25 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • การศึกษา
มาแชร์ทริคการอ่านหนังสือสอบไอเอลกันค่ะ
(บทความนี้เหมาะสำหรับคนที่เคยฝึกทำข้อสอบไอเอลมาก่อน สำหรับคนที่ยังไม่เคยฝึกทำข้อสอบ สามารถแชร์เก็บไว้อ่านตอนหลังได้ค่ะ)
อันนี้ต้องบอกก่อนว่า เรื่องที่จะมาแชร์ต่อไปนี้ เป็นเคล็ดลับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ รวมถึงการทำข้อสอบของตัวเอง และมีอิงวิธีจากหนังสือ The Official Cambridge Guide to IELTS (เล่มนี้แนะนำสำหรับคนที่จะสอบครั้งแรกมาก ๆ เพราะจะไกด์ให้เห็นภาพรวมข้อสอบทั้งหมด พร้อมมีตัวอย่างข้อสอบด้วย)
The Official Cambridge Guide to IELTS เล่มนี้แนะนำสำหรับคนเริ่มเตรียมตัวมาก ๆ
สำหรับข้อสอบ IELTS แบบ Academic นะคะ จะทดสอบทั้งหมด 4 ทักษะด้วยกัน คือ Listening / Reading / Writing / Speaking
สำหรับพาร์ทแรกที่ต้องเจอ คือ Listening มีทั้งหมด 40 ข้อ 30 นาที (ถ้าสอบ Paper-based test จะมีเวลาอีก 10 นาทีเพื่อเขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบ) ส่วนตัวมองว่าเป็นพาร์ทที่ทำคะแนนได้ง่ายกว่าพาร์ทอื่น ๆ ถ้าได้เตรียมตัวดี ๆ โดยตัวข้อสอบจะมีบทสนทนาให้เราฟังทั้งหมด 4 ส่วน จะเรียงความยากจากง่ายสุดที่เป็นบทสนทนาทั่วไปจนยากสุดเป็นเนื้อหาบรรยายแนววิชาการ จากที่เคยทำข้อสอบมาก็สรุปได้ประมาณนี้
1. อ่านคำสั่งแต่ละหัวข้อให้ดี เค้าจะกำหนดให้เราเลยว่าพาร์ทนี้ให้เขียน No more than 3 words หรือ One word only
2. พยายามอ่านคำถามหรือดูส่วนที่เว้นว่างให้เราตอบก่อน เพื่อที่เราจะได้พอเดาสถานการณ์คร่าว ๆ ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร ต้องตอบประมาณไหน และถ้าอันไหนเป็นช้อยส์ให้เลือก ให้วง Keyword ที่สำคัญ ๆ ไว้ เพื่อที่พอเจอคำนั้นจะได้รู้ว่าถึงคำถามข้อไหนแล้ว
3. เวลาฟัง โดยเฉพาะถ้าเป็นบทสนทนา 2 คน เวลาได้ยินเค้าพูดอะไรอย่าเพิ่งรีบตอบ เพราะข้อสอบจะชอบหลอก ให้ฟังจนแน่ใจก่อน
4. เช็คคำตอบในข้อที่ให้เราเขียนดี ๆ เช่นเติม -s -es หรือผัน Tense ต่าง ๆ รวมถึงเรายังสามารถเช็คคำตอบว่าเราเขียนตอบถูกไหมจากบริบทประโยค โดยเฉพาะพาร์ทหลัง ๆ ที่เราต้องใส่คำในประโยค เช่น If you look a site from a ____ , you reduce visitor pressure. ถ้าเค้าให้เติมแค่คำเดียว เราก็จะเห็นว่าข้างหน้าขึ้นต้นด้วย a ดังนั้นคำที่เราเติมจะต้องเป็นคำนามเอกพจน์ ที่ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยเสียงสระ ทำให้เราเลือกคำที่จะเติมได้ง่ายขึ้น
