1 เม.ย. 2022 เวลา 11:01 • สุขภาพ
"4 เทคนิคการรับฟัง" ที่จะช่วยให้ผู้พูดเปิดใจได้มากยิ่งขึ้น
ต่อจากบทความก่อนหน้านี้ที่ผมได้เล่าถึงทักษะการรับฟังไป
ว่ามันคืออะไร ดียังไง และทำอย่างไรได้บ้างแบบคร่าว ๆ
ในบทความนี้ผมก็จะมาเสริม "เทคนิคการรับฟัง 4 เทคนิคที่จะช่วยให้ผู้พูดเปิดใจได้มากยิ่งขึ้น" เชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้แน่นอนถ้าตั้งใจจะฝึกฝนกัน เราไปดูกันเลยฮะ
1."สบตาผู้พูด" หรือการมี Eye Contact 👁‍🗨
สายตาเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความตั้งใจ การสบตาผู้พูดในระดับที่พอเหมาะไม่มากเกินไปจนถึงขั้นจ้องเขม็งหรือน้อยเกินไปแบบหลบสายตากัน
ก็จะเป็นการสื่อสารผ่านทางสายตาไปว่า "เรากำลังมองเธออยู่นะ" "เรากำลังตั้งใจฟังเธออยู่" และ "เรายอมรับในตัวเธอ" ผู้พูดก็จะเปิดใจและพูดออกมาได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น
หรือถ้าใครไม่ถนัดสบตาหรือไม่กล้าสบตากับคนคนนั้นตรง ๆ ด้วยเพราะการเขินหรือเกร็ง ก็ให้เริ่มจากการมองไปที่หว่างคิ้วหรือสันดั้งของคนคนนั้นก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ สบตาเขาเป็นระยะ ก็จะช่วยลดอาการเขินเกร็งจากการสบตาลงไปได้บ้าง
และที่สำคัญในระหว่างการฟังไม่ควรก้มหน้าก้มตาลงไปจดโน๊ต เขียนบันทึก หรือกระทำการใด ๆ ที่แสดงออกถึงความไม่ตั้งใจฟังบทสนทนา ไม่ได้อยู่กับคนตรงหน้า ถ้าอยากจะจดให้ไปจดหลังจบบทสนทนาแล้วทีเดียวก็ได้
การจดหรือการทำสิ่งอื่นไปด้วยในระหว่างการพูดคุยจะทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่พูดพูดสื่ออกมาได้ไม่เต็มที่ หูเราอาจจะฟังอยู่ก็จริง แต่มันจะเป็นเพียงเสียงที่ลอยผ่านทะลุหูเราไป เราจะไม่รับรู้ถึงความรู้สึก ท่าทาง หรือบริบทโดยรวม ณ ขณะนั้น ได้เท่ากับการเปิดตาและเปิดใจฟังไปด้วย
2."พยักหน้าและรับคำ"🙂
การพยักหน้าเป็นครั้งคราวในขณะที่อีกฝ่ายพูดจะช่วยสร้างจังหวะในการพูด
ช่วยให้อีกฝ่ายพูดออกมาได้ง่ายขึ้น และยังทำให้อีกฝ่ายรับรู้ได้ว่า
"เขาสนใจฟังเราอยู่" "เขากำลังยอมรับในตัวเรา"
แต่ก็ไม่ใช่ให้เราพยักหน้าไปงั้น ๆ อ่าฮะ ๆ แบบผ่าน ๆ หรือพยักหน้าแบบรัว ๆ แรง ๆ เหมือนตอนฟังเพลงร็อกหรือเพลง EDM แต่ให้เราพยักหน้าช้า ๆ และพยักหน้าแบบหงึดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เพื่อคอยปรับจังหวะในการพูดให้สมูทมากยิ่งขึ้น
3."พูดซ้ำหรือพูดทวนในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด"😃
เป็นการแสดงออกอีกหนึ่งอย่างว่า "เรากำลังตั้งใจฟังเธออยู่นะ"
นอกจากนี้การพูดซ้ำหรือพูดทวนในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด จะช่วยให้เราเรียบเรียงเรื่องราวที่เรากำลังพูดอยู่ว่าเราเข้าใจตรงกันมั้ย ตอนนี้เรากำลังไปในทิศทางเดียวกันอยู่รึเปล่า และยังทำให้ผู้พูดได้คิดถึงคำพูดนั้นอย่างลึกซึ้ง ช่วยกระตุ้นให้ผู้พูดค้นพบอะไรบางอย่างขึ้นมาได้
4."องศาในการนั่ง"🪑
นอกจากการสบตา การพยักหน้า และการทวนซ้ำในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูดแล้ว
ลักษะท่าทางรวมถึงองศาในการนั่งเองก็สำคัญเช่นกัน
การนั่งเฉียงจากกันประมาณ 45 องศา และเว้นระยะห่างระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังอย่างพอประมาณไม่ต้องถึงขั้นนั่งเอาเข่าชนกันหรือห่างกันจนได้ยินกันไม่ชัด
จะช่วยลดความอึดอัดจากการเผชิญหน้าและสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้พูดได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการรับฟังหรือการให้คำปรึกษาอื่น ๆ อีกเยอะมาก
ตอนผมเรียนคือมีให้อ่านได้เป็นเล่ม
แต่ในบทความนี้ผมเลือกมา 4 เทคนิคที่คิดเพื่อน ๆ สามารถนำไปทำตามและฝึกฝนเองได้กับในทุกสถานการณ์ไม่ใช่แค่การพูดคุยปรึกษาปัญหาทุกข์ใจ หรือเรื่องเศ้ราเหงาหงอยเพียงเท่านั้น เรื่องราวสุขใจประทับใจเองก็ใช้ได้เช่นกัน
"หวังว่าทุกคนจะตั้งใจเป็นผู้ฟังที่ดีกันนะครับ"
ขอบคุณที่เปิดใจอ่านบทความนี้จนจบ
"Just take a baby step." 👶🏻 By #มนุดปอ #manudpor
#productivity #psychology #จิตวิทยา #พัฒนาตนเอง #selfdevelopment #selfgrowth #listening #communication #relationships | 038/2022 (มนุดปอ Ep.78)
👨🏻‍🏫อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
📙หนังสือ
- The Power of OUTPUT "ศิลปะของการปล่อยของ" | Shion Kabasawa
- The Power of Input "ศิลปะของการเลือก รับ รู้" | Shion Kabasawa
📄บทความ
- "แค่เล่าก็เบาลง แค่ได้ปรึกษาใครซักคนก็เริ่มเห็นหนทาง" | มนุดปอ Ep.76
- "ฟัง" สิ่งที่เขาอยากพูด ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากฟัง | มนุดปอ Ep.77
โฆษณา