31 มี.ค. 2022 เวลา 11:27 • ประวัติศาสตร์
ประดิษฐกรรมของ “โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)” ที่ช่วยให้ “ติดต่อกับวิญญาณ”
“โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)” เป็นที่รู้จักในฐานะของนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่สุดคนหนึ่ง และมีผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรกว่า 1,093 ชิ้น
หากแต่ผลงานประดิษฐ์ของเอดิสัน ก็ไม่ใช่ว่าจะยอดเยี่ยมหรือได้รับการยอมรับทุกชิ้น บางอย่างก็อาจจะทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมา
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่โทรศัพท์เริ่มจะออกสู่สาธารณชน เอดิสันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ผู้คนน่าจะอยากคุยกับบุคคลที่เป็นที่รักซึ่งได้จากไปแล้ว เสียชีวิตไปแล้ว
ไอเดียนี้อาจจะฟังดูบ้าและไม่น่าเชื่อ แต่ก็ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Scientific America เมื่อปีค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ของเอดิสัน
โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)
พิธีกรถามเอดิสันว่า หลังจากประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง เอดิสันวางแผนจะประดิษฐ์อะไรต่อไป ซึ่งคำตอบของเอดิสันก็คือ
“เป็นเวลาซักพักหนึ่งแล้วที่ผมกำลังสร้างเครื่องมือชนิดหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารกับคนตายไปแล้วได้”
เอดิสันนั้น เป็นที่รู้จักในฐานะของนักประดิษฐ์ผู้บุกเบิกการสร้างประดิษฐกรรมที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน โดยชิ้นที่ทำให้เขาโด่งดังที่สุด ก็คือหลอดไฟ
เมื่อรวมกับผลงานหลายๆ ชิ้นของเอดิสัน ทำให้เอดิสันนั้นมีชื่อเสียงมาก เป็นที่ชื่นชมของผู้คน และก็แทบไม่มีใครสงสัยในความสามารถของเขา
หากแต่ไอเดียที่จะสร้างเครื่องมือที่จะพูดคุยกับคนตายไปแล้วนั้น ก็เป็นไอเดียที่ดูจะหลุดโลกเกินไป แม้แต่แฟนพันธุ์แท้หรือผู้สนับสนุนหลักของเอดิสันก็ลังเลและสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้จริงหรือ
แต่จากการตรวจสอบในคลังของเอดิสัน ซึ่งเป็นที่เก็บแบบแปลนสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของเขา กลับไม่พบแบบแปลนของเครื่องมือชิ้นนี้เลย
เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่า เป็นไปได้ว่าหลังจากใช้เวลาค้นคว้าไปซักพัก เอดิสันจึงตระหนักได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะสื่อสารกับคนตาย จึงเทสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้
ในบทสัมภาษณ์อีกฉบับหนึ่งของเอดิสัน เอดิสันได้กล่าวว่า
“ผมกำลังคิดถึงการสร้างเครื่องมือที่จะทำให้ผู้คนสื่อสารกับผู้ที่จากไปแล้ว ผมไม่เชื่อว่าบุคลิกลักษณะของผู้ที่จากไปจะเหือดหายไปยังอีกโลกหนึ่ง”
“แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างเครื่องมือที่จะเป็นช่องทางในการส่งข้อความถึงคนตาย”
“นี่จะเป็นวิธีในการสื่อสารกับคนตายที่ดีกว่าการใช้กระดานวีจาหรือการเข้าทรง”
การที่เอดิสันพูดถึงกระดานวีจาและการเข้าทรง แสดงให้เห็นว่าเอดิสันอาจจะเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ เชื่อในเรื่องการติดต่อสื่อสารกับคนที่ตายไปแล้ว และสิ่งประดิษฐ์ของเขาก็จะช่วยให้การสื่อสารกับคนตาย เป็นไปได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
แต่ถึงแม้เอดิสันจะเชื่อในเรื่องของวิญญาณ แต่ผู้คนและสื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ และคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เอดิสันคิดขึ้นมาหลอกขายเพื่อทำเงินให้ตัวเองเท่านั้น
ในฐานะของนักประดิษฐ์ชื่อดัง คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าเอดิสันน่าจะเชื่อในเรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อในเรื่องวิญญาณ และนักประวัติศาสตร์บางรายก็คิดว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เอดิสันสร้างขึ้นเพียงเพื่อหาประโยชน์จากผู้ที่สูญเสียบุคคลที่เป็นที่รักไปในสงครามโลกครั้งที่ 1
กระแสต่อว่าเหล่านี้ได้กระพือแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภาพลักษณ์ของเอดิสันตกลง แม้แต่คนที่ใกล้ชิดเอดิสันหลายๆ คน ก็กล่าวว่าอันที่จริง เอดิสันไม่ใช่คนที่เชื่อเรื่องผีหรือวิญญาณ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีข่าวลือว่าตัวต้นแบบของเครื่องมือชิ้นนี้ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และก็มีเศรษฐีรายหนึ่งได้ซื้อไปแล้ว โดยเข้าใจว่านั่นคือเครื่องเล่นแผ่นเสียง
ภายหลังจากที่เอดิสันเสียชีวิต เศรษฐีที่ซื้อไปได้ลองทดลองเปิดเครื่องนี้ดู และได้กล่าวอ้างว่าตนได้ยินเสียงของเอดิสันจริงๆ
เรื่องราวนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก หากแต่ในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) จิตรกรชาวสวีเดนที่ชื่อ “ฟรีดิช เจอร์เกนสัน (Friedrich Jurgenson)” ได้ทำการค้นคว้าถึงวิธีการติดต่อกับวิญญาณ
ฟรีดิช เจอร์เกนสัน (Friedrich Jurgenson)
เจอร์เกนสันได้ศึกษางานของเอดิสัน รวมถึงงานอื่นๆ ในอดีตของผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ และได้ข้อสรุปว่า วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตสามารถพูดได้ผ่านเสียงสีขาว (White Noise) คือเสียงที่คงที่ สม่ำเสมอ อยู่ในช่วงความถี่ปกติ และการอัดเสียงวิญญาณ ก็สามารถเปิดฟังได้ด้วยการเล่นเทปกลับหลัง
1
นี่ก็เป็นเกร็ดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเอดิสันที่อาจจะเชื่อได้ยาก หากแต่ก็ยังเป็นที่สนใจจนถึงทุกวันนี้
โฆษณา