28 มี.ค. 2022 เวลา 05:29 • สิ่งแวดล้อม
ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ช่วยลดโลกร้อนตามแบบฉบับ BCG Model
Cr. iStock by Getty Images, Photo by starush
เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เป็นอีกแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้น้ำมันจากการขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรใหม่ (Virgin Material) ที่เข้าสู่กระบวนการผลิต ไบโอดีเซลก็ถือเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งของเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจ และช่วยแบ่งเบาปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลจากฟอสซิล ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงหลักของภาคการขนส่ง รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยทั่วไปอีกด้วย
เราทราบกันดีว่าในปัจจุบันการผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยมีต้นทุนที่สูง อันเนื่องมาจากราคาของน้ำมันปาล์มดิบที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศมาตรการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก B7 เหลือเพียง B5 มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. ถึง 31 มี.ค. 2565 เพื่อลดต้นทุนและตรึงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ
น้ำมันปาล์มดิบถือเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งในภาคอุตสาหกรรมอาหาร และภาคขนส่งที่ผลิตเป็นน้ำมันดีเซล ซึ่งการมีความต้องการ (Demand) ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝั่งนี้ ถือเป็นข้อจำกัดทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดสรรทรัพยากรพืชที่ใช้ในการผลิตทั้งอาหารและพลังงานให้เกิดความเหมาะสมที่สุด
การผลิตไบโอดีเซลจากพืชชนิดอื่นที่ให้พลังงานโดยตรง (ไม่ได้ใช้เป็นอาหาร) กับวัสดุเหลือทิ้งทางชีวภาพ หรือของเสียทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในยุคที่ 2 จากที่ Future Perfect ได้ให้รายละเอียดไว้ในบทความก่อนหน้านั้น จึงเป็นแนวทางหนึ่ง หรือเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางเศรษฐศาสตร์ตามที่กล่าวมาได้
น้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว โดยเฉพาะน้ำมันพืชใช้แล้ว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพในการนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลด้วยเช่นกัน และในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ได้มีการขยายผลการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบยุโรป
หลาย ๆ คนที่ตามข่าวเรื่องนี้มา คงจะเคยทราบเกี่ยวกับการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วมาบ้างแล้ว แต่หลาย ๆ คนที่ยังไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน ขอย้ำว่าท่านเข้าใจถูกแล้วว่า น้ำมันพืชที่เหลือจากการทอดอาหารก้นกระทะนี่แหละครับ สามารถเอามาผลิตเป็นไบโอดีเซล เพื่อใช้เติมเข้าไปในรถยนต์ดีเซลได้ด้วย
ลองจินตนาการดูว่า ทุก ๆ วันที่เราต้องทานอาหารกันวันละ 3 มื้อโดยเฉลี่ยนั้น จะมีน้ำมันพืช หรือไขมันสัตว์ ที่เหลือทิ้งจากการประกอบอาหาร ในแต่ละครัวเรือน ในร้านอาหาร ในภัตตาคาร ที่ร้าน Street Food ข้างทาง ที่ตลาดนัด ที่ร้านกล้วยแขก ที่ร้านไก่ทอด ฯลฯ มีปริมาณมากมายมหาศาลเพียงใด เพียงแต่กระจัดกระจายอยู่ในทุกพื้นที่เท่านั้นเอง
ประกอบกับด้วยหลักสุขอนามัยแล้ว เราไม่ควรนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาใช้ทอดซ้ำ หรือแม้กระทั่งนำไปกรองให้สะอาดขึ้นเพื่อนำมาใช้ทอดใหม่ก็ดี เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค หรือเป็นสารก่อมะเร็งได้
ข้อมูลจากงานวิจัยเมื่อปี 2563 ได้ประเมินปริมาณน้ำมันพืชใช้แล้วทั่วโลก อยู่ที่ 190 ล้านตันต่อปีโดยประมาณ โดยจากผลสำรวจในฝั่งยุโรปนั้น 90% ของน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารนั้นมาจากน้ำมันพืช ซึ่งถือเป็นปริมาณที่เยอะและมีศักยภาพไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ใหม่ และไบโอดีเซลก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพ
ที่ผ่านมานั้น การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วมีสถานภาพเป็นอย่างไร มีวิธีการอย่างไรบ้างในปัจจุบัน ช่วยลดโลกร้อนได้มากเพียงใด และสเปกที่มีผลิตได้ในปัจจุบันสามารถนำมาเติมรถยนต์ดีเซลสมรรถนะสูงได้เทียบเท่ากับไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบเลยหรือไม่ บทความนี้ Future Perfect มีคำตอบมาอัพเดทและเปิดมุมคิดให้กับทุกคนครับ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Scharfsinn86
