31 มี.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทุเรียนไทย กำลังเจอความท้าทาย ในปีนี้
1
รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ ประเทศไทยส่งออกทุเรียน ในมูลค่าที่มากกว่าส่งออกข้าว
หากพูดถึง “ราชาผลไม้” หรือ “ทุเรียน” นอกจากความมีเอกลักษณ์ของรสชาติและกลิ่นแล้ว
ปัจจุบัน ทุเรียนยังเป็นสินค้าเกษตรที่ส่งออกมากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย
3
ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกทุเรียนสด มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 70% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดของประเทศไทยเลยทีเดียว
1
ซึ่งก็พูดได้ว่า ทุเรียนกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล
1
ภาพรวมอุตสาหกรรมทุเรียนไทยเป็นอย่างไร
แล้วเราต้องเผชิญกับความท้าทาย อะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
ทุเรียนเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ เติบโตให้ผลได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส และเป็นพืชที่อ่อนแอ มีความทนทานต่อโรคน้อย
โดยจะเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกได้ หลังจากปลูกไปแล้ว 5-6 ปี และจะมีช่วงที่ให้ผลผลิตสูง ประมาณอายุ 10 ปีขึ้นไป โดยให้ผลผลิตราว 240 ถึง 320 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี
พันธ์ุทุเรียนที่นิยมปลูกกันในประเทศไทย เช่น พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุม และพันธุ์ก้านยาว
1
ตรงนี้เราจะเห็นได้ว่า การปลูกทุเรียนจะต้องปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม และกว่าที่จะเก็บผลผลิตได้ก็ใช้เวลานานหลายปี รวมถึงยังมีความเสี่ยงเรื่องการเกิดโรคอีกด้วย
แต่ด้วยความที่ทุเรียนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ประกอบกับความยากลำบากในการเพาะปลูก
ส่งผลให้ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรามาดูราคาของทุเรียนพันธ์ุหมอนทอง ที่เกษตรกรขายได้ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2562 ราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม
ปี 2563 ราคา 102 บาทต่อกิโลกรัม
ปี 2564 ราคา 114 บาทต่อกิโลกรัม
จะเห็นได้ว่าราคาต่อกิโลกรัม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี ซึ่งก็สอดคล้องกับพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนของประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้น
1
ปี 2561 พื้นที่เพาะปลูก 0.95 ล้านไร่
ปี 2562 พื้นที่เพาะปลูก 1.01 ล้านไร่
ปี 2563 พื้นที่เพาะปลูก 1.07 ล้านไร่
มีจังหวัดที่ปลูกมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่
- จันทบุรี 240,000 ไร่
- ชุมพร 230,000 ไร่
- ระยอง 8,000 ไร่
1
โดยทุเรียนจะให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดใน 2 ช่วง
ภาคตะวันออกจะให้ผลผลิตในช่วง เดือนเมษายน-มิถุนายน
ในขณะที่ภาคใต้จะให้ผลผลิตในช่วง เดือนกรกฎาคม-กันยายน
1
ซึ่งจะมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศราว 40% และอีก 60% เป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ
ตรงนี้จะเห็นได้ว่า ทุเรียนไทยพึ่งพาการบริโภคของต่างประเทศค่อนข้างสูง
แล้วมูลค่าการส่งออกทุเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ?
ปี 2563 มูลค่า 65,588 ล้านบาท
ปี 2564 มูลค่า 109,130 ล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 66%
ปีที่แล้ว จุดหมายปลายทางของการส่งออกทุเรียนสด ก็คือประเทศจีน ที่มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 98,322 ล้านบาท หรือ 90% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดของประเทศไทยทั้งหมด
1
เรียกได้ว่า ทิศทางของทุเรียนไทยขึ้นอยู่กับประเทศจีนเป็นหลัก
2
คำถามต่อมาคือ โอกาสการเติบโตของทุเรียนไทยในประเทศจีน มีมากน้อยแค่ไหน ?
โดยปี 2564 ประเทศจีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมด ราว 822 ล้านกิโลกรัม
โดยทุเรียน 1 ผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ยราว 3 กิโลกรัม ในขณะที่ประเทศจีนมีประชากรราว 1,400 ล้านคน แปลว่าชาวจีนมีการบริโภคทุเรียนทั้งปี ประมาณ 0.2 ผลต่อประชากร 1 คน
1
จะเห็นว่า การบริโภคทุเรียนของชาวจีนทั้งประเทศยังมีโอกาสเติบโต
ประกอบกับชื่อเสียงของทุเรียนไทยที่เป็นที่นิยมของชาวจีนอยู่แล้ว
ก็ต้องบอกว่า โอกาสของตลาด
ทุเรียนไทยในประเทศจีนก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
1
แต่ในปีนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นปีที่มีความท้าทายรออยู่ สำหรับทุเรียนไทย
อย่างที่เรารู้กันว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19
ประเทศจีนก็ได้ใช้มาตรการที่เรียกว่า “Zero Covid”
ซึ่งเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีน
โดยทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีน จะต้องผ่านด่านการนำเข้าที่มีมาตรการเข้มงวดสูง ซึ่งจะมีการตรวจการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR โดยจะใช้เวลาตรวจสอบนานหลายชั่วโมง
1
และถ้าเกิดมีการตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด 19 ก็จะถูกทำลายทิ้งทันที รวมถึงผู้ที่ส่งออกจะต้องถูกยึดใบอนุญาตอีกด้วย
หลังจากนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ประเทศจีนจะทำการปิดด่าน
โดยจะไม่มีการแจ้งกำหนดการเปิดด่านครั้งต่อไปที่แน่นอน
 
บวกกับในประเทศไทยเอง ก็จะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของทุเรียนในเดือนเมษายน และจะมีผลผลิตทุเรียนทยอยออกมามากขึ้น จนถึงเดือนกันยายน
โดยมีตัวเลขคาดการณ์ผลผลิต เฉพาะภาคตะวันออกของปี 2565
อยู่ที่ 740,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนสูงถึงเกือบ 50% เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้เอง ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหา “คอขวด” ก่อให้เกิดความล่าช้าที่หน้าด่านของประเทศจีน ซึ่งเป็นปลายทางของทุเรียนไทย เป็นไปได้ว่าจะทำให้ผลผลิตตกค้างที่ด่านจนเกิดการเน่าเสีย สร้างความเสียหายได้
ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังความขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า จากการที่ตู้ขนส่งไปตกค้างที่ด่านขาเข้าประเทศจีน เช่นกัน
2
ทั้งหมดนี้ ก็อาจส่งผลกระทบไปยังผลผลิตทุเรียนในชุดหลัง ที่รอการระบายสู่ตลาดจนอาจเน่าเสีย สร้างความเสียหายได้ จนนำไปสู่การสูญเสียรายได้เข้าประเทศในที่สุด
ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าปัญหาดังกล่าว จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรือกินระยะเวลายาวนาน
สุดท้ายแล้ว พื้นที่การเติบโตของทุเรียนไทยในประเทศจีนก็นับว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจ
แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น เราจะทำอย่างไรให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น
ทุเรียนไทยเองก็ไปพึ่งพาตลาดจีนสูงมากเกินไป
ก็ถือเป็นอีกโจทย์สำคัญ ที่เราควรหาตลาดใหม่ เพื่อการกระจายความเสี่ยง
และรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันในลักษณะนี้เอาไว้ด้วย
3
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเกษตรกรไทย นั่นเอง
โฆษณา