2 เม.ย. 2022 เวลา 02:48 • อสังหาริมทรัพย์
ตอกเสาเข็มทำให้บ้านข้างเคียงเสียหาย
ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบหรือไม่ ??
กรณีการตอกเสาเข็มทำให้บ้านข้างเคียงเสียหายนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งในวงการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อมีคดีมาถึงชั้นศาล ศาลใช้เงื่อนไขหลายอย่างมาพิจารณาประกอบในการพิจารณาว่าฝ่ายใดต้องรับผิดบ้าง โดยหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือกฎหมายเรื่องละเมิดทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และเมื่อเป็นสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของแล้ว ต้องพิจารณาถึง มาตรา 428 ด้วย
“มาตรา 428 ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”
ความรับผิดของผู้ว่าจ้างที่ต้องรับผิดร่วมกับผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดตามมาตรา 428 นี้เกิดขึ้นในหลายกรณี โดยแตกต่างไปตามข้อเท็จจริง คดีที่แอดมิดนำมาถ่ายทอดวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วย นั้นคือการที่ผู้ว่าจ้างใช้วิศวกรไปควบคุมดูแลงานของผู้รับจ้างในการตอกเสาเข็มนั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1942/2544
แม้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 6 และ 7 ตอกเสาเข็มในการก่อสร้างภัตตาคาร แต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปล่อยให้จำเลยที่ 6 และ 7 ตอกเสาเข็มไปตามแบบแปลนโดยลำพัง จำเลยที่ 1 ให้ ก. เป็นวิศวกรควบคุมดูแลการตอกเสาเข็มทั้งหมด ก. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อ ก. เห็นแล้วว่าการตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 6 และ 7 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่มิได้สั่งห้ามหรือให้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเพื่อมิให้โจทก์ต้องเสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วย
นอกจากข้อเท็จจริงทำนองนี้แล้วผู้ว่าจ้างควรต้องใช้ความระมัดระวังในอีกหลายกรณี และต้องไปคิดว่าจ้างผู้รับจ้างแล้วตนจะพ้นผิดไปเลย ซึ่งในโอกาสต่อไปแอดมินจะนำคดีอื่น ๆ ที่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดมานำเสนอเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อระมัดระวัง
โฆษณา