4 เม.ย. 2022 เวลา 01:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ไทยได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022
เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “จับประเด็นประชาสัมพันธ์ ไทยได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณธนวัต ศิริกุล (ท่านรองเอิร์น) รองอธิบดีกรมสารนิเทศ คุณปฤณัต อภิรัตน์ (ท่านรองบี) รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คุณมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ผู้แทนสำรองสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC และคุณกวี จงกิจถาวร นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอาวุโส (สามารถรับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/VkEuR15XFjg)
ในช่วงแรก ท่านรองบีได้เล่าว่า ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคมาแล้วสองครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกในปี ๒๕๓๕ ในรูปแบบการประชุมระดับรัฐมนตรี และในปี ๒๕๔๖ ที่เป็นการประชุมระดับผู้นำ สำหรับครั้งนี้ ไทยและเอเปคต้องพบกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสเกิดขึ้นใหม่หลายด้านเช่นกัน อาทิ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเปิดโอกาสทางการค้าให้มากขึ้น
การประชุมเอเปคปีนี้ จะจัดขึ้นภายใต้ธีม “Open. Connect. Balance.” ซึ่งเป็นสามประเด็นที่ต้องการผลักดันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับคนไทยทุกคน เริ่มจาก Open (เปิดกว้าง) หมายถึง การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรีมากขึ้น ตั้งแต่มีการก่อตั้งเอเปคมีการลดอุปสรรคทางการค้าไปอย่างมาก ในปีนี้ APEC จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมเขตการค้าเสรีต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) Connect (ความเชื่อมโยง) ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจสมาชิก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
โดยระยะสั้นจะครอบคลุมการรวบรวมฐานข้อมูลการข้ามแดนของเขตเศรษฐกิจ และจัดทำระบบตรวจสอบเอกสารรับรองวัคซีนร่วมกันของสมาชิก และในระยะยาว จะเน้นการขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) และการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สุดท้าย Balance (ความสมดุล) จะมีการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุ่นเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ภาคเอกชนมีมุมมองต่อเอเปคอย่างไร? คุณมนตรี ผู้แทนสำรองสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคมองว่า FTAAP เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ด้วยความท้าทายจากการมีเขตเศรษฐกิจที่เป็นมหาอำนาจอยู่จำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ใช้เวลานานในการเจรจาตกลง จึงได้เสนอแนวคิด FTAAP minus X เพื่อให้เขตเศรษฐกิจที่มีความพร้อมเข้าร่วมได้ก่อน และยังได้เสนอแนวคิดอื่น ๆ อาทิ การให้สมาชิกของเขตการค้าเสรีอื่น อย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่เป็นสมาชิกของเขตการค้าเสรีฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของอีกฉบับ สามารถไปเป็นผู้สังเกตการณ์ของอีกฉบับได้ เพื่อเรียนรู้ทิศทาง และเพื่อให้สามารถเข้าร่วมได้เมื่อเกิดความพร้อมในที่สุด
นอกจากนี้ คุณมนตรียังมีแนวคิดผลักดัน National Digital Trade ซึ่งเป็นการนำเอกสารเกี่ยวกับการส่งออกมาไว้ในโทรศัพท์มือถือแทนกระดาษ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว
ในมิติการประชาสัมพันธ์ ท่านรองเอิร์นได้เปรียบการประชุมเอเปคเสมือนกับมหาวิทยาลัย ที่มีการเปิดการเรียนการสอนในทุก ๒๑ เขตเศรษฐกิจสมาชิกเวียนกันไป โดยปีนี้มาเปิดการสอนที่ประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา APEC ได้เผชิญกับวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดีทุกครั้งจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยในเวทีเอเปคนี้ และได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสื่อมวลชน ว่าเป็นเสมือนพระเอกที่จะนำความรู้ความเข้าใจตรงนี้ไปเผยแพร่ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม
หากถามว่า ไทยเป็นเจ้าภาพแล้วจะได้อะไร? คุณกวีตั้งคำถามกลับว่า ไทยจะเสียอะไรหากไม่ได้เข้าร่วมเอเปค เพราะหากเรารู้ว่าการไม่เข้าร่วมจะขาดโอกาสอะไรบ้าง เราถึงจะรู้ว่าเราจะได้อะไร ซึ่งถ้าหากไทยไม่เข้าร่วมเอเปค เราจะเสียทุกอย่าง เนื่องจากเอเปคพูดถึงเรื่องการค้าและการลงทุน หากไม่มีเอเปค การลงทุนของประเทศไทยจะหายหมดเลย โดยคุณกวียังได้อธิบายประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ว่าคือ ภูมิปัญญาชาวบ้านติดเทอร์โบ ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งเอาไว้อธิบายได้ทุกเรื่อง
การประชุมเอเปคครั้งนี้ ถือว่าสำคัญมากเพราะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยและอีก ๒๑ เขตเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-๑๙ และอีกปัจจัยสำคัญของการประชุม คือ ไทยตั้งใจที่จะลดความเลื่อมล้ำของสังคม ผ่านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน สร้างโอกาสให้ประชาชนไทย และเชื่อมโยงเรื่องดิจิทัล เพื่อเปิดโอกาสและนำพาเอเปคสู่ความเท่าเทียม โดยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้นำแต่ละประเทศจะได้มารวมตัว เจอหน้า พูดคุยตัวต่อตัวกันอีกครั้ง หลังจาก ๒ ปีที่สื่อสารผ่านการประชุมออนไลน์เท่านั้น ซึ่งการที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เราไม่ได้เสียอะไรเลย สิ่งต่าง ๆ ที่เราจะได้หลังจากการประชุม ถือว่าเป็นของแถมที่คุ้มค่า
มากไปกว่านั้น ประเด็นที่เป็นที่จับตามองของคนทั้งโลกตอนนี้ คือ สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับราคาน้ำมัน ซึ่งในการประชุมเอเปคก็จะหยิบวิกฤตนี้มาสร้างให้เกิดโอกาส โดยวิกฤตครั้งนี้คุณมนตรีไม่ได้เป็นกังวลเรื่องการค้า เนื่องจากวิกฤตในลักษณะนี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก คุณมนตรีได้ยกตัวอย่าง กรณีการคว่ำบาตรคิวบาที่เคยเกิดขึ้นว่าแต่ละประเทศยังสามารถหาวิธีค้าขายผ่านไปยังประเทศปานามา และหาวิธีค้าขายไปยังคิวบาได้เอง ซึ่งกรณีนี้หากเกิดการคว่ำบาตรรัสเซีย ก็จะมีประเทศตัวกลางมาค้าขายให้แทน แต่สิ่งที่คุณมนตรีเป็นห่วงก็คือด้านพลังงาน เพราะจะกระทบทุกภาคส่วนและจะกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น และหากเรื่องนี้ยื้ดเยื้อ ย่อมก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้
เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าย่อมมีราคาแพงขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของคนย่อมลดลงอย่างอัตโนมัติ และหากอุปสรรคลดลง ก็จะกระทบต่อภาคการผลิต ซึ่งในภาคอุตสาหกรรม มีวิธีเดียวที่จะกำจัดการผลิตส่วนที่เกินออก นั่นคือวิธีการส่งออก โดยภาคการส่งออกของไทยในช่วง ๖-๗ เดือนหลังมานี้ ตัวเลขการส่งออกโตกว่าร้อยละ ๑๕ โตกว่าช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-๑๙ แสดงให้เห็นว่า ศักยภาพของการส่งออกนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คุณมนตรีจึงอยากแนะนำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เตรียมศึกษาและหาวิธีที่จะส่งออกสินค้าไว้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อความพร้อมในอนาคต โดยทางเอเปคได้มีการเตรียมที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเช่นกัน
ท้ายสุดนี้ ผมขอประชาสัมพันธ์ช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ช่องทางเสนอประเด็นหรือความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเอเปค สำหรับท่านผู้อ่านและประชาชนทั่วไป ตามช่องทางด้านล่างนี้ครับ
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ https://www.mfa.go.th/
เว็บไซต์ APEC 2022 https://www.apec2022.go.th/th/main/
เฟสบุ๊ค กระทรวงการต่างประเทศ https://web.facebook.com/ThaiMFA
และขอประชาสัมพันธ์ว่า ในช่วงปลายปีนี้ กรมสารนิเทศมีแผนที่จะเปิดรับอาสาสมัครมาช่วยงานเอเปค เพื่อให้อาสาสมัครได้รับประสบการณ์ตรง และเป็นการปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเอเปค ซึ่งไทยจะต้องมาเป็นเจ้าภาพอีกใน ๒๐ ปีข้างหน้า
นายสิรภพ เดชะบุญ และ
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา