25 มี.ค. 2022 เวลา 03:38 • ปรัชญา
คำถามนี้มีคนตอบน้อย ขอแชร์มุมมองตามความเข้าใจเพิ่มเติม ประมวลเองจากที่ฟังธรรมบ่อยๆเผื่อเป็นประโยชน์ได้บ้าง
หลวงตามหาบัวเคยพูดไว้ว่า
"ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น อย่ามาคุยอวดเราว่าเจริญปัญญา"
คิดว่าการ "แยกขันธ์" ก็สำคัญ แต่เห็นคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึง เรียกได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญาเลย
คนส่วนใหญ่จะมองสภาวะต่างๆในตัวเราเป็นรวมๆ เป็นกลุ่มก้อน จะแยกสิ่งต่างๆออกไม่ชัดเจน เช่นคำถามก่อนหน้าที่ถามเรื่อง ความคิด กับ ปัญญา เวลามองอะไรจะเห็นแบบรวมๆคล้ายๆกัน แยกไม่ออกแบบชัดเจน 'ความคิด' กับ 'ความเห็น' ก็จะมองรวมๆเป็น' ความคิดเห็น' 'อารมณ์ความรู้สึก' ก็ดูเหมือนๆกัน 'ความรู้ความเข้าใจ' จะใช้คำในการพูดคุยในความหมายรวมๆ
สำหรับการฝึกปฏิบัติสำคัญก็คือแยกสิ่งเหล่านี้ออก ที่พระท่านยกตัวอย่างบ่อยๆคือการถอดรถยนต์ออกเป็นชิ้นๆ
อีกจุดที่พระท่านเทศน์ไว้ดีมากคือในการ "แยกขันธ์" จะมีตัวนึงยืนพื้นไว้เสมอ คือ "จิตผู้รู้" แล้วอีกตัวจะเป็นขันธ์ตัวไหนก็ได้ใน 4 ตัวที่เหลือ(รูป เวทนา สัญญา สังขาร) ให้มองง่ายๆเหมือนเป็นรูปประโยค คือมี "จิตผู้รู้" เป็น ประธาน "รับรู้" เป็นกริยา และ "สิ่งที่ถูกรู้" เป็นกรรม
ในทุกสภาวะถ้าเรารู้สึกได้ว่ามี "สิ่งที่ถูกรู้ "มี "ตัวที่ไปรู้" แค่นี้คือ แยกขันธ์ ได้แล้ว
เมื่อแยกขันธ์ชำนาญ แล้วค่อยหมายรู้ลงไปอีกชั้นว่ามันไม่เที่ยง เกิดดับ บังคับไม่ได้ ถ้าเห็นถึงไตรลักษณ์ได้ ตรงนี้คือ วิปัสสนาแล้ว แต่การจะบรรลุมรรคผลก็ยังมีต่อไปอีก ไว้จะตั้งคำถามใหม่ให้หลายๆท่านช่วยกันมาแบ่งปันความรู้ ตนเองก็ยังต้องศึกษาอีกเยอะ ได้อ่านของท่านอื่นก็จะได้รู้ว่าเข้าใจเหมือนหรือต่างกันอย่างไรด้วย
โฆษณา