24 มี.ค. 2022 เวลา 07:45 • ประวัติศาสตร์
วัดยางสุทธาราม กรุงเทพฯ
เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
ตั้งอยู่ในแขวงบ้านช่างหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
มีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา
ประวัติวัดเท่าที่ที่สืบค้นได้
วัดยางสุทธารามมีข้อสันนิษฐานว่ามีการสร้างขึ้น
(เมื่อปี พ.ศ. 2313) เจ้าสามกรมผู้สร้าง
โดยปรากฏข้อมูลจาก
หนังสือพงษาวดารเรื่องเรารบพม่า
ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ทรงนิพนธ์
พิมพ์คราวแรก ในงานพระราชทานเพลิงศพ
หม่อมเจ้าหญิงปลื้มจิตร ปีวอก พ.ศ.2461
เนื้อหาภายในหนังสือที่กล่าวถึงวัดยาง
"อิกพวก ๑ ช่วยกันจัดเรือรับพวกมอญซึ่งอยู่ในพระยา
ทั้ง ๒ นั้นข้ามฟากไปช่วยพระยาสุริยอภัยต่อสู้ข้าศึก
อยู่จนเช้า พวกกรมขุนอนุรักษ์สงครามสู้ไม่ได้พากัน
แตกพ่าย ส่วนกรมขุนอนุรักษ์สงครามนั้นหนีไปอยู่
ที่วัดยาง"
เนื้อหาในหนังสือบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้ง
พระยาสรรค์ก่อกบฎสมัยกรุงธนบุรี
พระยาสรรค์ได้รับพระบัญชาให้ขึ้นไปปราบกบฏซึ่ง
นำโดย ขุนสุระ, นายบุนนาค บ้านแม่ลา และ ขุนแก้ว
น้องชายของพระยาสรรค์ที่กรุงเก่า
แต่พระยาสรรค์กลับคุมทัพกบฏจากกรุงเก่าลงมา
ยังกรุงธนบุรีพร้อมกับบีบให้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ต้องเสด็จออกผนวชเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2324
บทวิเคราะห์
จากการนำข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้ถ้า
ตามเอกสารของกรมพระยาดำรงฯก็เชื่อได้ว่าวัดยาง
นั้นมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างแน่นอนส่วน
จะเก่าถึงเจ้าสามกรม(สมัยอยุธยาตอนปลาย)นั้นอาจจะ
มีหลักฐานที่ไม่หนักแน่นนักเพราะถ้าดูจากข้อมูล
บอกว่าวัดนี้สร้างเมื่อปีพศ.2313 นั้นถ้าดูจากปีพศ.แล้ว
ก็จะทราบว่าวัดสร้างหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียเอกราช
(พศ.2310) ถึง3ปีจึงทำให้หลักฐานปีสร้างไม่ตรงกับ
ความเป็นจริงในสมัยเจ้าสามกรม
ความเป็นไปได้ในช่วงเวลาการก่อตั้งวัดแบ่งออกเป็น
2แนวทางซึ่งพบอยู่หลายวัดที่มีลักษณะดังกล่าวเพราะ
ธนบุรีเป็นลักษณะหัวเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
เพราะเมืองธนบุรีเป็นปราการสำคัญทั้งทางยุทธศาสตร์
ทางการรบและการขนส่งสินค้ามาแต่โบราณ
1.วัดน่าจะถูกสร้างหลังพระเจ้ากรุงธนบุรีกอบกู้เอกราช
และย้ายเมืองมาตั้งที่กรุงธนบุรีคือหลังปีพศ.2310
2.เดิมน่าจะเป็นวัดที่สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามกรม
คือก่อนปีพศ.2310 และมาบูรณะครั้งใหญ่ในสมัย
กรุงธนบุรี
ดูจากสถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมเก่าสุดของวัดคือพระอุโบสถมหาอุต
มีประตูหน้าไม่มีประตูหลัง ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์
ซึ่งเป็นพระอุโบสถเดิมของวัดแต่มีการปฎิสังขรมาแล้ว
อย่างที่เห็นในปัจจุบันข้อสันนิษฐานเชื่อว่าลักษณะของ
พระอุโบสถวัดยางนั้นน่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบวิลันดา
เมื่อลองเปรียบเทียบจากสถาปัตยกรรมในยุคเดียวกัน
ถ้าเราลองเปรียบเทียบทางสถาปัตยกรรมจะพบว่าลักษณะอาคารพระอุโบสถวัดยางมีความคล้ายกับพระอุโบสถของวัดหลวงสุนทราราม จ.อ่างทอง เป็นอย่างมากโดยเฉพาะลักษณะรุปร่างของหน้าบัน แต่วัดยางนั้นมีการ
บูรณะอยู่หลายครั้งและเชื่อว่าน่าจะมีการบูรณะครั้งใหญ่
ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.3) จึงทำให้อาคาร
ของพระอุโบสถวัดยางได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมในยุค
ของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3)
เจดีย์วัดยาง
เจดีย์วัดยางนั้นเดิมเป็นลักษณะเจดีย์คู่ด้านหน้าพระอุโบสถลักษณะเจดีย์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองปัจจุบันเหลือเจดีย์เพียงองค์เดียวที่ฝั่งขวาพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าในส่วนของปลียอดของเจดีย์น่าจะมีการหักโค่นลงเมื่อทำการบูรณะจึงทำให้ส่วนปลียอดมีความผิดเพี้ยนไปจาก
รูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์ในสมัยอยุธยา
พระประธานในโบสถ์เก่า หรือวิหารในปัจจุบัน
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหน้าตักกว่าประมาณ 69 นิ้ว
เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่แปลกคือ นิ้วหัวแม่มือไม่จรดติดกัน นิ้วหัวแม่มือขวาจะอยู่สูงกว่าหัวแม่มือซ้าย
พระพักตร์อิ่มมีรอยยิ้มที่ประทับใจแก่ผู้มาถวายสักการบูชาหลวงพ่อ การที่จะเห็นรอยยิ้มที่ประทับใจในองค์หลวงพ่อนั้น ต้องขอให้ทุกท่านนั่งและเข้ามาให้ใกล้องค์หลวงพ่อมากที่สุด ถ้ายืนหรือนั่งอยู่ไกลจะสังเกตเห็นว่า
พระพักตร์ของหลวงพ่อจะเคร่งขรึมค่อนข้างบึ้งตึง
" หลวงพ่อ" มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น หลวงพ่อโบสถ์เก่า
หลวงพ่อดำ หรือหลวงพ่อใหญ่ ในปัจจุบันเรียกชื่อท่านว่า
" หลวงพ่อใหญ่" ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อรับรู้กันในเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดที่ห่างวัดยังไม่ค่อยมีคนทราบถึงความศักดิ์ของหลวงพ่อ ทั้งนี้ เพราะขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และไม่ได้มีการเปิดวิหาร ให้สาธุชนทั่วไป ได้เข้าถวายสักการะ ฯ
แต่เดิมบริเวณวัดเป็นที่สวนมีต้นยางมาก
จึงเรียกว่า "วัดยาง" และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม
พ.ศ. 2512ทางราชการจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น
"วัดยางสุทธาราม"
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2515
เครดิตข้อมูล
เว็ป"ธรรมะไทย" ทำเนียบวัดไทย กรุงเทพมหานคร วัดยางสุทธาราม
วิกิพีเดีย วัดยางสุทธาราม
เอกสาร หอสมุดวัชรญาณ
โฆษณา