พาร์ทนี้สิ่งที่สำคัญคือการฝึกเยอะ ๆ ให้เราคุ้นกับสำเนียงและจับจังหวะเวลาฟังถูก อีกอย่างที่สำคัญคือทำเสร็จแล้วกลับมาเช็คตัวเองทุกครั้งว่าผิดพลาดที่จุดไหน และลองฟังอีกรอบพร้อมดู Tapescript ที่เค้าให้มาประกอบไปด้วย
พาร์ทต่อมา คือ Reading มีทั้งหมด 40 ข้อ 60 นาที จะเป็น 3 บทความยาว ๆ ให้อ่าน โดยส่วนตัวเวลาทำเราจะชอบทำข้อสอบจากหลังไปหน้า คือทำบทความสุดท้ายก่อน อันนี้ไม่รู้มีใครทำเหมือนกันไหมนะ เพราะจากที่เราสังเกต บทความสุดท้ายจะเป็นบทความที่ยาวและยากที่สุด ปกติเวลาทำข้อสอบยิ่งทำสมองก็จะยิ่งล้า ยิ่งมึนไปเรื่อย ๆ เราเลยใช้เวลาที่สมองยังเฟรชอยู่ทำตัวที่ยากก่อน
บทความในข้อสอบไอเอลจะเป็นบทความเชิงวิชาการ เนื้อหายากมากกก บางบทความอ่านไปแล้วแทบจะไม่เข้าใจเลยก็มี อันที่จริงเราว่าอย่าไปซีเรียสเรื่องเนื้อหาในบทความมากเกินไป อ่านให้พอรู้เรื่องคร่าว ๆ พอ เพราะเราต้องการแค่สิ่งที่โจทย์ถามเท่านั้น จากที่เคยทำข้อสอบมาก็สรุปเป็นข้อควรทำได้คร่าว ๆ ประมาณนี้
1. ทำข้อสอบจากบทความหลังสุดไปหน้า (อันนี้ส่วนตัวเราว่าเวิร์ค ใครจะลองทำดูก็ได้นะ)
2. อ่านคำถามและวง Keyword สำคัญไว้ก่อน เช่น ชื่อคน ปีในคำถาม พยายามหาให้เจอในทุกข้อ
3. ดูประเภทของคำถามว่าเค้าถามอะไร เช่น ให้เขียนคำในช่องว่างเพื่อสรุปบทความ หรือหัวข้อของแต่ละพารากราฟ หรือตอบ Yes / No / Not Given เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าต้องเน้นอ่านเจาะลึกตรงไหนหรือไม่
4. ใช้เทคนิด skimming และ scanning หลายคนได้ยินชื่อเทคนิคละอาจจะส่ายหน้า เพราะเป็นอะไรที่ได้ยินจนเบื่อมากสมัยม.ปลาย แต่จะบอกว่ามันช่วยได้เยอะจริงนะ เพราะเราไม่จำเป็นต้องอ่านเนื้อหาทั้งบทความ ถ้าเกิดเราใช้ 2 เทคนิคนี้แล้วสามารถตอบคำถามได้ทุกข้อ
โดย skimming คือการที่เราอ่านเพื่อหา main idea ในบทความนั้น เริ่มตั้งแต่อ่านหัวข้อบทความ รวมถึงการอ่านประโยคแรกและประโยคหลังของแต่ละย่อหน้า ซึ่งเป็นจุดที่ใจความสำคัญของแต่ละพารากราฟจะชอบอยู่
ส่วนเทคนิค scanning ใช้สำหรับหา Keyword ที่เจอในคำถาม พอเจอแล้วก็อ่านประโยคนั้น และประโยคที่ติดกันเพื่อหาข้อมูล
5. พยายามฝึกตามประเภทที่เราสมัครสอบ เช่น ถ้าสอบด้วยระบบคอมควรฝึกในคอมเพราะเวลาเราวง Keyword หรือไฮไลต์คำจะได้เหมือนจริง ไม่ไปสติแตกกลางห้องสอบ
