26 มี.ค. 2022 เวลา 08:12 • ดนตรี เพลง
[รีวิวอัลบั้ม] CRASH - Charli XCX
ป็อปพุ่งชน
[รีวิวอัลบั้ม] CRASH - Charli XCX
-ถึงว่าทำไมวกกลับมาสู่อารมณ์ tradition ก็เพราะนี่คืออัลบั้มชุดที่ 5 อันเป็นชุดสุดท้ายภายใต้ดีลค่ายหลัก Atlantic Records ที่ต้องออก 5 อัลบั้มตามสัญญา นี่คืออัลบั้มทิ้งทวนความเป็นป็อปสามัญตามคนอื่นๆของสาวคนนี้เลยก็ว่าได้ ก่อนหน้านั้นแม่นางชาร์ลีมักจะมีภาพลักษณ์ป็อปสตาร์ที่นอกจากจะแซ่บสะท้านแล้ว อิสระทางความคิดของนางก็ไปไกลกว่าคนอื่นๆ ความล้ำของนางบางทีคนส่วนใหญ่มักจะไม่เก็ตเช่นกัน นี่เป็นเหตุผลของคำถามที่ผมเบื่อที่จะตอบมากๆคือ ทำไมนางไม่ดังเท่ากับคนอื่น ก็เพราะแบบนี้ไง (อันนี้ไม่ได้ด่าแม่นางชาร์ลีนะ) แค่จะบอกว่าแม่นางชาร์ลีเป็นป็อปสตาร์อีกคนที่พยายามอย่างยิ่งยวดในการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงป็อปอยู่เสมอ
-การปล่อยอีพีอัลบั้มหรือมิกซ์เทปใดๆไม่ว่าจะเป็น Vroom Vroom, Number 1 Angel และ Pop 2 ต่างเป็นสนามทดลองความเป็น avant-grade แทบทั้งสิ้น จนนักวิจารณ์และ Angels ทั้งหลายต่างสรรเสริญเจ้าแม่เพลงแห่งอนาคตกันยกใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นสตูดิโออัลบั้มจริงๆอย่าง Charli และ how i’m feeling now ก็ยังติดนิสัยอยากทดลองแทบทั้งสิ้น จนหลายคนรู้สึกชินอัตลักษณ์ความแปลกใหม่ ตัดขาดจากกรอบอำนาจของค่ายใหญ่ไปแล้วทั้งสิ้น ชนิดที่ช่างแม่งว่าจะแมสหรือไม่แล้ว
-การกลับมาที่เป็นการทิ้งทวนค่ายเก่าใน CRASH จะบอกว่าดรอปลงกว่าเดิมหรือไม่ บอกได้ไม่เต็มปากซะทีเดียว เพราะเธอยอมที่จะละทิ้งความอยากทดลองหลุดกรอบลงไปแล้ว ยอมไหลตามธรรมเนียมค่ายเป็นหลัก โดยไม่ลืมเน้นความชอบของตัวเองเป็นสำคัญ เพียงแต่ไม่ตามใจตัวเองจนเกินไปแบบที่ผ่านมาก็เท่านั้น นี่จึงเป็นอัลบั้มที่ โอเค!!! ชั้นยอม back to basic ก็ได้ ไหนๆก็จะอินดี้แล้ว
-มันต้องมี Angels เสียงแตกอย่างแน่นอน มันจะมีคนจำพวกแอดวานซ์แล้วมาฟังอะไรย่อยง่ายลงแล้วมาบ่นด้วยความเซ็งในเชิงไม่มีความท้าทายอะไรใหม่ๆมาตกใส่หูเลย ซึ่งก็มี Angels แซะไปแล้วด้วยว่าเธอลดตัวทำเพลงป็อปคุณแม่แล้วรึไง ? ผมเป็นคนนึงที่ยอมรับเลยว่ามันต้องมีซักวันที่ศิลปินที่มักจะทำอะไรแหกกรอบจนได้รับการยอมรับในระดับนึงแล้ว กลับมาทำอะไรที่เบสิคย่อยง่ายลงบ้าง มันคือวัฎจักรที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเด็กเห่อมอยอยากทดลองได้ตลอดเวลา มันเป็นการไหลไปตามวัย
