป็นที่ชื่นชอบของนักดูนก มีนกมากกว่า 300 สายพันธุ์ แวะชมวิว สักการะ พระธาตุดอยคำและปู่แสะย่าแสะ #เทศบาลตำบลสุเทพ สักการะพระธาตุดอยสุเทพ แวะบ้านม้งดอยปุย ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อยู่ใจกลางพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เหมือนป่าโอบอุ้มหมู่บ้านเอาไว้ มีการทำแนวกันไฟ เส้นทางการเดินป่าสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ
#อบต.ช้างเผือก ชมวิถีชีวิตดั้งเดิมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ของบ้านม้ง ขุนช้างเคี่ยน เรียนรู้วิธีการทำผ้าใยกันชง แวะจิบกาแฟรางวัลระดับโลก #เทศบาลตำบลช้างเผือก ตามรอยเส้นทางสำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ประตูช้างเผือก วัดกู่เต้า และอนุสรณ์บรรพชนนิรนามข่วงสิงห์ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก ในอดีตใช้เป็นจุดรวมพลนักรบก่อนที่จะออกรบไปปกป้องเมืองเชียงใหม่ และวัดเจ็ดยอด #เทศบาลตำบลสันผีเสื้อ เปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งเรือเที่ยวชมความงามมนต์เสน่ห์สองฝั่งแม่น้ำปิง เป็นต้น”
#สภาลมหายใจ เสาวนีย์ เมฆานุพักตร์ แสดงความชื่นชมตัวแทนคนรุ่นใหม่และให้ความสนใจเส้นทางบ้านม้งดอยปุย “ภูมิใจมากที่น้องๆ สามารถผลักดันโครงการแผนที่ท่องเที่ยวออกมาให้เห็นอัตลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ทำให้มีความน่าสนใจเพราะตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างถดถอย ครั้งนี้เป็นการพลิกฟื้นขึ้นมา สนใจบ้านม้งดอยปุย มันเข้ากับสภาลมหายใจในแง่ของการไปทำแนวกันไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม สภาลมหาายใจเชียงใหม่ช่วยกันผลักดันการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากฝุ่นควัน ในเมืองเราจะมีแผนรณรงค์ขนส่งสาธารณะน่าจะเข้ากับการเดินทางท่องเที่ยว เพราะเราพยามเน้นเรื่องการใช้รถไฟฟ้า รถรางที่ทำให้เกิดฝุ่นควันน้อยลง เราจุดไฟสตาร์ทหนึ่งครั้ง เท่ากับเราจุดไฟหนึ่งกองเลยค่ะ เพราะเรามีลมหายใจเดียวกัน เราต้องช่วยขับเคลื่อนให้เมืองของเราก้าวไปข้างหน้าและไม่ลืมนิเวศประวัติศาสตร์ของเราด้วย”
#สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชียงใหม่ (ทสจ.) คุณภควรรณ แสงศรี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่อย่างยั่งยืนหลังช่วงโควิด “การสูญเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากช่วงโควิดทำให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสทบทวนทิศทางที่จะเดินหน้าต่อไปภายหลังจากการยุติการะระบาดของโควิด เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นอีกครั้ง การหาเป้าหมาย จุดเสริมที่ซ่อนอยู่ออกมาพัฒนาเพิ่มเติม เป็นความตั้งใจหลักของทางจังหวัดที่จะขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วนและหวังว่าจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
