23 มี.ค. 2022 เวลา 19:14 • ข่าวรอบโลก
ในความคิดของนักลงทุนรายย่อยธรรมดาๆอย่างผม ที่พอตามข่าวอยู่บ้าง
ผมอยากให้มองไปถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อแล้วมาค่อยๆเรียบเรียงต่อกันเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้นเพื่อจะได้มองปัญหาได้ชัดเจนขึ้นมากกว่าครับ
สงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน เป็นต้นเหตุให้โดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า ทำให้ Demand Supply ไม่สมดุลกัน ด้วยสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นครับ
- เดิมทีประเทศต่างๆกำลังคลายล็อคดาวน์ ทยอยเปิดเมืองพร้อมกันทำให้เกิด Demand ที่มากกว่าปกติเพราะถูกอัดอั้นมานานตอนเกิด Covid-19 = เป็นตัวเร่งเงินเฟ้ออยู่แล้ว
- พอเกิด covid-19 การขนส่ง นำเข้า ส่งออก ระหว่างประเทศทำได้ยากลำบากมากขึ้น ปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ปกติการที่เรือหรือเครื่องบินที่จะวิ่งไปส่งของอีกประเทศหนึ่งและนำสินค้าจากปลายทางขาไปขนเดินทางขากลับมานั้นก็จะคุ้มค่ากับขนส่งของเรือหรือเครื่องบินลำนั้นๆตามปกติ แต่พอโควิดมาแค่จะส่งออกไปให้เต็มลำก็ลำบากแล้วยังไม่การันตีว่าขากลับจะมีสินค้ามาส่งได้มากแค่ไหน ถ้าตีเที่ยวเปล่ากลับมานี่ลำบากเลยครับ ด้วยการหมุนเวียนของระบบทั้งหมดผิดปกติ ก็ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาตั้งแต่ก่อนผมจะลาออกจากงานแล้วครับ ค่า freight แพงขึ้นมากๆจากอัตราราคาปกติครับ = เป็นตัวเร่งเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน
- สืบเนื่องจากข้อ 2 และการที่บางประเทศที่เป็นแหล่งผลิตหรือแหล่งทรัพยากรต้นนำต่างๆยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาดอยู่ก็ทำให้ผลิตสินค้าหรือส่งออกวัตถุดิบลำบากเช่นกันส่งผลทำให้สินค้าสำเร็จรูปสุดท้ายก็ขาดแคลนไปด้วย พอความต้องการมากขึ้นและผู้ขายไม่มีสินค้าก็ทำให้ราคาแพงขึ้นครับ แล้วถ้าเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหละ? = ข้อนี้ก็เป็นตัวเร่งเงินเฟ้อเช่นกันครับ
- เนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจจากโรคระบาดทำให้ภาครัฐของประเทศต่างๆต้องใช้เงินไปกับการเยียวยาบรรเทาวิกฤตินี้จำนวนมาก ทำให้เงินในคลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ บางประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย เวลาสินค้าตกต่ำหรือแพงขึ้นจนเกินไปก็ต้องใช้เงินงบประมาณมาพยุงราคาตลอด แต่พอเจอวิกฤติรอบนี้เงินไม่พอ กู้เต็มเพดานขยายเพดานจนหลังคาจะหายไปอยู่แล้ว ก็ทยอยหมดปัญหาพยุงราคาและอุดหนุนเงินกันไป ดูได้หลังจากนี้คนที่ป่วยโควิดจะลำบากหลังจากประกาศเป็นโรคประจำถิ่นและราคาน้ำมันที่กดราคาไว้ก็จะทยอยปล่อยหรือค่อยๆลด จนสุดท้ายก็ลอยตัวไปตามราคาตลาดปกติ ถ้าวิกฤติยังอยู่แบบนี้ครับ = สิ่งนี้ก็เร่งเงินเฟ้ออีกครับ
- จาก 4 ข้อที่ผ่านมาก็ทำให้เงินเฟ้อจนแทบแย่แล้ว พอมามีสงครามจนทำให้เกิดการคว่ำบาตรอีก ขอพูดอย่างอื่นนอกจากคว่ำบาตรก่อนครับ
-- เมื่อมีภาวะสงครามแน่นอน สินค้าและทรัพยากรของสองประเทศคู่สงครามจากปกติทำการค้าส่งออก (Supply) ปกติ ก็กลายเป็นต้องกักตุนไว้ใช้ในชาติตัวเองและเก็บสำรองเผื่อไว้ยามฉุกเฉินให้มากขึ้นไว้ก่อนอีก ซึ่งอย่างที่หลายๆท่านตามข่าวกันมา 2 ประเทศนี้ดันส่งออก พลังงาน, ข้าวสาลี, ปุ๋ย, ถ่านหิน, และแร่ทรัพยากรสำคัญ ซะด้วย ทำให้ = เกิดเงินเฟ้อแน่นอนไปอีกหนึ่ง
