3 เม.ย. 2022 เวลา 04:31 • สุขภาพ
คุณเป็นโรคกลัวที่แคบหรือเปล่า?
คุณรู้สึกยังไงเมื่อหากต้องอยู่ในห้องแคบๆ หรือเวลาอยู่ในลิฟต์ ในอุโมงค์ ห้องน้ำรถไฟหรือเครื่องบิน ห้องใต้ดิน หรือที่แคบๆ รู้สึกแค่ไม่ชอบ หรือแค่ไม่สบายตัวเฉยๆ หรือรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ทั่วท้อง จิตตก ปวดหัวและเป็นกังวล ถ้าคุณมีความรู้สึกแบบหลัง คุณอาจจะเป็นโรคกลัวที่แคบแล้วแหละ
โรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia)  คือความรู้สึกอึดอัด และวิตกกังวลผิดปกติของบุคคล เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่ปิดซึ่งเป็นพื้นที่จำกัด หรือพื้นที่แคบ ๆ และจะรู้สึกมากถ้าต้องอยู่คนเดียว อาการที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น หายใจไม่สะดวก รู้สึกไม่สบายใจ เป็นกังวล เหงื่อออกเยอะกว่าปกติ หัวใจเต้นแรง ปวดหัว ตัวสั่น ปั่นป่วนในท้อง แน่นหน้าอก และความดันเลือดสูง
ส่วนสาเหตุของโรคนั้น เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วน อะมิกดะลา (amygdala) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกกลัวหวาดระแวง นอกจากนี้ความทรงจำที่ไม่ดีและสะเทือนใจในอดีต อาจส่งผลต่อจิตใจจนถึงปัจจุบัน เมื่อเกิดสถานการณ์ที่คล้าย ๆ กันก็จะรู้สึกกลัว
เช่น เคยติดอยู่ในลิฟต์คนเดียวตอนเด็กๆ อาจจะฝังใจกลัว เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ต่อให้โตเเค่ไหน แต่ความฝังใจมันไม่ได้เลือกอายุซะหน่อย ก็กลัวอยู่ดี
หรือบางครั้งถูกกลั่นแกล้ง ถูกกักขังในที่แคบๆ มืดๆ คนเดียว ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นความทรงจำที่ไม่ดี ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนไหวง่ายอยู่เเล้ว ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่เค้าจะรู้มากกว่าคนทั่วไป
ส่วนวิธีการรักษา อาจจะรักษาด้วยการบำบัดจิตใจที่ผิดปกติ โดยนักจิตวิทยาจะสอนให้รู้จักควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและเปลี่ยนวิธีการคิดให้จากลบเป็นบวก การบำบัดนี้ยังเหมาะกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
การบำบัดเชิงอารมณ์ด้วยเหตุและผล (REBT) : เป็นการบำบัดควบคู่กับ (Cognitive Behavioral Therapy) ตามโปรแกรมการบำบัดของนักจิตวิทยา
ผ่อนคลายผ่านการมองเห็น : หารูปภาพหรือออกไปอยู่ในพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ เช่น การมองรูปภาพหรือมองออกข้างนอกที่มีวิวทิวทัศน์กว้างขวาง หรือการรับประทานยาแก้โรคซึมเศร้าตามที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
โฆษณา