#สมัชชาสุขภาพเชียงใหม่ คุณอัญชลี สุใจคำ ผู้ประสานงาน มองว่า พื้นฐานในการทำงานที่สำคัญนั้นมาจากการสร้างระบบนิเวศที่ดี การทำงานเป็นเครือข่ายและการเข้ามามีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ “สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเป็นเชียงใหม่มหานครแห่งสุขภาวะ จริงๆ แล้วการมีสุขภาวะที่ดี การมีอากาศสะอาดก็ต้องมาจากการปราศจากฝุ่นควันและการอยู่ในนิเวศที่ดี จังหวัดเชียงใหม่มีต้นทุนหลายส่วนทั้งเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ มีประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่เป็นจุดการท่องเที่ยว เราก็จะสนับสนุนร่วมเป็นเครือข่ายในการดำเนินการร่วมกัน”
#365วันเที่ยวยังไงไม่ซ้ำ “อยากให้คนในเชียงใหม่เราเองได้มีโอกาสท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เรายังไม่เคยไป ยุคนี้เป็นยุคของโซเซียล ทุกครั้งที่มีการแชร์ออกไป มีคนอื่นมากมายที่เห็น อยากเที่ยวแบบเรา นักท่องเที่ยวสามารถขับรถไปเองได้ แต่ถ้าอยากมองเห็นมุมมองใหม่ๆ ฟังเรื่องราวมากกว่านั้น ต้นไม้ต้นนั้นมีความสำคัญยังไงกับพื้นที่ ความเชื่อมโยงในพื้นที่ระหว่างสิ่งแวดล้อม ชุมชน วิถีชีวิต นี่คือความแตกต่างที่เรากำลังจะสร้างขึ้น” เกวลิน เขียว สวย หอม เสริม “การมาเชียงใหม่ไม่ใช่แค่วิ่งเข้าถนนนิมมานเหมินทร์ วิ่งเข้าในเมืองอย่างเดียว ในอนาคตคนมาเชียงใหม่จะเลือกเลย จิ้มเลยว่าฉันจะไปเทศบาลนั้น เทศบาลนี้ 365 วัน คุณสามารถเที่ยวแบบไม่ซ้ำได้ในเชียงใหม่ กับเรื่องราวนิเวศประวัติศาสตร์ ที่เรากำลังจะสร้างกลไกขึ้นมาค่ะ”
#ความคืบหน้า ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการฝึกอบรมเพื่อสร้างรุกขกรมืออาชีพขั้นต่ำจำนวน 60 คน สร้างเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน 11 แห่ง และจะอบรมเพื่อสร้างบุคลากรทางการท่องเที่ยว มัคคุเทศน์จำนวน 20 คน และทีมสื่อสาร จำนวน 20 คน โดยเฟสแรกคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ต่ำกว่าสองล้านบาท
#ความยั่งยืนที่แท้จริง ”นี่เป็นการลงทุนองค์ความรู้ ให้กับผู้คน เมื่อเราลงทุนให้ความรู้กับคน มันไม่มีวันสูญเปล่าค่ะ จุดสำคัญคือ ทั้ง 11 เส้นทางจะมีการพัฒนาร่วมกับ อปท.รวมถึงผู้คนในชุมชนต่างๆ เพื่อให้ทุกพื้นที่ขับเคลื่อนกลไกนี้ด้วยตัวเอง นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น ความยั่งยืนอาจไม่ใช่ความยั่งยืนของเส้นทาง แต่มันคือความยั่งยืนของกลไกที่เรากำลังจะทำร่วมกัน ” เกวลิน เขียว สวย หอม กล่าว
จิตติมา จันทนะมาฬะกะ รายงาน
SDG Wings Thailand
ชมบรรยากาศการนั่งรถรางชมเมือง สาย อบต.ช้างเผือก
- -
#สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว #สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ #สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชียงใหม่ #เขียวสวยหอม #กลุ่มสมัชชาสุขภาพเชียงใหม่ #สภาลมหายใจ #พลเมืองสีเขียว #SDG #1_NoPoverty #3_GoodHealthandWellBeing #4_QualityEducation #5_DecentWorkandEconomicGrowth #11_SustainableCitiesandCommunities #13_ClimateAction #15_LiveonLand #17_PartnershipsfortheGoals #SDGWingsThailand
Also published on:
++ พลเมืองสีเขียว
โฆษณา