28 มี.ค. 2022 เวลา 12:32 • ไลฟ์สไตล์
ฉันทำผิดแล้วยังไง คนนั้นก็ทำผิดเหมือนกัน!
รู้จัก ‘Whataboutism’ ตรรกะวิบัติในการถกเถียง
“คนนั้นทำผิดเหมือนผม ทำไมไม่จัดการเขาบ้างล่ะ?”
“ทีตัวเธอยังทำผิด แล้วมีสิทธิ์อะไรมาห้ามฉัน”
“ถ้าคนนั้นทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?”
มั่นใจว่าหลายคนคงเคยได้ยินประโยคเหล่านี้เป็นครั้งคราว เมื่อต้องถกเถียงกับคนอื่น โดยเฉพาะเวลาที่เราอธิบายว่าสิ่งที่อีกฝ่ายกระทำนั้นผิดข้อกฎหมาย อาจสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นทั้งกายและใจ หรือใดๆ ตามแต่ที่ละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้รับมักไม่ใช่คำขอโทษขออภัย ทว่ากลับเป็นคำแก้ตัว!
ประโยคที่อ้างการกระทำผู้อื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การกระทำของตนเอง อย่าง ‘คนนั้นทำได้ ฉันก็ทำได้’ หรือ ‘ทำผิดแล้วไง อีกฝ่ายก็ผิดเหมือนกัน’ เป็นหนึ่งในตรรกะวิบัติที่ถูกเรียกว่า “Whataboutism”
บทความนี้จะพูดถึงความเป็นมาของ Whataboutism โดยสังเขป อธิบายว่าเพราะอะไรตรรกะวิบัตินี้จึงเป็นที่นิยมใช้อย่างยิ่งในปัจจุบัน และวิธีรับมือเมื่อต้องเจอกับ Whataboutism ในชีวิตประจำวัน
อะไรคือ ‘Whataboutism’
Whataboutism หรือ Whataboutery เป็นหนึ่งในตรรกะวิบัติ (Logical Fallacy) ถูกนำมาใช้ในการถกเถียงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการกระทำผิดของตนเอง มักถูกใช้เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถตอบคำถามหรือหาเหตุผลมาถกต่อได้ เลยทำการเบี่ยงประเด็นหรือ ‘เฉไฉ’ เพื่อที่ตนจะได้ไม่ต้องตอบคำถามนั้น ด้วยประโยคแนว “ทีคนนั้นล่ะ ทีพวกโน้นล่ะ ทีกลุ่มโน้นล่ะ” หรือในภาษาอังกฤษคือ “What about him/her/them?” ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Whataboutism นั่นเอง
พจนานุกรม Merriam-Webster อธิบาย Whataboutism ไว้ว่า “เป็นวิธีการตอบโต้ข้อกล่าวหาการกระทำผิดโดยอ้างว่า คนอื่นก็กระทำผิดเช่นกัน และอาจรุนแรงกว่าเสียด้วยซ้ำ”
Whataboutism คาดว่าถูกใช้ในช่วง 1970s จากปัญหาความขัดแย้งแนวคิดทางการเมืองในไอร์แลนเหนือ และเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อใดที่เขาโดนกล่าวหาว่านโยบายของเขาใช้ไม่ได้จริง หรือ นโยบายของ ‘บารัค โอบามา’ อดีตประธานาธิบดีนั้นดีกว่า ทรัมป์มักตอบโต้บนโซเชียลมีเดียประมาณว่า
“ถ้านโยบายนั้นดีจริง ทำไมเขา (โอบามา) ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อล่ะ?” หรือ “นโยบายของโอบามานั่นแหละที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาแย่ลง!”
สังเกตได้ว่าทรัมป์ไม่ได้ตอบคำถามเลยว่านโยบายของเขาแย่จริงหรือเปล่า แต่กลับชี้นิ้วไปยังนโยบายของประธานาธิบดีคนก่อนแล้วเฉไฉว่า เรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากผลงานของคนเก่าทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายของรัฐบาลเก่าอาจจะแย่จริง ก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายปัจจุบันจะดีกว่า และไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงว่า ทรัมป์ไม่ยอมชี้แจงข้อเท็จจริง แต่กำลังหาแพะเพื่อเบี่ยงประเด็นเลี่ยงไม่ตอบคำถามเท่านั้น
Whataboutism แฝงอยู่ทุกที่
แม้ Whataboutism จะถูกพบบ่อยในแวดวงการเมือง ก็ไม่ได้แปลว่าจะจำกัดการใช้อยู่แค่วงการเดียวเท่านั้น Whataboutism ยังถูกใช้โดยทั่วไปในชีวิตประจำวันและที่น่ากลัวคือ ผู้คนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังถกเถียงด้วยตรรกะวิบัติอยู่!
