30 มี.ค. 2022 เวลา 09:08 • การศึกษา
ถ้าศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แต่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระ เจ้าหนี้จะต้องทำการยึดทรัพย์บังคับคดีภายในกี่ปี?
มีพี่คนหนึ่งมาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องหนี้สิน (สมมติว่าชื่อพี่เอก) เรื่องของเรื่องคือพี่เอกให้คนรู้จักยืมเงินไปจำนวนหนึ่งและให้ญาติของลูกหนี้คนดังกล่าวซึ่งเป็นข้าราชการมาช่วยค้ำประกันให้
แรก ๆ ลูกหนี้ก็ชำระตรงตามกำหนดดี แต่ช่วงหลังด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทำให้ลูกหนี้เริ่มผัดผ่อนขอชำระล่าช้าบ้าง และเริ่มหนักขึ้นจนถึงขนาดหยุดชำระหนี้ไปเฉย ๆ
พี่เอกเห็นท่าไม่ดีจึงได้ฟ้องลูกหนี้กับผู้ค้ำประกัน ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาให้ลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันชำระเงินคืน
คราวนี้ปัญหาที่ตามมาก็คือ แม้ศาลจะพิพากษาให้พี่เอกชนะคดีไปแล้วแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ยังคงไม่คืนเงินให้อยู่ดี
พี่เอกจึงมาขอคำปรึกษาว่าแบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง
จริง ๆ ก็อยากจะตอบไปว่า "พี่ก็สอบถามทนายความที่ฟ้องคดีให้พี่นั่นแหละว่าต้องทำยังไงต่อ” มันก็จะดูกำปั้นทุบดินไป และด้วยความที่รู้จักเป็นการส่วนตัว จึงอธิบายให้พี่เขาพอทราบขั้นตอนคร่าว ๆ บ้าง จะได้ไปคุยกับทนายความรู้เรื่อง
ปกติเวลาที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้และลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ตามที่กำหนดในคำบังคับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องบังคับคดี (ยึด อายัด ทรัพย์สินหรือสิทธิต่าง ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา) ภายใน 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ความหมายก็คือ พี่เอกจะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อขอออกหมายบังคับคดีและแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และจะต้องสืบหาทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน รถ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิการเช่า รวมถึงสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ของลูกหนี้ เช่น ค่าจ้างที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากการทำงาน (ส่วนอะไรที่ยึดได้ อะไรที่ยึดไม่ได้ หรือยึดได้เท่าไหร่ จะไม่ขอพูดถึงเพราะรายละเอียดเยอะมาก)
1
สมมติว่าพี่เอกสืบทรัพย์เจอรถยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ พี่เอกจะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เพื่อขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดรถยนต์คันดังกล่าว พี่เอกจะเดินดุ่ม ๆ ไปยึดเองไม่ได้นะ
ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้พี่เอกจะต้องทำให้ครบภายใน 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
แต่ถ้าทำไม่ครบถ้วนกระบวนท่า เช่น ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีและแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่ยังสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่พบ จึงไม่ได้แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อขอให้ออกไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้
หากเกินกำหนด 10 ปี เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อีกต่อไป (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5476/2536)
พี่เอกถามต่อว่า พี่เคยได้ยินมาว่าหากในระหว่าง 10 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน จะทำให้อายุความหยุดลงและจะเริ่มนับ 10 ปีใหม่ใช่หรือไม่
ข้อนี้ ผมไม่รู้ว่าพี่เอกไปได้ยินมาจากไหน แต่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีนั้นไม่ใช่อายุความที่ลูกหนี้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่
ดังนั้น แม้ลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วนให้พี่เอก ก็ไม่ทำให้ระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ได้ (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2548)
ทีนี้เมื่อยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
หรือถ้าหากเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้อง เช่น การอายัดค่าจ้างหรือเงินเดือนที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับ ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำสั่งอายัดและแจ้งคำสั่งนั้นให้ลูกหนี้และบุคคลภายนอก (เช่น นายจ้างของลูกหนี้) รับทราบและปฏิบัติตามคำสั่งต่อไป…
ที่ผมแนะนำพี่เอกไปนั้นเป็นขั้นตอนและวิธีการเพียงคร่าว ๆ พี่เอกควรปรึกษาและให้ทนายความที่มีความเชี่ยวชาญด้านบังคับคดีดำเนินการต่อ
เพราะการบังคับคดีนั้นมีขั้นตอนและวิธีการในทางปฏิบัติเยอะมาก จึงต้องให้ผู้มีประสบการณ์ด้านนี้ช่วยดูแลจะดีที่สุดครับ
โฆษณา