สำหรับ Reading สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เราสามารถอ่านและทำข้อสอบได้เร็วขึ้น ถ้ารู้สึกว่าบทความในไอเอลยากไป อาจจะลองหาข้อสอบอื่นที่ง่ายกว่าทำก่อนก็ได้ แล้วค่อยขยับมาทำไอเอล ก่อนสอบแนะนำมากว่าให้ทำข้อสอบทุกวัน ถ้าไม่มีเวลา 1 ชม.เต็มก็สามารถทำทีละบทความแล้วจับเวลาต่อเนื่องให้ครบชั่วโมงก็ได้
พาร์ทต่อมา คือ Writing มีทั้งหมด 2 ส่วน 60 นาที พาร์ทแรกจะเป็นเขียนอธิบายสิ่งที่โจทย์ให้มา 150 คำ เช่น กราฟ ตาราง แผนภูมิ ควรใช้เวลาประมาณ 20 นาที ส่วนพาร์ท 2 เขียนบทความตามโจทย์ยาว 250 คำ ควรใช้เวลาอยู่ที่ 40 นาที สารภาพว่าเป็นพาร์ทที่เราเองก็ไม่ได้ถนัด ชีวิตประจำวันก็แทบไม่เคยเขียนอะไรยาว ๆ เป็นภาษาอังกฤษเหมือนกัน แต่ก็มีทริคที่พอจะทำให้คะแนนพาร์ทนี้ไม่ดิ่งจนฉุดคะแนน overall ส่วนอื่น ๆ เหมือนกัน โดยทริคที่จะแชร์แต่ละพาร์ทไม่เหมือนกันนะ
Writing task 1
1. พยายามคุมเวลาดี ๆ เพราะถ้าใช้เวลามากเกินไปจะทำให้มีโอกาสเขียนอีกพาร์ทไม่ทัน และจะส่งผลต่อคะแนนมาก เพราะน้ำหนักคะแนนอีกพาร์ทจะเยอะกว่า เน้นเขียนให้เรียบง่าย เร็ว และผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อเอาเวลาไปทำส่วนที่ 2 หรือบางคนก็ทำส่วนที่ 2 ก่อน อันนี้แล้วแต่ถนัดของแต่ละคนเลย
2. ก่อนเขียนจะต้องลิสต์ key feature หรือสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนจากข้อมูลที่โจทย์ให้มา 3-4 ประเด็น เช่น ถ้าเป็นกราฟก็อาจจะพูดเรื่องจุดสูงสุด ต่ำสุด รวมถึงพูดเรื่อง overall trend ว่ากราฟทั้งหมดมีแนวโน้วเพิ่มขึ้น ลดลงยังไง แล้วเวลาเขียนอธิบาย ไม่ต้องไปเขียนอธิบายทั้งหมด เพราะจะยาวเกินและไม่สำคัญ ลองจัดกลุ่มของเนื้อหาดูแล้วเวลาเขียนก็ให้เล่าพร้อมกัน
3. พยายามใช้คำในการอธิบายให้หลากหลาย เพื่อให้คนตรวจรู้ว่าเรารู้ศัพท์เยอะ (แม้ว่าเราจะท่องมาเพื่อการสอบก็ตาม 555) เช่น verb ที่ใช้อธิบายว่าเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้มีแค่ increase ยังมี rise, grow หรืออะไรอีกเยอะแยะให้ใช้ และใช้ adv หรือ adj ในการช่วยอธิบายด้วย เพื่อให้คนอ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองไปอ่านศึกษาเพิ่งเติมได้ที่ https://bit.ly/3KRi9Lp
4. ระวังเรื่อง Tense ด้วย ว่าเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต บางที่ถ้าเป็นกราฟอาจจะมีเล่าอดีตแล้วก็มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตจะเป็นยังไง ก็ต้องใช้ให้ถูกด้วย
