Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SDG Wings Thailand
•
ติดตาม
23 มี.ค. 2022 เวลา 17:16 • สิ่งแวดล้อม
[เชียงดาวกระซิบรัก]
ตอนที่ 1 เรื่องเล่าริมสายน้ำ
“บริเวณนี้เป็นที่สาธารณะของหมู่บ้าน
เดือนเมษายนช่วงเทศกาลปีใหม่เมืองช่วงหน้าร้อนจะคึกคักเป็นพิเศษ ร้านส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง
พื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำ รวมไปถึงกรวดหินดินทรายอยู่ในความควบคุมดูแลภายใต้กฏหมายของกรมเจ้าท่าเป็นกฏหมายรักษาแม่น้ำและพื้นที่สองฟากฝั่ง”
อ้ายนิคม พุทธา นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม แกนนำค่ายเยาวชนเชียงดาว บอกเล่าถึงความเป็นมาของบริเวณจุดพักผ่อนริมทาง แก่งปันเต๊า ก่อนจะถึงหน้าด่านชื่อเดียวกัน
“เมื่อก่อนเวลาถ่อแพข้ามแก่งนี้ ต้องถ่อกันนับพันครั้ง เป็นที่มาของชื่อว่า ปันเต๊า”
ต้นมะเดื่อสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านใบเขียวชะอุ่ม สองฟากฝั่งมีระบบนิเวศเฉพาะ เรียกว่าสังคมพืชและสัตว์ริมแม่น้ำ ไม่ได้มีเฉพาะบนพื้นผิวดินเท่านั้น ลงไปในน้ำก็มีระบบนิเวศของพวกมัน
“เมื่อกี้อ้อยเจอแมลงเกาะหินนะคะ (Perlidae)
ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพน้ำที่ดีมาก เพราะมันต้องมีออกซิเจนสูง มันแสดงว่าขณะนี้กายภาพของสายน้ำเนี่ยะ ยังสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ ้ต่อให้มีปุ๋ยลงมาหรืออะไร
แต่ว่าเค้ามีตรงเนี๊ยะค่ะ ตรงแก่งเนี๊ยะที่เหมือนกับมันเป็นปอดของแม่น้ำ
และเค้ากำลังฟอกตัวเอง “
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ดร.อ้อย นักชีววิทยาและอดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ร้องบอก ขณะที่ทุกคนเร่งถอดรองเท้า พับชายกางเกง ก้าวลงไป สัมผัสความเย็นฉ่ำของสายน้ำ
“ เสียงที่เรากำลังได้ยิน คือเสียงของแม่น้ำ … หายใจ ก็แปลว่าน้ำยังมีศักยภาพในการบำบัดแล้วก็ดูแลฟื้นฟูตนเอง ถึงขั้นที่ว่ายังมีแมลงที่ต้องการน้ำที่สะอาดคือยังมีออกซิเจนสูงอยู่ได้ จริงๆ มันบอกอะไรได้อีกเยอะ นี่เป็นแบบแค่เบื้องต้นง่ายๆ ถ้าเรารู้จักสัตว์ รู้จักชีวิตในน้ำเนี่ยะ เราจะรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
“ คือ น้ำเค้าก็บำบัดตัวเองได้ เยียวยาตัวเองได้
แต่ถึงจุดนึงถ้าเผื่อไอ้สิ่งที่กระทำหรือโยนๆ ลงมามันเยอะเกินไป จุดนึง เค้าก็ไม่ไหว สุขภาพเค้าก็จะเริ่มโทรมลง
สายตาทุกคู่เลื่อนตามวงแขนของ ดร.อ้อย ขณะวาดไปมาและบรรยายเรื่องราวการไหลของสายน้ำ ถ่ายทอดความหมายลึกซึ้งที่แฝงซ้อนซ่อนอยู่ มุมมองต่อสายน้ำและความรู้สึกนึกคิดของคนฟังเริ่มแปรเปลี่ยนไป
“พื้นทื่ที่เป็นวัง เช่นตรงนี้ น้ำไหลเอื่อย