น้ำมันพืชใช้แล้ว หรือน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว ในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรปมักจะเรียกว่า Used Cooking Oil (UCO) หรือ Waste Cooking Oil (WCO) หรือ Waste Edible Oil (WEO) ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะนิยมนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซล หรืออย่างในประเทศไทยเองก็มีผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายบางรายที่เริ่มดำเนินการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2550 โดยประมาณ
การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าเราลองไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย จะพบว่ามีหลาย ๆ พื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ มีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ขึ้นมาเพื่อใช้เองภายในชุมชน โดยนำไปใช้กับเครื่องจักร เครื่องยนต์ทางการเกษตร ที่ไม่ได้ต้องการคุณสมบัติของน้ำมันที่มีสเปกสูงมากนัก
บทความนี้จึงเป็นการปัดฝุ่นจากสิ่งที่หลาย ๆ คนทราบมาก่อนหน้านี้ พร้อมทั้ง update ประเด็นหรือแนวคิดใหม่ ๆ เข้าไป เพื่อให้ประเทศไทย สามารถขยายผลการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ได้อย่างเป็นรูปธรรม
สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วในช่วงแรก ๆ นั้นก็คือเรื่องปริมาณ (Quantity) และคุณภาพ (Quality) กล่าวคือเรื่องปริมาณนั้นพิจารณาถึง ผลผลิตที่ได้ (Yield) ของไบโอดีเซล เมื่อเทียบกับปริมาณของวัตถุดิบตั้งต้น คือน้ำมันพืชใช้แล้วที่เข้าสู่กระบวนการ ยังถือว่าต่ำอยู่ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องคุณภาพ พบว่าไบโอดีเซลในยุคแรก ๆ นั้น เหมาะกับการใช้สำหรับเครื่องยนต์ทางการเกษตรมากกว่าการเติมรถยนต์ดีเซลสมรรถนะสูงที่จำหน่ายอยู่ตามสถานีบริการน้ำมันทั่วไป ยกเว้นว่าถ้านำไปผสมกับไบโอดีเซลที่ผลิตมาจากน้ำมันปาล์มดิบ ในสัดส่วนที่น้อย ก็ยังสามารถคงคุณภาพตามมาตรฐานไบโอดีเซลไว้ได้
ในปัจจุบันหากถามว่ากระบวนการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว มีวิธีใดบ้างนั้น สามารถตอบได้ในภาพใหญ่ให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ที่ใช้ในการผลิตก็คือ (1) การนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปทำปฏิกิริยาเคมี ที่เรียกว่าวิธีทรานเอสเตอริฟิเคชั่น และ (2) การนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปเผาในที่อับอากาศ หรือที่เรียกว่า วิธีไพโรไลซิส (นอกจากนี้ก็มีวิธีอื่น ๆ อีก เช่น Hydrocracking เป็นต้น)
วิธีทรานเอสเตอริฟิเคชั่น นั้นเป็นวิธีการดั้งเดิมที่นิยมใช้กันมาก และในประเทศไทยก็ใช้วิธีการนี้เป็นหลัก เป็นการนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ ประเภทเมทิล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (โดยปกติมักนิยมใช้เมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและรับประทานไม่ได้มากกว่า) โดยจะได้ผลลลัพธ์ออกมาเป็นเมทิลเอสเตอร์ หรือนั่นก็คือ ไบโอดีเซลนั่นเอง หรือเรียกอีกอย่างก็คือ B100 และได้ผลพลอยได้ออกมาเป็นกลีเซอรีน หรือกลีเซอรอล
ถ้าดูเผิน ๆ แล้วจะเห็นได้ว่ากระบวนการที่กล่าวมา ไม่ได้ซับซ้อนมาก สามารถผลิตได้เองในระดับชุมชนท้องถิ่น หรือด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านได้เลย ไม่ต้องเตรียมการอะไรกันให้มากมาย แค่มีส่วนผสมให้ครบและมีภาชนะเก็บผลิตภัณฑ์
แต่ในปัจจุบันนั้น สิ่งที่ทั่วโลกกำลังศึกษาและพัฒนากระบวนการให้ดีขึ้นในทั้งในแง่ของ "ปริมาณ" และ "คุณภาพ" ก็คือ มีการศึกษาปัจจัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตไบโอดีเซลด้วยวิธีทรานเอสเตอริฟิเคชั่น โดยปัจจัยสำคัญที่มีผล เช่น อัตราส่วนของเมทิลแอลกอฮอล์ที่ผสมเข้ากับน้ำมันพืชใช้แล้ว อุณหภูมิในการเกิดปฏิกิริยา (ควรจะอยู่ที่ประมาณ 60 องศาเซลเซียส) ตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ที่ใช้ เช่น แคลเซียมออกไซด์ จากเปลือกไข่ โปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) เถ้าแกลบ (Rice Hush Ash) เถ้าลอย (Fly Ash) โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH: โซดาไฟ) หรือด่างประเภทต่าง ๆ ที่สามารถใช้ได้ เป็นต้น รวมถึงสัดส่วนความเข้มข้นของตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใส่เข้าไปด้วย
จากการศึกษาวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab Scale) สามารถทำให้ได้อัตราผลผลิต มากกว่า 90% หมายความว่า สมมติเรามีน้ำมันพืชใช้แล้ว 100 ลิตร เมื่อนำมาผลิตไบโอดีเซล จะได้ผลผลิตออกมามากกว่า 90 ลิตร รวมถึงคุณภาพของไบโอดีเซลที่ผลิตออกมาได้นั้น เป็นไปตามมาตรฐานเกี่ยวข้องกับไบโอดีเซลอันเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ EN 14214 (ทางฝั่งยุโรป), ASTM D6751 (ทางฝั่งอเมริกา) เป็นต้น
ส่วนอีกวิธีการหนึ่งตามที่กล่าวมา ก็คือ ไพโรไลซิส นั้นจะอาศัยความร้อนในการแตกตัวของโมเลกุลน้ำมันพืชใช้แล้ว ที่มีโครงสร้างโมเลกุลใหญ่ ให้กลายเป็นโมเลกุลเทียบเท่ากับน้ำมันดีเซล โดยการนำเอาน้ำมันพืชใช้แล้ว ไปเผาในที่อับอากาศที่อุณหภูมิประมาณ 400-800 องศาเซลเซียส พร้อมด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณไม่เกินครึ่งชั่วโมง ก็จะกลั่นตัวออกมาเป็นน้ำมันไบโอดีเซลที่มีคุณลักษณะคล้ายกับน้ำมันดีเซล
วิธีการนี้เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน โดยครอบคลุมวัตถุดิบตั้งต้นที่มีความหลากหลายมากขึ้น หรือมีคุณสมบัติที่ไม่คงที่ สำหรับนำมาเข้ากระบวนการผลิตไบโอดีเซล โดยยังไม่ค่อยมีการนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab Scale มากกว่า)
สำหรับการนำไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ไปใช้งานนั้น ในประเทศไทยเองมีการควบคุมมาตรฐานของไบโอดีเซลโดยประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งอ้างอิงมาจากมาตรฐาน EN 14214 และแบ่งมาตรฐานออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ (1) มาตรฐานไบโอดีเซลสำหรับใช้ผสมกับน้ำมันดีเซล โดยหากใช้ไบโอดีเซลที่ไม่ได้คุณภาพจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องยนต์ และ (2) มาตรฐานไบโอดีเซลสำหรับเครื่องยนต์การเกษตร (ไบโอดีเซลชุมชน)
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Tsikhan Kuprevich
ตามปกติแล้วมาตรฐานไบโอดีเซลชนิดแรก ที่ใช้กับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 หรือสถานีบริการน้ำมันทั้งหลายนั้น จะมีข้อกำหนดที่เข้มข้นกว่ามาตรฐานไบโอดีเซลชนิดที่ 2 หรือ ไบโอดีเซลชุมชน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว สามารถนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อขายตามสถานีบริการน้ำมันได้ แต่ผู้ผลิตจะต้องขอรับความเห็นชอบการจำหน่ายจากกรมธุรกิจพลังงานก่อน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีความพร้อมในการผลิต และจะต้องผลิตไบโอดีเซลทีมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด
ดังนั้น หากไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้วมีคุณภาพที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือเทียบเท่าตามมาตรฐานไบโอดีเซลชนิดแรกตามที่กล่าวมา ก็จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการผสมให้มากขึ้น จนกลายเป็นสัดส่วนการผสมหลักได้เช่นกัน (ถ้ามีปริมาณของน้ำมันพืชใช้แล้วที่นำมาผลิตได้มาเพียงพอกับความต้องการของไบโอดีเซล)
ประเด็นของการลดโลกร้อน เมื่อพิจารณาถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของไบโอดีเซลที่ผลิตมาจากน้ำมันพืชใช้แล้ว เมื่อเทียบน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม จากงานวิจัยที่อ้างอิงถึงผลลัพธ์ของกระบวนการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วในแถบยุโรป พบว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้เหลือเพียงแค่ 10 gCO2 eq / MJ (ค่าเฉลี่ยโดยประมาณ) (อธิบายหน่วยวัดก็คือ กรัมของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อหน่วยพลังงานของเชื้อเพลิง 1 เมกะจูล) ซึ่งถือว่าลดลงประมาณ 90% เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม (ที่ 94 gCO2 eq / MJ โดยค่าเฉลี่ยสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลที่จำหน่ายในยุโรป)
ในขณะที่เมื่อนำไปเทียบตัวเลขกับวัฏจักรชีวิตของน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบนั้น วัฏจักรชีวิตของไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว โดยเฉลี่ยแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงประมาณ 74% เมื่อเทียบกับวัฏจักรชีวิตของน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ ที่มีค่าเฉลี่ยโดยประมาณของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 38 gCO2 eq / MJ ตลอดวัฏจักรชีวิตการผลิตที่เก็บข้อมูลในแถบยุโรป
Cr. iStock by Getty Images, Photo by sarayut
จะเห็นได้ว่าการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซลนั้น ถ้ามีกระบวนการที่ดีและเหมาะสม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในแง่มุมของราคาและต้นทุนของการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ถ้าตามหลักการโดยทั่วไปก็จะขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดทั้งเรื่องอุปสงค์และอุปทานที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอุปทาน (Supply) ที่มีประเด็นเรื่องการรวบรวมปริมาณน้ำมันพืชใช้แล้วให้ได้ในสัดส่วนการผสมในไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ถ้าเทียบกับวัตถุดิบอย่างน้ำมันปาล์มดิบซึ่งมีราคาที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ก็จะเห็นว่าการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว เพื่อเป็นกำลังเสริมที่สำคัญ ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีในระยะยาว
การประหยัดต่อการผลิตในปริมาณมาก (Economies of Scale) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้ต้นทุนจากตัววัตถุดิบที่ว่าต่ำแล้ว จะช่วยให้ลดต่ำลงได้อีก โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนในการดำเนินการ และการขนส่ง (Logistic) จากแหล่งที่รวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วไปยังโรงงานที่ผลิตไบโอดีเซล
การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ถือเป็นหนึ่งในแนวทางของการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย มาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไล่ตั้งแต่ B-Bio-economy: เศรษฐกิจชีวภาพ ก็คือ การผลิตเชื้อเพลิงจากวัสดุเหลือทิ้งทางชีวภาพ, C-Circular Economy: เศรษฐกิจหมุนเวียน ก็คือการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด จากการนำน้ำมันพืชที่เหลือทิ้งมาทำให้เกิดประโยชน์ และ G-Green Economy: เศรษฐกิจสีเขียว ก็คือ การดำเนินการเพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม หรือไบโอดีเซลจากพืชอาหาร เช่น ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
Cr. iStock by Getty Images, Photo by BsWei
หากถามถึงปริมาณน้ำมันพืชใช้แล้วซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ที่ใช้สำหรับการผลิตไบโอดีเซลนั้น ถ้าลองพิจารณาดูแล้ว มีแนวโน้มที่ควรจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ในทางกลับกัน หากมันจะลดลง มีความเป็นไปได้อยู่สองทางคือ ประชากรเราลดลง หรือไม่ก็คือ เราเลิกใช้น้ำมันทอดอาหารแล้วนั่นแหละครับ
แนวคิด Circular ที่เล่ามาในบทความนี้ จะไม่เวิร์คก็ต่อเมื่อ .. เราเลิกทานไก่ทอด หรือกล้วยทอดแล้ว นั่นล่ะครับ
ผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่ได้กดติดตามเพจ Future Perfect สามารถกดติดตามได้เลยครับ และทุกท่านสามารถ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Future Perfect ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันเรื่องราวกันได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) วิธีหลัก 2 วิธีในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว คือ ทรานเอสเตอริฟิเคชั่น และไพโรไลซิส โดยที่การควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต สามารถผลิตไบโอดีเซลได้ตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานเพื่อใช้ได้กับทั้งรถยนต์ดีเซลสมรรถนะสูง และเครื่องยนต์การเกษตร
2) การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว มีผลการวิจัยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ของกระบวนการผลิตในแถบยุโรปอยู่ที่ประมาณ 10 gCO2 eq / MJ ซึ่งถือว่าลดลงประมาณ 90% เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม และตอบโจทย์ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ
3) ในมุมมองของเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy นั้น ของเสีย (Waste) สามารถเปลี่ยนเป็นทรัพยากร (Resource) ได้เสมอ
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้
References
2. A. Mannu, S. Garroni, J. Ibanez Porras, and A. Mele, “Available Technologies and Materials for Waste Cooking Oil Recycling,” Processes, vol. 8, no. 3, p. 366, Mar. 2020, doi: 10.3390/pr8030366.
โฆษณา