Writing task 1 แนะนำให้ลองดูตัวอย่างเยอะ ๆ แล้วประโยคไหนที่เรารู้สึกว่าชอบก็ลองจำมาใช้โดยเปลี่ยนคำตามโจทย์ที่เราได้ สอบเขียนพาร์ทนี้เป็นรูปแบบค่อนข้างตายตัว ฝึกเขียน ฝึกหา key feature เยอะ ๆ ช่วยให้ทำข้อสอบได้เร็วและเขียนอธิบายได้ดีขึ้น
Writing task 2
1. สิ่งแรกที่สำคัญมากก่อนลงมือเขียนคือการอ่านโจทย์ให้ละเอียด แล้วอ่านประโยคสุดท้ายของคำถามดี ๆ ว่าเค้าสั่งให้เราทำอะไร เช่น
- Discuss both these views and give your own opinion เนื้อหาใน essay ก็จะต้องพูดถึงความเห็นทั้ง 2 ฝ่ายตามที่โจทย์ให้ และความเห็นของเราเอง ควรตัดสินใจเอนไปด้านใดด้านหนึ่งไปเลย เพราะจะทำให้เราสามารถอธิบายความเห็นเราได้ชัดเจน และตรงประเด็นมากกว่าการเห็นด้วยทั้ง 2 ฝ่าย
ซึ่งถ้าเราเขียนตอบไม่ตรงคำถาม ไม่ว่าเราจะเขียนดีขนาดไหน คนตรวจก็ไม่สามารถให้คะแนนในส่วนนี้สูงกว่า Band 5 ได้ เพราะฉะนั้นการอ่านโจทย์ และทำความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ
2. วางแผนก่อนการเขียนโดยเฉพาะส่วนของ Body 1, Body 2 ที่เป็นใจความหลักเราจะเขียนยังไงให้สามารถตอบโจทย์ได้ครบถ้วน โดยแต่ละ Body paragraph ก็จะต้องมี main idea และ support idea อีกอย่างน้อย 2-3 ตัวอย่าง เพื่อให้มีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งการวางแผนก่อนการเขียนสำคัญมาก โดยเฉพาะคนที่สอบแบบกระดาษ เพราะถ้าวางแผนลำดับการเขียนไม่ดี ต้องเสียเวลามานั่งลบแล้วเขียนใหม่อีก จะไม่ทันเวลาเอา
3. องค์ประกอบ Essay ต้องครบ ได้แก่
- Intro ที่จะต้องมี Thesis statement ว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
- 2-3 Body paragraphs โดยแต่ละย่อหน้าจะต้องมีเนื้อหาเป็นไปในทางเดียวกัน
- Conclusion เป็นบทสรุปจากเนื้อหาที่เขียนมาทั้งหมด และเน้นย้ำในสิ่งที่โจทย์ถาม
4. ใช้คำเชื่อมเพื่อต่อเรื่องราวให้ลื่นไหล คือมีหลายประเภท หลายตัวและหลายวิธีการใช้งานมากจริง ๆ ส่วนตัวเราเคยเรียนกับครูพี่แนน enconcept แล้วจะมีเพลงคำเชื่อมอยู่ ในเพลงจะมีตัวอย่างเลยว่าแต่ละกลุ่มใช้ในประโยคยังไง ตามด้วยประโยคหรือคำนาม เราว่ามันดีมาก ๆ เรียนมาน่าจะเกือบ 10 ปี แต่ยังติดหูและใช้งานจนถึงทุกวันนี้ ไปฟังได้ที่ https://bit.ly/3tdO4iY
พาร์ทสุดท้าย Speaking พาร์ทนี้หลังจากที่เราทำข้อสอบทั้ง 3 พาร์ทเสร็จ ก็จะมีเวลาพักเข้าห้องน้ำ ทานอาหารกลางวันประมาณนึง โดยที่เค้าจะแจ้งเราหลังสอบ Writing เสร็จว่าคิวของเราได้กี่โมง ถ้าใครได้ช่วงเย็น ๆ ก็จะมีเวลาตั้งสติและเตรียมตัวมากหน่อย
สำหรับพาร์ทนี้ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที มีทั้งหมด 3 ส่วน เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมากจริง ๆ
ส่วนตัวเราค่อนข้างไม่ถนัดพาร์ทนี้ เพราะตัวเองก็เป็นคนพูดไม่เก่ง แล้วบางคำถามตอนเราลองซ้อมตอบ ขนาดให้ตอบภาษาไทยยังอาจจะตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่โชคดีที่ตอนสอบรอบ 2 เราได้คำถามที่ค่อนข้างเข้าทาง ส่วนตัวก่อนสอบเรามีวิธีเตรียมตัวประมาณนี้
1. ซ้อมคำถามพาร์ทแรก ที่เป็นถามตอบเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวทั่วไปของเราให้เยอะ ๆ ให้พอมีไอเดียว่าถ้าเจอคำถามแบบนี้ จะตอบยังไงดี ซึ่งเรามองว่าพาร์ทนี้สำคัญต่อความมั่นใจในการตอบพาร์ทต่อ ๆ ไปด้วย ถ้าเราเริ่มได้ดี พอพาร์ทถัดไปก็จะตั้งสติได้และผ่อนคลายมากขึ้น
2. ระวังเรื่อง Tense เพราะจะเปลี่ยนไปตามคำถามว่าถามเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต แล้วยิ่งการพูดจะทำให้เรามีโอกาสพลาดได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้นเวลาฝึก จะด้วงนึกถึงเรื่องนี้ให้มาก และฝึกใช้ Tense ให้ถูก
3. อย่ากลัวผู้คุมสอบ พยายามสบตาเวลาพูดคุยเพื่อให้บทสนทนามันลื่นไหลมากขึ้น ผู้คุมสอบหลายคนที่เจอรวมถึงที่อ่านรีวิวมาก็คือใจดีมาก โดยเฉพาะตอนเราสอบพาร์ท 2 ถ้ายังไม่หมดเวลาที่เราจะต้องพูด เค้าจะทำท่าทางคอยเชียร์เราให้พูดจนจบเวลา หรือบางครั้งเวลาเราตอบอะไรไปโดยที่เราอาจจะไม่ค่อยมั่นใจ แต่พอผู้คุมสอบมีรีแอคแบบพยักหน้า หรือยิ้มให้มันจะมีกำลังใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัว!!
4. ดูตัวอย่างวิดีโอสอบพูดตาม Youtube เยอะ ๆ เค้าจะมีเลยว่าสอบพูด Band เท่าไหร่ แล้วดูลองดูว่าถ้าเราอยากได้ Band เท่านี้ ลักษณะการตอบต้องเป็นยังไง ใช้ศัพท์ ความต่อเนื่องประมาณไหน รวมถึงคอยสังเกตพวกประโยคที่เค้าใช้ในการพูดแล้วจำเอามาใช้ให้ติดปาก
สำหรับ Speaking ถ้าให้ดีที่สุดคงต้องเกิดจากการใช้จริง ลองหาเพื่อนฝึกพูดในกลุ่มพวก IELTS Speaking Partners ใน Facebook ได้ หรือถ้าจะฝึกคนเดียว แนะนำให้อัดวิดีโอหรืออัดเสียงเวลาเราพูดไว้ เพราะจะได้ย้อนกลับมาฟังคำตอบ เช็คข้อผิดพลาดของเราได้
ก็ครบทุกพาร์ทใน IELTS for Acedemic แล้ว ตอนแรกตั้งใจจะเขียนแค่ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยาวมากจริง ๆ สำหรับใครที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับคนที่กำลังเตรียมสอบนะ ใครมีอะไรอยากถามเพิ่มเติมก็คอมเม้นมาได้เลย
โฆษณา