24 มี.ค. 2022 เวลา 07:19 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Raspberry Pi คืออะไร ? ใช้ทำอะไร ? มีประโยชน์ด้านใด? ทำอะไรได้บ้าง?
หากใครติดตามวงการเทคโนโลยีตลอดเวลา คงไม่แปลกที่จะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Raspberry Pi
Raspberry Pi คือ คอมพิวเตอร์บอร์ดจิ๋วมีประสิทธิภาพและขนาดเท่ากับบัตรหนึ่งใบ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยองค์กร "Raspberry Pi" มูลนิธิเพื่อการกุศลจากประเทศอังกฤษที่มีเป้าหมายต้องการที่จะเผยแพร่ เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ไปสู่ผู้คนทั่วโลก พวกเขามีทั้งกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และ การให้เปิดคอร์สให้ข้อมูลด้านเทคโนโลยีกับผู้คน
โดยหนึ่งในผลงานนั้นก็คือการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กอย่าง Raspberry Pi มาวางจำหน่ายสู่สายตาประชาชน ซึ่งมาพร้อมกับศักยภาพในการเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดย่อมที่มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย สามารถประยุกต์ใช้ฝึกเขียนโปรแกรมและศึกษาทักษะด้านคอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งประยุกต์มาสร้างเกม, ระบบกล้องเว็บแคม, เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือ อุปกรณ์ควบคุมฮาร์ดแวร์ และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน หรือ อุปกรณ์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things - IoTs) เป็นต้น
นอกจากนี้องค์กร Raspberry Pi ยังสร้างชุมชนอะคาเดมี่สำหรับโปรแกรมเมอร์รุ่นเยาว์ ที่มีชื่อว่า "Code Club" และ "CoderDojo" เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข่าวสารและเปิดให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้การใช้ Raspberry Pi รวมถึงฝึกทักษะด้านคอมพิวเตอร์อื่น ๆ เช่น วิธีการเขียนโค้ดทำโปรแกรมด้วย ภาษาคอมพิวเตอร์ (Programming Language) อย่าง Scratch, HTML, CSS และภาษา Python ซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์หลัก ๆ ที่รองรับใน Raspberry Pi
จุดเด่นของ Raspberry Pi ที่ทำให้มันกลายเป็นของเล่นยอดนิยมสำหรับนักประดิษฐ์ทั้งหลายก็คือ การที่มันมี พอร์ต เอนกประสงค์ หรือ GPIO (General Purpose Input Output) พอร์ตนี้สามารถนำมาประยุกต์ เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อุปกรณ์เปิดปิดในบ้านได้ และควบคุมผ่าน Raspberry Pi เช่น สวิตช์ไฟ, ทีวี, พัดลม เป็นต้น
ใช้ Raspberry Pi ทำอะไรได้บ้าง ?
เนื่องจาก Raspberry Pi เป็นคอมพิวเตอร์ แน่นอนมันย่อมทำทุกอย่างที่คอมพิวเตอร์ทำได้ เช่น
ใช้เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เพื่อดูหนัง ฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ต
ใช้เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ สำหรับเปิดเว็บไซต์ขนาดเล็ก
ใช้ทำระบบตรวจจับใบหน้า
ส่วนนอกเหนือจากที่คอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไปทำได้ก็คงเป็นเรื่องของการสื่อสาร และควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น
ระบบเปิด/ปิดหลอดไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ
ใช้ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ หรือเครื่องจักร
ใช้ทำประตูไฟฟ้า ล็อค/ปลดล็อคด้วยรีโมท หรือสั่งงานด้วยเสียง
ใช้ทำสถานีวัดอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศ
ใช้ทำระบบกล้องวงจรปิด
โฆษณา