-นี่อาจจะเป็นครั้งนึงในชีวิตเลยก็ว่าได้ที่จะได้ลิ้มรสครรลองของค่ายที่ครั้งนึงเขาเหล่านั้นก็เคยคัดกรองหลายชั้นจนมาเป็นเพลงฮิตที่เราคุ้นเคยในอดีต CRASH จึงเป็นงานเพลงป็อปที่ได้กลิ่นอายความคุ้นเคยของแนวทางป็อปเมนสตรีมไม่มากก็น้อย ยังมีสิ่งที่เรายังไว้ใจแม่นางชาร์ลีได้คือ การแต่งเพลง และเซนส์ป็อปที่ยังไม่จางหายได้โดยง่าย สมกับเป็นนักร้องสาวผู้อยู่เบื้องหลังให้ศิลปินป็อปเบอร์ใหญ่หลายๆคน
-แทร็คเปิดอัลบั้มอย่าง Crash ยังคงสร้าง first impression ด้วยวลีคล้องจองในท่อนฮุก ซาวน์ดป็อปยุค 80’s เป็นการ throwback ความพังค์ในยุคอัลบั้ม Sucker ไม่ใช่แค่การย้อนไปสู่สไตล์ที่เธอโด่งดัง ยังสามารถเบรครสชาติ PC Music ทั้งหลายที่ผ่านมาจากผลงานอันมากมายได้ดียิ่งยวดด้วย (ทั้งๆที่เพลงนี้ A.G Cook ก็มีส่วนร่วมแค่นิดหน่อย) ทั้งนี้ในท่อนฮุกแอบซ่อนนัยยะให้คนคิดไปได้หลายทาง ทั้งความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวกับคนเก่า และการส่งสาส์นแบบ goodbye kiss ต่อค่ายที่สิ้นสุดดีลอัลบั้มชุดที่ 5 ด้วย ซึ่งจุดร่วมของการไม่มีอะไรจะเสียชองการทำผลงานบางอย่างเป็นการทิ้งทวน ในขณะที่ไตเติ้ลแทร็คดังกล่าวก็สะท้อนซาดิสม์ ความวายป่วงทางอารมณ์ที่ดันเกิดขึ้นต่อตัวเธอในช่วง post-breakup เช่นกัน
I'm about to crash into the water, gonna take you with me
I'm high voltage, self-destructive, end it all so legendary
Crash
-หลังจากแทร็คใส่ความปะทะครึกโครมเข้าไป pop up เป็นการเกิดใหม่ในเพลง New Shapes อันเป็นนิมิตรหมายครั้งใหม่ของการเป็นอิสระไปพร้อมๆกับ Christine and the Queens และ Caroline Polachek แขกรับเชิญที่เธอสนิทสนมมาเป็นสามประสานยืดอกกันครั้งแรก Good Ones เพลงป็อปสูตรคล้ายๆ Max Martin ทั้งๆที่โปรดิวซ์โดย Oscar Hotler เป็นซิงเกิ้ลแรกเปิด era ใหม่ที่พอบ่งบอกความ back to basic ได้เป็นอย่างดี แอบซ่อนความแสบซ่าที่คนดีๆอย่าได้ไปตกหลุมรักเชียว ปล่อยเธอไปดีกว่า