-- ยามภาวะสงครามอีกนั่นแหละ มีใครที่ไหนอยากจะให้เครื่องบินของประเทศตัวเองบินข้ามประเทศที่มีสงครามเหล่านี้ ถ้าโดนสอยร่วงมานี่ลำบากปัญหาบานปลายแน่นอน จึงทำให้มีปัญหาซ้ำมาที่ logistic อีกนั่นแหละครับ จากบินผ่านปกติ (รวมถึงเส้นทางเดินเรือด้วยนะครับ) กลายเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางที่อ้อมและไกลมากกว่าเดิม กลายเป็นต้องใช้น้ำมันหรือพลังงานมากขึ้น กินระยะเวลามากขึ้น ค่าขนส่งจากที่แพงอยู่แล้วก็แพงหนักขึ้นไปอีกครับ = ส่งผลกับเรื่องเงินเฟ้ออีกตามเคย T T
-- คราวนี้พอโดนคว่ำบาตรหละ เริ่มจาก Sanction ทางการเงิน ระบบ SWIFT การยึดทุนสำรอง, การกดดันค่าเงินอีก ยิ่งทำให้ค้าขายยากลำบากขึ้นเพราะระบบการชำระเงินนี้เป็นระบบที่ใช้กันทั่วโลก จะให้เปลี่ยนไปใช้แบบอื่นชั่วข้ามคืนพร้อมๆกันคงยุ่งยากมาก พอค้าขายลำบากก็ทำให้ Supply สินค้าต่างๆจากรัสเซียน้อยลงไปอีกในวันที่ Demand สูงแบบนี้ = กดดันเงินเฟ้ออีก
-- หลายประเทศโดยเฉพาะ สหรัฐและตะวันตกและผองเพื่อน ก็ลุมกันคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้ารวมถึงพลังงานจากรัสเซียอีก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสินค้าบางอย่างถึงแพงขึ้นบ้างก็ไม่ก่อปัญหาเป็นวงกว้างเท่าพลังงาน เพราะ พลังงานแทบจะเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจ"เกือบ"ทั้งหมด น้ำมันแพง=ค่าขนส่งแพง=สินค้าที่ขนส่งโดยยานพาหนะที่ใช้น้ำมันก็แพง ก๊าซธรรมชาติแพง=ไฟฟ้าที่ผลิตก็ต้องแพงขึ้น=ภาคครัวเรือนและธุรกิจคงมีต้นทุนท่วมขึ้นกันถ้วนหน้า นี่ยังไม่รวมสินค้าอื่นๆที่ต้องใช้น้ำมันและก๊าซอีกนะครับ ส่วนปิโตรเคมีก็โดนไปด้วยเช่นกันครับ = เงินเฟ้อระบาดยิ่งกว่าโควิดอีกครับเจ้านาย
แถมครับ เมื่อเกิดเงินเฟ้อ สิ่งที่ตามมาแทบเป็นเงาตามตัวคือออออ อัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศที่กำลังทยอยสูงขึ้นครับ
แล้วยังไงหละทีนี้ ลองนึกเล่นๆดูนะครับ ตอนดอกเบี้ยต่ำ ธุรกิจกู้เงินกันมากมายด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ แล้วถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ธุรกิจยังจ่ายหนี้คืนไม่หมดหละครับ?(ส่วนใหญ่ด้วยที่กู้เงินก้อนใหม่ไปโปะหนี้ก้อนเก่า) ก็ต้องกู้เงินใหม่ที่ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นถูกไหมครับ คราวนี้บริษัทต่างๆ ถ้าไม่เพิ่มราคาสินค้าให้แพงขึ้น ก็ต้องมากดเงินเดือนพนักงานแทนเพื่อลดต้นทุนแทน และถ้าสินค้าแพงขึ้นหรือพนักงานกินเงินเดือนอย่างเรารายได้เพิ่มน้อยลง ผลประกอบการของบริษัทยังจะดีอยู่หรือไม่ สุดท้ายจะพังเป็นโดมิโน่แน่นครับ = ข้อนี้ก็คงมีผลกับเงินเฟ้อถ้าบริษัทมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นจนต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าผลักภาระให้ผู้บริโภคครับ)
ผมว่าคำตอบแค่นี้ของคนความรู้น้อยอย่างผมน่าจะพอช่วยได้นะครับ
ทางแก้ของ ประชาชนคนเดินดินอย่างเราคงมีแค่
- อย่าตกงาน หรือ หมดหนทางหารายได้เพิ่ม
- ประหยัด
- ชดใช้หนี้ให้หมดโดยเฉพาะหนี้บ้านที่ดอกเบี้ยลอยตัว
- หยุดสร้างหนี้เพิ่ม
- ปรับตัวครับ สินค้าไหนแพงถ้าเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นที่ถูกกว่าได้คงต้องทำครับ
ขอให้โชคดีบนโลกทุนนิยมท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและเงินเฟ้อนะครับ
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ลำบากเช่นกันครับ สู้ๆครับ เป็นกำลังใจให้ครับ
โฆษณา