ลองนึกภาพว่า ตัวเราขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้าแล้วถูกแจ้งจับ การอ้างว่า “ใครๆ ก็ทำกัน ทำไมจับแค่ฉัน” ไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงว่าเราทำผิดกฎหมายเลย แม้เราจะเห็นว่าการเลือกปฏิบัติมีอยู่จริง เช่น ตำรวจเลือกจับเฉพาะคนขับจักรยานยนต์กลุ่ม A ไม่จับกลุ่ม B เป็นต้น แต่ความผิดของตำรวจและของเราเป็นความผิดคนละกระทง เราผิดที่ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ขณะที่ผู้บังคับใช้กฎหมายผิดที่เลือกปฏิบัติ ถือว่าเป็นความผิดใครความผิดมัน ไม่สามารถนำมาหักล้างกันได้
เราสามารถแก้ต่างการกระทำผิดของตนเองหรือผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่การไม่ยอมรับผิดโดยใช้ Whataboutism นี้ ไม่ใช่การถกเถียงที่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำอาจเป็นการเบี่ยงประเด็นให้ออกทะเลจนกู่ไม่กลับ การที่ฝ่ายหนึ่งกระทำผิดได้เพียงเพราะอีกฝ่ายกระทำผิดเหมือนกัน ไม่ได้สร้างความชอบธรรมในการกระทำแต่อย่างใด
ที่สำคัญ การมีตรรกะวิบัติเช่นนี้เป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก เพราะเมื่อผู้คนมองว่าการกระทำผิดสามารถทำได้ เพียงเพราะคนอื่นทำมาก่อน อาจนำไปสู่ความรุนแรงในระดับที่เป็นวงกว้างมากขึ้น
ลองนึกดูสิว่า หากเราทำร้ายผู้คนสักกลุ่มได้เพียงเพราะใครๆ ก็ทำ หรือผู้คนละเมิดกฎหมาย เพียงเพราะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ทุกคนทำ นานวันเข้าตรรกะวิบัตินี้จะฝังลงในความคิดของทุกคน จนอาจนำไปสู่การกระทำที่ส่งผลเสียระดับองค์กร ระดับประเทศ หรือลามไประดับโลก แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ
รับมือกับ Whataboutism
แม้ Whataboutism จะไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นวิธีการถกเถียงที่คนนิยมมาก เพราะการชี้นิ้วหาใครสักคนแล้วบอกว่าพวกเขาผิดด้วยนั้นเป็นเรื่องง่าย เมื่อคนอื่นหันไปสนใจเรื่องอื่น พวกเขาก็จะลืมความผิดของเราไปเอง แถมเราไม่ต้องเสียเวลาอธิบายด้วยเหตุผลใดๆ แต่ผลที่ตามมาคือปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข การกระทำผิดข้อกฎหมายและการละเมิดสิทธิต่างๆ จะถูกมองข้าม
การรับมือกับ Whataboutism ดูเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าเราเผลอโต้กลับด้วย Whataboutism เช่นเดียวกัน การถกเถียงนั้นก็จะไม่ดำเนินไปไหน เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างว่าฝั่งนั้นก็ทำ ฝั่งนี้ก็ทำ ต่างโยนตรรกะวิบัติใส่กัน ไม่ต้องพูดถึงการหาข้อสรุปเพราะไม่มีวันเกิดขึ้นแน่นอน
ถ้าอย่างนั้นเราควรทำอย่างไรดี?
สิ่งแรกที่ควรทำคือ ไม่โต้กลับด้วย Whataboutism (และตรรกะวิบัติอื่นๆ) เพื่อไม่ให้การถกเถียงและตัวเรามัวหมองไปด้วยความคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล จากนั้นค่อยๆ อธิบายว่าใครผิดเพราะอะไร ฝั่งไหนทำอะไรพลาด หรือประเด็นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และท้ายสุด คือ ยืนกรานให้อีกฝ่ายโต้กลับด้วยเหตุผลและหลักฐานที่เชื่อถือได้เท่านั้น
ในทางทฤษฎีนั้นฟังดูง่ายใช่ไหม? แต่ในทางปฏิบัติอาจยากมากๆ
เพราะต่อให้ฝั่งเราถกเถียงด้วยหลักฐานและตรรกะ หากอีกฝ่ายไม่สนใจและยังคงเถียงว่า “ทีคนนั้น... ทีกลุ่มนี้...” ต่อไป คงเป็นไปได้ยากในการหาข้อสรุป หากเราเจอสถานการณ์เช่นนี้เข้า ให้ยุติการสนทนา ถอยห่างออกมาจากคนกลุ่มนั้น และไปพักสมองพักใจดีกว่า ดูจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าเถียงกับตรรกะวิบัติแล้วไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
Whataboutism แฝงอยู่ในความคิดของผู้คนมาหลายทศวรรษ ถูกหยิบมาใช้เบี่ยงประเด็นหรือเลี่ยงความผิด เพื่อสร้างความชอบธรรมในการกระทำผิดให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง ตรรกะวิบัติเช่นนี้ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจจะส่งผลให้ผู้คนมองการละเมิดสิทธิ์และกฎหมายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และอาจนำไปสู่การกระทำที่ก่ออันตรายแก่ชีวิตและสังคมได้
เราจำต้องป้องกันไม่ให้ Whataboutism เข้ามามีอิทธิพลเหนือตรรกะ ไม่เช่นนั้นผู้คนจะเลิกสนใจกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม และหันมาอ้างความชอบธรรมให้ตัวเองในการทำตามใจ โดยไม่สนใจถึงผลกระทบต่อผู้อื่น จากการโดยเริ่มต้นง่ายๆ อย่าง “คนนั้น... คนนี้... คนโน้นก็ทำ” อาจกลายเป็นวิกฤติจริยธรรมในท้ายที่สุด
ถ้าเราปล่อยให้ตรรกะเช่นนี้เปลี่ยนความคิดของเราเพียงเรื่องเดียว ไม่นานเรื่องอื่นก็อาจจะผิดเพี้ยนไปตามกัน คนตรรกะวิบัติคนเดียวอาจไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ถ้าหลายคนรวมตัวกันเชื่อในตรรกะวิบัติ เรื่องแย่ๆ ที่เป็นไปไม่ได้ อาจเกิดขึ้นได้ในสักวัน
ดังนั้นอย่าให้เราพาตัวเองไปถึงจุดนั้นจะดีที่สุด
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
โฆษณา