30 มี.ค. 2022 เวลา 07:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
จริงหรือที่เขาว่า บิตคอยน์ไม่เคยถูกแฮ็ก?
เรามักได้ยินเรื่องการแฮ็กบิตคอยน์อยู่เป็นระยะ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับความเผอเรอของผู้ถือบิตคอยน์ที่พลาดให้ข้อมูลส่วนตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง private key และ seed phrases จนทำให้คนร้ายเข้ามาขโมยคริปโตไปได้ และก็มีการแฮ็กบิตคอยน์ที่เกิดขึ้นกับ Exchange ที่ซื้อขายคริปโต คดีใหญ่ที่โด่งดังอย่างเช่น เมาท์ก็อกซ์ (Mt.Gox) ตลาดซื้อขายบิตคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2014 ที่ถูกแฮ็กจนต้องปิดตัวลงไป
แต่ว่ากันว่า การแฮ็กตรงไปที่เครือข่ายบิตคอยน์นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเครือข่ายบิตคอยน์ถูกเข้ารหัสและบันทึกรายการบนบล็อกเชนผ่าน Node แบบกระจายศูนย์หลายหมื่น Node ทำให้การทำรายการของบิตคอยน์มีความปลอดภัยสูงมาก จนหลายคนคิดว่า ไม่เคยมีการแฮ็กที่ระบบบิตคอยน์โดยตรงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในยุคต้นของบิตคอยน์นั้น บิตคอยน์เคยถูกแฮ็กมาแล้วจริง ๆ
15 สิงหาคม 2010 หลังจากบิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นมาเพียง 1 ปี 8 เดือน เครือข่ายบิตคอยน์ก็ถูกแฮ็ก ทำลายความเชื่อว่า “ตัวบิตคอยน์เองไม่มีวันถูกแฮ็ก” ไปเรียบร้อย ช่องโหว่บนระบบบิตคอยน์ถูกค้นพบ มีบุคคลลึกลับได้ใช้ช่องโหว่บนบล็อกที่ 74,638 สร้างบิตคอยน์ขึ้นมา 184,467,440,737.09551616 หรือราวๆ 184,000 ล้านบิตคอยน์ แล้วโอนไปให้ wallet 2 หมายเลข หมายเลขละ 92.2 พันล้านบิตคอยน์
แม้ว่าในยุคนั้น ราคาบิตคอยน์ยังวิ่งอยู่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ แต่หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข บิตคอยน์จะล่มสลายแน่นอน เพราะหลักการที่มีบิตคอยน์ไม่เกิน 21 ล้านเหรียญ จะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เพราะมีบิตคอยน์เพิ่มเข้ามาในระบบจากบล็อกนั้นถึงเกือบสองแสนล้านเหรียญ สูงกว่าปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ถึง 8,784 เท่า
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ Jeff Garzik พบเหตุการณ์นี้และแจ้งกับทางชุมชนนักพัฒนาบิตคอยน์ ก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น ชุมชนบิตคอยน์นำโดย ซาโตชิ นากาโมโต้ ซึ่งในตอนนั้นยังคงไม่หายสาบสูยไป ได้ดำเนินการ ฟอร์ก (Fork) บล็อกเชน หรือเปลี่ยนสายของบล็อกเชน โดยยกเลิกบล็อกเชนสายที่เกิดรายการผิดพลาดนั้น และถอยกลับไปสร้างบล็อกเชนสายใหม่ เสมือนย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต
เหตุการณ์นี้ ถูกเรียกกันว่า “Value Overflow Incident” และเปรียบเสมือนการทำลายกฎการไม่สามารถถูกแก้ไขได้ (Immutability) ของบล็อกเชนบิตคอยน์ไป แต่เหล่านักพัฒนาบิตคอยน์จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะหากปล่อยความผิดพลาดนี้ไป บิตคอยน์ย่อมล่มสลายไปตั้งแต่วันนั้น และการแก้ไขโค้ดบิตคอยน์ในครั้งนั้นก็ทำให้ระบบมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก
แต่ข้อยกเว้นจากเหตุการณ์ก็เหมือนกับแผลเป็นบนเครือข่ายบิตคอยน์ ครั้งต่อไป หากใครมาบอกคุณว่า เครือข่ายบิตคอยน์ไม่เคยถูกแฮ็ก ไม่เคยถูกแก้ไข ขอให้ตอบกลับไปว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์ Value Overflow เมื่อสิงหาคม 2010 กันล่ะ?
#Crypto #FundamentalCrypto #Bitcoin #ValueOverflowIncident
โฆษณา