แล้วมันก็จะเปลี่ยนมาไหลเร็วเป็นแก่ง แล้วก็ไปตวัดอีกที่นึงเป็นวังน้ำ ตรงนั้นก็จะเป็นเหมือนท้อง ที่สะสมอาหาร อินทรีย์ เพราะว่ามันจะลึกกว่า ไหลช้ากว่า แล้วก็มันเป็นตะกอน พวกสัตว์ก็ต้องวางไข่แถวนี้ เพราะว่าออกซิเจนเยอะ แต่ว่าพอลูกปลาฟักออกมาก็ต้องย้ายไปอยู่วัง ตรงที่น้ำมันเอื่อยกว่าแล้วก็หลบภัยได้
เราก็เลยต้องการความหลากหลายของลักษณะของบ้าน มันเป็นบ้านนะคะ แค่ตะกอนเปลี่ยนไป สัตว์ก็เปลี่ยนชนิดละ
คือจริงๆ แล้วน้ำมันไม่ได้อยู่ในท่อ มันไม่ได้เป็นแค่ลำน้ำที่ส่งน้ำมาให้สัตว์บกอย่างเรา แต่มันเป็นเมืองใหญ่ใต้น้ำ มันเป็นภูมิประเทศ มันเป็นเหมือนกับป่าเนี่ยะค่ะ แต่ว่ามันอยู่ใต้น้ำเท่านั้นเอง”
ดร.อ้อยกล่าวจบ เสียงอ้ายนิคม ก็ดังขึ้นเสริมทันที
“ถ้าคลองเนี่ยะครับมันจะไหลตรง แล้วความตื้นความลึกมันจะเสมอกัน น้ำมันจะไม่ไหล ที่ใดก็ตามที่น้ำมันไม่ไหลเนี่ยะนะ น้ำมันก็จะเป็นแม่น้ำที่มีแต่น้ำ แต่ไม่มีชีวิต
เราจะเห็นความเป็นแม่น้ำก็คือว่า แม่น้ำจะไหลคดโค้ง ความคดโค้งของร่องน้ำเนี่ยะ จะทำให้น้ำไหลช้า แล้วก็ไหลเร็ว มันเอื้อต่อส่ิ่งที่มีชีวิต ปลาบางชนิดอยู่ในร่องของน้ำไหล แต่ปลาบางชนิดอยู่ในช่วงที่พักผ่อน ออกไข่ ออกลูกเนี่ยะ ก็จะเอา ไข่อยู่ในคุ้งน้ำ วังวนของสายน้ำเนี่ยะเป็นที่พักแล้วก็หลบกระแสน้ำในฤดูน้ำหลาก”
“เป็นธรรมชาติของน้ำค่ะ ที่ไม่เคยไหลเป็นเส้นตรง
ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ ยังไงๆ มันก็ไม่ไหลเป็นเส้นตรง”
“แต่ถ้ามีการสร้างเขื่อน น้ำก็จะไหลนิ่ง จะไม่มีระบบนิเวศน้ำไหล มันจะไม่มีโอกาสที่จะเติมลมหายใจ และเติมออกซิเจน
ถ้ามีการสร้างถนน หรือว่ามีการเปิดพื้นที่
สองฟากฝั่งแม่น้ำเนี่ยะก็จะทำให้เกิดการกัดเซาะ
แล้วก็ดินถล่มทลาย กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง
เมื่อดินถล่มทลายกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางเนี่ยะ
ก็ย่่อมส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ในน้ำ
เพราะฉะนั้นการใช้ประโยชน์จากน้ำเนี่ยะ
จะต้องคำนึงถึงต้นทุนทางระบบนิเวศด้วย”
อ้ายนิคมย้ำ ดร.อ้อย ชูหินในมือขึ้นอีกครั้ง ร้องบอกพร้อมกับรอยยิ้ม
“อันนี่เนี่ยะนะคะเป็นรัง แคดิสฟราย (caddisflies) หรือแมลงหนอนปลอกน้ำชนิดหนึง ซึ่งอ้อยตั้งชื่อไทยเองว่า ชิกโก้ มันจะทำปลอกแล้วมุดอยู่ แล้วมันจะถักมันทอตรงเนี๊ยะเป็นประตูฟุตบอล มันทอเป็นเน็ต ตาข่ายนะคะ แล้วมันจะหันทางเนี๊ยะค่ะ ที่น้ำพัดมา แล้วก็คอยเอาเศษอาหารที่พัด คือ ใบไม้นะคะ ที่พัดมากับน้ำน่ะค่ะ แล้วหน้าตามันน่ารักมากแต่มันยังไม่โผล่ออกมาให้ดู”
ต่างคนจดจ้องหินจากใต้น้ำ หาตัวแมลงเป็นที่สนุก
“อาจจะดูเหมือนว่าจะสลักสำคัญอะไรแค่แมลง
แต่สองปีมาเนี๊ยะมันเกิดปรากฏการณ์ที่แล้งจัด
แล้วก็แมลงเนี่ยะหายไปเยอะมาก ในแม่น้ำ
แล้วก็ปรากฏว่า นกที่พึ่งพาคือสายใยอาหารของห่วงโซ่ มันหายไปเป็นทอดๆ กันไป เพราะว่าแมลงเนี่ยะมันเป็นพื้นฐาน เป็นอาหารเบสิคเลย”
“ แม่น้ำถือว่าเป็นคอริดอร์ที่มีความสำคัญมากๆ สำหรับสิ่งที่มีชีวิต พืชหรือสัตว์เป็นเส้นทาง มีการอพยพเคลื่อนย้าย แม้กระทั่งต้นไม้ เรือนยอดที่เราเห็นระหว่างแม่น้ำเนี่ยะก็เป็นคอริดอร์ได้
เถาวัลย์ก็เป็นคอริดอร์ได้ จะเชื่อมโยงซ้ายขวา
แต่ว่าข้างบนกับข้างล่างเนี่ยะ ก็คือสายน้ำ
แม้กระทั่ง สิ่งที่เคลื่อนตัวเองไม่ได้ ก็คือผลไม้รากไม้เนี่ยะนะครับ มะเดื่อจะออกลูก แล้วตกลงไปในน้ำป๋อมแป๋มๆ แล้วก็จะมีปลากินลูกมะเดื่อ ต่างคนต่างมีบทบาทหน้าที่ มีองค์ประกอบแต่ในที่สุดเนี่ยะ มันเชื่อมโยงกัน
แม่น้ำเนี่ยะ เค้ามีจิตวิญญาณ ก็คือ
จะต้องมีจุดที่แสงแดดส่องถึง กับจุดที่แสงแดดส่องไปไม่ถึง แล้วเราจะเห็นแสงแดดส่องนะฮะ มุมเดียวกันเนี่ยะนะ เช้าสายบ่ายเย็นเนี่ยะให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน
มันเป็นท่วงทำนองของสายน้ำ มันจะไหล
เราจะเห็นแสง ส่องบ้าง มีเงาบ้าง ลงไปตรงนู้นจะเป็นเกาะแก่ง ตรงนี้เนี่ยะจะเป็นช่วงจังหวะที่แม่น้ำ มีชีวิตชีวา
ถ้ามีเขื่อนกั้น มันเป็นฆ่าตัดตอนแม่น้ำ
หลักของการมองธรรมชาติเนี่ยะนะครับ ก็คือว่า
หนึ่งเนี่ยะ มองให้เห็นว่ามีอะไรบ้าง มอองค์ประกอบ อันที่สอง มองว่าแต่ละสวนมีบทบาทหน้าที่อย่างไร อันที่สามมองว่า แล้วในที่สุดมันเชื่อมโยงกันอย่างไร”
เสียง อ้ายนิคม ดร.อ้อย และสายน้ำ ดังสลับกันไปมา บอกเล่าเรื่องราวเสนห์มนต์ขลังของความหลากหลายที่ต่างพึ่งพา สอดประสมกลมกลืน หลอมรวมกันเป็นระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันก็แทรกการไหลของมิติทางวัฒนธรรมและบางโค้งคุ้งก็เจือจางประวัติศาสตร์ ซึมซับสู่หัวใจคนฟัง
เราเดินทวนสายน้ำกลับขึ้นสู่ฝั่ง มุ่งตรงไปยังอีกด้านของแก่งปันเต๊าเพื่อชมแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชาวบ้านตามคำเชิญชวนของอ้ายนิคมเงียบๆ
สมอง… อึงอลไปด้วยความรู้สึกนึกคิด
นานแค่ไหนแล้ว … เชียงดาวคอยกระซิบบอก
อีกนานแค่ไหน ผู้คนจะเปิดหัวใจรับฟัง
จิตติมา จันทนะมาฬะกะ
รายงานจากฟาร์ม 63 อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
โปรดติดตามตอนต่อไป ...
[เชียงดาวกระซิบรัก] ตอนที่ 2 ดอยหลวงเชียงดาวพื้นที่สงวนชีวมณฑล - UNESCO แห่งใหม่ คุยกับ คุณบุญยัง ศรีจันทร์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
#UNESCO #BiosphereReserve #SDG14_LifeBelowWater #SDG15_LifeOnLand #SDG17_PartnershipfortheGoal #การพัฒนาที่ยั่งยืน #ดอยหลวงเชียงดาว #conservation
facebook.com
SDG Wings Thailand trên Facebook Watch
[เชียงดาวกระซิบรัก] ตอนที่ 1 เรื่องเล่าริมสายน้ำ “บริเวณนี้เป็นที่สาธารณะของหมู่บ้าน เดือนเมษายนช่วงเทศกาลปีใหม่เมืองช่วงหน้าร้อน จะคึกคักเป็นพิเศษ...
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย