28 มี.ค. 2022 เวลา 10:01 • ธุรกิจ
ธปท.กั้นรั้วแบงก์ลุย สินทรัพย์ดิจิทัล สกัดส่งผ่านความเสี่ยงถึง “ผู้ฝากเงิน”
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.
จากกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และเกิดสินทรัพย์การลงทุนประเภทใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset : DA) ที่อยู่ในความสนใจในวงกว้าง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ลงทุน รวมทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และธุรกิจการเงินที่สนใจโดดเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น
แต่หากไม่มีการดูแลหรือกำกับความเสี่ยงที่ดี อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้แนวทางเกณฑ์กำกับการลงทุนเพื่อคุมความเสี่ยงที่อาจกระทบเป็นวงกว้าง
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” ของประชาชาติธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “ภูมิทัศน์การเงินไทยยุคอนาคต” ว่า สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย และเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และภาครัฐอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
สะท้อนจากข้อมูลพบว่า คนไทยมีการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563-2564 มีการเปิดบัญชีจาก 7 แสนบัญชี เพิ่มเป็น 2.27 ล้านบัญชี เติบโตมากกว่า 200% และยังพบว่าคนไทยมีสัดส่วนถือครองคริปโตเคอร์เรนซีต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 20.1% สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 10.2% เท่านั้น
แบงก์แห่ร่วมสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกจากนี้ พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจ DA exchange 8 ราย และ ICO portal 7 ราย รวมถึงมีธนาคารพาณิชย์ และโฮลดิ้งธุรกิจการเงิน ให้ความสนใจเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับ DA เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าดิจิทัลแอสเสตมีความเสี่ยง โดยเฉพาะ DA บางประเภทที่นำไปใช้ในการเก็งกำไร มากกว่าประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันพบว่ามีคริปโตเคอร์เรนซีมากกว่า 1,500 ชนิด และบางชนิดมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่เหรียญที่ได้รับความนิยมในตลาดก็มีอายุไม่ถึง 10 ปี ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันในระยะยาวหรือไม่
ขณะเดียวกัน คริปโตยังมีราคาที่ผันผวนสูง เช่น ราคาของ Bitcoin ลดลงถึง 50% ภายในระยะเวลา 8 เดือน หรือราคาของ Ethereum ลดลง 30% จากต้นปี
ธปท.กั้นรั้วแบงก์ลงทุน DA
ทั้งนี้ DA เป็นเรื่องใหม่ และมีพลวัตนำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยงพร้อมกัน แต่แนวคิดที่ว่า “ถ้าเสี่ยงและห้ามไปเสียหมด” อาจจะไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลของ ธปท.อีกต่อไป ดังนั้น ธปท.จึงต้องแยกความเสี่ยงออกจากจุดที่เป็นกังวลมากที่สุด คือ “ธนาคารพาณิชย์” เนื่องจากรับเงินฝากของประชาชนในวงกว้าง จึงต้องเป็นสถานที่ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ โดยยังไม่ให้เข้าไปยุ่งกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง
อย่างไรก็ดี ธปท.ได้เปิดช่องในการกำกับดูแล โดยธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) หรือกลุ่มธุรกิจการเงิน (โฮลดิ้ง) ที่ต้องการเข้าไปสำรวจหรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “DA” สามารถทำได้ ภายใต้ “รั้วกั้น” ที่กำหนดเพดานการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน เพื่อจำกัดขอบเขตการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้แห่ลงทุนตามกันเพราะกลัวว่าจะตกขบวน
“ธปท.จะไม่ปิดกั้น หรือเปิดมากเกินไป แต่อยากสร้างการเรียนรู้พร้อมกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกำหนดรั้วกั้นในช่วงแรก และมีประตูเว้นไว้ให้เป็นทางออก และค่อย ๆ ขยับรั้วออกไป จนในที่สุดอาจจะไม่มีรั้ว เช่นเดียวกับเกณฑ์การกำกับเรื่องของ Fintech ที่เดิมกำหนดเพดานการลงทุน 3% ของเงินกองทุน แต่ภายหลังที่ ธปท.เห็นประโยชน์จาก Fintech ที่เข้ามาช่วยให้การบริการดีขึ้น ตอบโจทย์และลดต้นทุน และธนาคารสามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ล่าสุด ธปท.ได้ปลดราวกั้นออก หรือยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าว”
โฆษณา