-Constant Repeat เริ่มมีลูกเล่น พอมีมนต์สะกดจิตขึ้นมาหน่อย สลับกับเพลงก่อนที่เป็นฝ่ายทิ้งเค้า เพลงนี้เธอกลายเป็นฝ่ายนกเสียเอง เข้าหาเค้า คุยกันถูกคอนึกว่าเค้าจะเก็บเธอไปคิดฝันทั้งวันทั้งคืน ที่ไหนได้เค้าคนนั้นแทบไม่ได้คิดเหมือนกันเลยด้วยซ้ำ มาถึงเพลง Beg For You ที่ได้ Rina Sawayama มาฟีทในแบบที่กลืนกินเจ๊กาก้าไปแล้วเรียบร้อย เสียงและจริตของนางโคตรเหมือน ถ้าไม่ได้ดูชื่อคนฟีทนึกว่าเชื้อเชิญเจ๊กาก้าเลยนะ เกือบจะชอบเพลงนี้แบบเทใจให้ ตั้งแต่เคมีของทั้งคู่ บีทเพลงที่เป็น eurodance ดูดีมีคลาส ไฮแฟชั่น แต่ท่อนแยกที่สองทำออกมาได้ตกม้าตายเลยฮะ This way, this way ขัด vibe อย่างแรง น่าจะปล่อยให้บีทยูโรแดนซ์ทำงานของมันไปหน่อยแบบฮุกแรก แล้วค่อยย้ำด้วยท่อนฮุกปกติอีกทีก็ได้นะ ไม่ต้องแยกเลเยอร์ขนาดนั้น jesus christ เกือบจะดีแล้วเชียว
-Move Me มู้ดเพลงอึมครึมของคนเทาๆที่ไม่รู้ตัวว่า ชั้นทิ้งเธอไปได้ไง? Baby ซิงเกิ้ลที่ 4 เป็นป็อปแดนซ์สนุกๆที่ปรับจูนให้ชิคกว่า จังหวะคุ้นเคย เกิดมาชวนเต้น TikTok อย่างเห็นได้ชัด ถ้ายกให้ลูกเล่นแพราวพราวที่สุดต้องเป็นเพลง Lightning อินโทรเพลงโคตรอีโม ชวนระลึกถึงยุค True Romance แต่การใส่ฟ้าร้องโครมๆ สปาร์คผมอย่างแรง ไม่รู้ว่ามีใครคิดเหมือนผมมั้ย ชอบการออกแบบการร้องแบบรวบคำในท่อนฮุก So tell me what you want and I'ma give it to ya ซึ่งแม่งเท่ห์มาก แบบว่าเห้ย ไม่คิดว่าจะลงล็อคอ่ะ
You struck me down like lightning, lightning
You struck me down like lightning, lightning
My stupid heart can't fight it, fight it,
So tell me what you want and I'ma give it to ya
Like lightning
Lightning
-Every Rule ผมซื้อเพลงระล่ำระลักแบบนี้มาก ถึงเนื้อหาเพลงไปทางนอกใจ คิดถึงมากจนอยากแหกกฏ ทั้งๆที่ต่างคนต่างมีแฟนอยู่แล้ว แต่ชอบความบัลลาดในมวลรวมอึมครึม เป็นความต่างจากเพลงบัลลาดทั่วๆไปที่มักจะขับเคลื่อนด้วยเปียโน อคลูสติคกีตาร์โปร่ง เพลงนี้ติดกลิ่นอิเล็กทริกส์ ซึ่งดูไม่น่าจะขับเคลื่อนอารมณ์ระล่ำระลักได้ แต่กลับทำงานได้อย่างประหลาดมาก ชอบตั้งแต่แรกฟัง
-Yuck ชื่อเพลงไม่น่าดึงดูดเลย จากประสบการณ์ที่เห็นชื่อเพลงคำอุทาน มักจะมาแนวประเดี๋ยวประด๋าว ทำเอา challenge ไปงั้นๆ ย่อยง่ายลืมง่ายพอกัน แต่เพลงนี้ผมให้ผ่านนะ พอๆกับ Baby ที่ชื่อเพลงโหลมากๆ จังหวะจะโคนชวนปรบมือ การสัมผัสคำ Yuck กับ Fuck ก็ดูเข้าที ชวนคล้อยตามได้ไม่ยาก Used To Know Me คือเพลงที่ฆ่าเวลามากสุดล่ะ ด้วยความที่ภาคดนตรี edm ทั่วไปดาษดื่นมาก ลดระดับต่ำกว่าบาร์จริงๆ กดข้าม
-ปิดท้ายด้วย Twice เพลงป็อปกรุ๊งกริ๊ง แถมชื่อเพลงก็ชื่อเดียวกับเกิร์ลกรุ๊ปเค-ป็อปด้วย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันใดๆทั้งสิ้น ในความเป็นบับเบิ้ลกัมป็อปแบ๊วๆยังคงซุกซ่อนความคิดความอ่านวิตกกังวล คล้ายๆเพลงปิดอัลบั้มที่แล้ว visions ที่กล่าวถึงอนาคตที่เฟดภาพเบลอๆ abstract กว่า ลูกเล่นจัดจ้านกว่า ผิดกับเพลงนี้ที่ฟังง่ายกว่า กลิ่นอาย teenage ดูวัยรุ่นใสๆ แต่มองโลกได้อย่างปลงมาก ราวกับ YOLO ขึ้นมาแว๊บในหัวบอกให้เราระลึกถึงชีวิตที่ไม่ได้ให้โอกาสเป็นครั้งที่สองบ่อยมาก แค่โควิดก็ให้อารมณ์โลกจะแตกสลายขึ้นทุกวัน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ปิดอัลบั้มได้บางนะ แต่ก็พอมีซัมติงมากกว่าเพลงรองสุดท้ายก็แล้วกัน
DELUXE
-สำหรับแทร็คแถมเวอร์ชั่น Deluxe ที่เพิ่งแอดเข้ามาสดๆร้อนๆ มีทั้งแทร็คที่ชอบบ้างไม่ชอบบ้างครึ่งต่อครึ่งเลยครับ แต่แฝงประเด็น self-struggle พอสมควร โดยสองแทร็คแรกจัดอยู่ในโหมดเฉยๆ เริ่มจาก Selfish Girl ซาวน์ดวูบวาบที่แอบซ่อนประเด็น self-conscious สำรวจด้านมืดตัวเองที่มักจะให้โลกหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา จนบางทีก็อยากแก้เหมือนกัน How Can I Not Know What I Need Right Now ชื่อยาวได้โล่ แต่ท่อนฮุกค่อนข้างเชยระเบิดเลยฮะ เล่นกับความคิดเซ็งโลกที่ต่อให้ผ่านแสงสีเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเติมเต็มได้เลย
-Sorry if I Hurt You เพลงที่เกือบจะได้เป็นไตเติ้ลแทร็ค เนื่องจากเดิมทีก่อนที่จะมาเป็นชื่ออัลบั้มนี้ เธอคิดจะใช้ชื่อนี้เป็นชื่ออัลบั้มอยู่เหมือนกัน แต่ก็ดีแล้วล่ะที่ตัดสินใจลงเอยที่ Crash เพราะเพลงนั้นสื่อสารได้มากกว่า จะว่าไปเพลงนี้กลับเป็นเพลงที่จัดอยู่ในหมวดฟังแล้วคลิ๊กมากกว่าในกลุ่มเพลงแถม อินโทรที่ให้บทบาทเครื่องสายได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนความละเหี่ยใจบ้าง แน่นอนว่ามันเป็นการจบความสัมพันธ์ที่ไม่สวยมากนัก ปิดท้ายด้วยเพลงจังหวะสนุกพอดึงความรู้สึกดาวน์ๆจากเพลงก่อนขึ้นมาบ้าง แปรเปลี่ยนมาเป็นการชูนิ้วกลางใส่ haters จนกลายเป็นเพลงเย้ยหยันชวนนึกถึง Nicki Minaj ในเพลง What You Think About Me เปรียบเปรยได้ซาดิสม์ เลือดตกยางออกจนภาพหน้าปกเวอร์ชั่น Deluxe ลอยขึ้นมาทันที
