31 มี.ค. 2022 เวลา 06:47 • ไลฟ์สไตล์
งานออฟชอร์คืออะไร มันน่าสนใจมั้ย?? (EP.2)
วันนี้มาต่อกันเรื่องของงานออฟชอร์ที่เคยเกริ่นให้ฟังกันไปบ้างแล้วนะครับ ซึ่งผมคงจะขอเล่าให้ฟังได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ได้มากสักหน่อยและจะเล่าแบบชาวบ้านๆให้เข้าใจกันไม่เน้นข้อมูลเชิงลึกหรือสาระเเน่นๆสักเท่าไหร่ ส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้องกันผมจะพยายามหาข้อมูลมาเสริมให้ได้รู้กันไปเรื่อยๆนะครับ
งานแท่นน้ำมันกลางทะเล หรือถ้าจะเรียกให้ดูอินเตอร์ฯสักหน่อยก็ Offshore Oil&Gas โดยปกติทั่วไปแล้วจะเเบ่งเป็นส่วนการทำงานหลักๆอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนเเรกนั้นคือส่วนของการสำรวจ ซึ่งการสำรวจหาเเหล่งน้ำมันกลางทะเลนั้นโดยส่วนมากจะใช้เรือสำรวจทำการส่งคลื่นสัญญาณลงไปเพื่อให้คลื่นสะท้อนกลับมาเเล้วนำค่าที่ได้มาวิเคราะห์ลักษณะความลึกของพิ้นผิวบริเวณนั้นซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับโซนาร์และการหาตำแหน่งของวัตถุแบบที่เรารู้จักกัน
และเมื่อสำรวจได้ข้อมูลมาแล้วก็จะนำไปวิเคราะห์เเหล่งน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติจนพิสูจน์พบได้แล้ว ก็จะมีการนำเเท่นเจาะ หรือ Drilling Rig เข้าพื้นที่เพื่อทำการเจาะหาตัวอย่างของชั้นดินและหินใต้พื้นผิวบริเวณนั้นมาประเมินขนาดพื้นที่และปริมาณของทรัพยากรในเเหล่งที่ทำการสำรวจ โดยต้องใช้เวลานานพอสมควรสำหรับขั้นตอนนี้เพราะต้องไล่เจาะแบบครอบคลุมทุกทิศทางเพื่อให้ทราบขนาดทั้งเเนวตั้งและเเนวนอนที่เเม่นยำเพื่อที่จะได้คำนวนได้ว่าเเหล่งนั้นๆ กว้างใหญ่ขนาดไหน มีน้ำมันดิบ มีก๊าซมากพอหรือไม่เพื่อนำมาตัดสินใจในการลงทุนต่อไป
คราวนี้มาต่อกันในส่วนที่สองคือส่วนการผลิต โดยเมื่อตัดสินใจได้เเล้วว่ามันคุ้มค่าต่อการลงทุนเราก็จะใช้แท่นเจาะ หรือ Drilling Rig ทำการเจาะลงไปเพื่อสร้างหลุมผลิตขึ้นมาตามจำนวนที่วิศวกรได้ออกแบบไว้ตามการคำนวนว่าสามารถมีได้กี่หลุมผลิตและต้องเจาะที่ความลึกขนาดไหนในแต่ละหลุม ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีการติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพื่อรองรับการเปิดหลุมผลิตตามมาเมื่อทำการเจาะเสร็จ
หลังจากที่เจาะและติดตั้งแท่นหลุมผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้เริ่มทำการผลิตหรือภาษาคนทำงานจะเรียกสั้นๆกันว่าเปิดหลุม (แปลกดีเหมือนกันที่ไม่นิยมเรียกเปิดบ่อน้ำมัน) โดยแท่นหลุมผลิตนี้มีอยู่มากมายหลายร้อยแท่นในทะเลอ่าวไทย แบ่งกันตามแหล่งน้ำมันในชื่อต่างๆและเเยกตามเจ้าของสัมปทานเเหล่งด้วยครับ และในแต่ละเเหล่งที่มีหลุมผลิตเยอะๆนั้นก็จะมีแท่นผลิตกลาง หรือ CPP (Central Processing Platform) ซึ่งเป็นแท่นขนาดใหญ่ที่ติดตั้งกระบวนการเเยกน้ำมันดิบ ก๊าซ และน้ำใต้ดินที่ปะปนมากับน้ำมันดิบออกจากกัน
หลังจากที่แยกแต่ละอย่างออกจากกันเรียบร้อยแล้วในส่วนของก๊าซก็จะอัดลงท่อขนาดใหญ่ใต้ทะเลไปขึ้นโรงเเยกก๊าซที่บนฝั่งคือ โรงแยกก๊าซมาบตาพุด จ.ระยอง และ โรงไฟฟ้า ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ต่อไป ส่วนน้ำมันดิบก็จะอัดลงท่อส่งไปให้เรือกักเก็บน้ำมัน (FSO) หรือเรียกกันสั้นๆว่าเเท็งเกอร์ และส่วนสุดท้ายคือน้ำใต้ดินที่ปะปนมากับน้ำมันดิบก็จะทำการอัดย้อนกลับลงไปใต้พื้นดินผ่านทางหลุมที่เจาะไว้หรือหลุมผลิตเก่าที่ไม่มีน้ำมันให้ผลิตอีกแล้ว
ตอนนี้ค่อนข้างยาวสักหน่อยเพื่อให้เข้าใจกันตั้งแต่ต้นจนจบรวดเดียวกันไปเลย ถ้าพี่ๆเพื่อนๆท่านใดมีข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพิ่มเติมก็บอกกล่าวกันได้นะครับ เพราะผมเองก้ไม่ได้รู้ทั้งหมดและเเม่นยำในทุกรายละเอียด อาศัยความรู้ความเข้าใจจากการทำงานที่ผ่านมาเเค่นั้น ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังแบบเเยกละเอียดในแต่ละส่วนของแท่นหลุมผลิต แท่นผลิตกลาง และการเดินทางไปทำงานหรือความเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไรกันนะครับ ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ
โฆษณา