-เป็นอัลบั้มสั่งลาค่ายเก่าที่ยอมลดความจัดจ้านทางลูกเล่นเพียงเพื่อให้เกียรติค่ายซักนิดก่อนที่จะโบยบินอย่างอิสระ ตั้งแต่ที่ผมได้รีวิวทั้ง Pop 2 และ Charli เนี่ย ผมก็นึกไม่ออกจริงๆว่ะว่าเธอจะสรรหาความแปลกใหม่ของเพลงป็อปได้มากขนาดไหนเชียว future pop ที่เธอทำได้อย่างสุดโต่งไปแล้ว มันจะมีอะไรที่ใหม่กว่านี้อีกมั้ย เป็นภาพที่ผมนึกไม่ออกจริงๆ สำหรับ how i’m feeling now เป็นอัลบั้มโชว์เก่ง challenge ตัวเองโดยอิงบริบทล็อคดาวน์ ทุกสิ่งอย่างขับเคลื่อนด้วยออนไลน์ มันเลยกลายเป็นเสน่ห์ของไอเดียสดใหม่ ความเป็นตัวแทนอัลบั้มในยุคล็อคดาวน์โควิด-19 ในแบบที่น้อยคนจะทำ และปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่าเธอเก่งพอที่จะทำให้มัน catchy ด้วยไอเดียที่ผุดขึ้นมาในระยะเวลาเพียงไม่นาน ได้โอกาสก็ลงมือเลย
-สำหรับ Crash แล้ว คอนเซ็ปต์พอจับต้องได้ สตอรี่ที่เธอโพล่งออกมาก็ไปในทางคู่ขนานของภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในปี 1996 ที่ว่าด้วยคู่รักพิสดารที่อยากเติมเต็มชีวิตรักด้วยการซึมซับความเจ็บปวดทางอุบัติเหตุของผู้อื่น แล้วก็มีเซ็กส์ จนถลำลึกสร้างสถานการณ์อุบัติเหตุทางรถยนต์ ไล่ล่าบนท้องถนนเสียเอง (เออแบบนี้ก็มีด้วย) แน่นอนว่าเพลงของแม่นางชาร์ลีแทบจะไม่ซาดิสม์พิสดารเจ็บตัวแบบนั้น มีแค่หน้าปกอัลบั้มเท่านั้นที่ reference ถึงภาพยนตร์เรื่องนั้น แต่ด้วยความสัมพันธ์อันล้มเหลวในแบบที่ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างได้เลย คงเป็นจุดร่วมที่คล้ายกันกับหนังต้นเรื่องดังกล่าว
-ส่วนเรื่องที่เธอจงใจจะขายวิญญาณให้กับค่ายไปแล้วนั้นก็สุดแล้วแต่จะคิด แต่ที่แน่ๆ ผมมองว่านี่คือการเติมเต็มสัญญาที่น่าจะลืมได้ง่ายในภายภาคหน้าแน่ๆ ทั้ง Pop 2 และ Charli ต่างมีจุดโดดเด่นอย่างถึงที่สุด ในขณะที่ how i’m feeling now คือข้อยกเว้นด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวไป ยังดีที่แม่นางชาร์ลีกล้าสื่อสารต่อคนฟังให้ได้ทำใจกันก่อนว่า เราอาจจะไม่ได้เห็นอะไรพีคๆ แค่อยากจะลิ้มรสความเป็นเมนสตรีมก่อนจากไปก็อย่าว่ากัน ในเมื่ออยากจะทำอะไรแมสๆแล้ว นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำอะไรย่อยง่ายเพื่อปรับจูนแฟนเพลงต่างยุคอัลบั้มให้เข้าหากันก็เป็นไปได้
ผมว่าเธอกำลังหาจุดสมดุลเหล่านั้นอยู่
Top Tracks : Crash, New Shapes, Constant Repeat, Baby, Lightning, Every Rule, Yuck
Give 7/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา