3 เม.ย. 2022 เวลา 04:35 • กีฬา
ทำไมการใส่ "เสื้อบอลของแท้" ไปดูศึกแดงเดือดในประเทศไทย ถึงเป็นเรื่องสำคัญ วิเคราะห์บอลจริงจังจะอธิบายทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุด
1
ผู้จัดการแข่งขัน The Match ลิเวอร์พูล vs แมนฯ ยูไนเต็ด ในประเทศไทย ประกาศกฎ 10 ข้อออกมาสำหรับผู้ที่จะเข้าชมเกมในสนาม โดยข้ออื่นก็ไม่มีอะไร แต่ข้อที่ถูกพูดถึงเยอะที่สุดคือ
"ขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าชมการแข่งขัน สำหรับผู้สวมเสื้อลิขสิทธิ์แท้จากสโมสรเท่านั้น"
แม้จะมีเหตุผลเข้าใจได้ในการออกกฎนี้ แต่ว่ากันตรงๆ คือไม่เคยเห็นที่ไหนเขาประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรขนาดนี้มาก่อน
ย้อนกลับไปในปี 2018 ตอนลิเวอร์พูล กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ปะทะกันในศึก ICC ที่มิชิแกน ผมก็ไม่เห็นผู้จัด ออกมาประกาศบอกคนสหรัฐฯ ว่า "ห้ามใส่เสื้อปลอมเข้าสนาม" ดังนั้นก็เลยประหลาดใจเบาๆ ที่ทาง Fresh Air เขียนกฎลงไปอย่างชัดเจนแบบให้เคลียร์ไปเลย
1
ก่อนอื่น เพื่อจะอธิบายว่าทำไมการใส่เสื้อของแท้เป็นวาระสำคัญ เราต้องเข้าใจก่อนว่ารายได้หลักของสโมสรกีฬา มีอยู่ 4 ทางคือ
1) ขายตั๋วในสนาม
2) เงินรางวัลการแข่งขัน + ค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์
3) สปอนเซอร์ทั่วโลก
และ 4) การขายสินค้า
เงินค่าตั๋ว จริงๆ ก็ไม่ได้เพิ่มหรือลดมากในแต่ละปี เพราะสนามมันก็จุได้แค่นั้น เช่นเดียวกับเงินรางวัลก็ Fixed อยู่แล้วว่าแต่ละปีจะได้เท่าไหร่
ดังนั้นรายได้ที่จะชี้วัดว่าสโมสรของคุณ จะมั่งคั่งกว่าทีมอื่นหรือไม่ อยู่ที่การขายสินค้าของสโมสร ทีมไหนที่ขายของได้เยอะๆ ก็จะเอาเงินก้อนนั้นแหละ มายกระดับทีมต่อไป
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน ตอนที่ลิเวอร์พูลเซ็นสัญญากับไนกี้ ในปี 2020 มีรายละเอียดระบุว่า เงินค่าเสื้อแข่งขัน หรือสินค้าใดๆ ที่มีโลโก้ลิเวอร์พูลอยู่ด้วย ทางไนกี้เมื่อขายได้เท่าไหร่ ต้องแบ่งเงินให้ลิเวอร์พูล 20%
ปัจจุบันเสื้อแข่งขันแบบ Replica หน้าเว็บสโมสร ขายตัวละ 69.95 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยกลมๆ 3,000 บาท
เท่ากับว่า ทุกๆ การซื้อเสื้อแข่งของจริง 1 ตัว ไนกี้จะได้เงิน 2,400 บาท ส่วนสโมสรจะได้เงิน 600 บาท
ดังนั้นถ้ามีคนซื้อเสื้อแข่ง 1 ล้านตัว สโมสรก็จะได้เงิน 600 ล้านบาท เป็นต้น
600 ล้านบาท (13.6 ล้านปอนด์) ก็สามารถเอามาทำอะไรได้ตั้งเยอะแยะ เอามาต่อสัญญานักเตะ, อัพเกรดสนามซ้อม, เซ็นสัญญานักเตะเยาวชน ฯลฯ ดังนั้นเงินทุกบาทที่เราซื้อสินค้าของจริง มันจะไหลกลับเข้าไปสู่สโมสรโดยอัตโนมัติ
2
ดังนั้นเขาถึงบอกว่า ถ้าเราอยากสนับสนุนทีมจริงๆ อย่างเป็นรูปธรรม ก็สามารถทำได้ด้วยการซื้อของลิขสิทธิ์นั่นเองครับ
แต่ปัญหาสำคัญของโลกกีฬาตอนนี้ ที่ทีมสโมสรกีฬาหวั่นใจ คือการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เอามาขาย ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Counterfeiting มีรายงานว่าในปี 2022 ของผิดลิขสิทธิ์มีมูลค่ามหาศาลรวม 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2
พ่อค้าที่จิตใจทุจริต เห็นว่าเสื้อแข่งขันของจริงราคาแพงถึงหลักพัน จนทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถหาซื้อได้ ก็เลยผลิตเสื้อก็อปออกมา ในหลาย Range ราคา บางตัว 300-400 ก็มี เพื่อหวังจับตลาดคนที่รายได้น้อย
1
แน่นอน เรื่องคุณภาพใดๆ มันสู้ของจริงไม่ได้ แต่มันก็มีคนซื้อกันเยอะพอสมควร เพราะราคาจับต้องได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือสโมสรฟุตบอลไม่ได้อะไรเลยสักบาทเดียว เงินไหลเข้าสู่พ่อค้าเต็มๆ ทั้งๆที่สินค้าปลอมเหล่านั้นก็ใช้โลโก้ หรือตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลด้วยซ้ำไป
2
ดังนั้น จึงมีการรณรงค์ว่า อย่าไปซื้อเลยของเถื่อน ถ้าคุณรักสโมสรจริงใช้ของจริงดีกว่า บอกว่ารักสโมสร บอกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ แต่ใช้ของเถื่อน แบบนั้นมันรักยังไง
1
คำว่าผลิตภัณฑ์ของจริงนั้น ไม่ได้มีแต่เสื้อแข่งขันนะครับ คือเสื้อแข่งมันอาจจะหลักพันก็จริง แต่มันมีของที่ถูกกว่านั้นเยอะเลย ซึ่งเป็นของถูกลิขสิทธิ์เหมือนกัน
อย่างในช็อป LFC Store ที่พระราม 9 และพัทยา เสื้อแฟชั่นโลโก้ลิเวอร์พูล หรือเสื้อเรโทร ยุคทริปเปิ้ลแชมป์ปี 2001 บางช่วงลด 50% เหลือแค่หลักร้อยแค่นั้นเองครับ
1
ถ้าเงินไม่พอจะซื้อเสื้อแข่ง Replica หรือ Vapor ก็สามารถซื้อเสื้อแบบอื่นที่ราคาต่ำกว่านั้นแต่ถูกลิขสิทธิ์ได้นะ ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องใส่เสื้อของเถื่อนจริงมะ
1
สำหรับในศึก The Match ถ้าให้ผมเดาใจ Fresh Air ผู้จัดการแข่ง ว่าทำไมต้องออกกฎแบบนั้นออกมา อย่างแรก คงเป็นการวางจุดยืนให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทย ไม่สนับสนุนของละเมิดลิขสิทธิ์
2
Fresh Air เป็นองค์กรจัดอีเวนต์ที่ต้องดีลกับทั้งวงการกีฬา และวงการดนตรีอยู่ตลอด ถ้าหากมีภาพลักษณ์ส่งเสริมของเถื่อน คงจะไม่ดีต่อดีลต่างๆ ในอนาคตแน่ๆ
อย่างที่ 2 ที่ผมว่าอาจจะเกี่ยวนิดหน่อย คือเป็นช่องทางให้ผู้คนหันมาซื้อของจริงมากขึ้น สโมสรเองก็น่าจะแฮปปี้ ที่ได้ทั้งเงินจากการเดินทางมาแข่ง และได้เงินจากการขายของในอีเวนต์นี้ด้วย
สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าการใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์ก็เป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอยู่แล้วครับ เพราะคนที่โดนละเมิดเขาไม่สนุกด้วยหรอกนะ
1
เคยได้ยินเรื่องคลาสสิคของเฉินหลงไหมครับ ที่ไปโปรโมทหนังเรื่อง Chinese Zodiac ที่เกาหลี แล้วมีแฟนหนังคนหนึ่ง เอาดีวีดีหนังมาให้เฉินหลงเซ็นลายเซ็นให้ แต่ปรากฏว่านั่นเป็นแผ่นผี คือเฉินหลงเองก็ปั้นหน้าไม่ถูกเหมือนกัน
เคสคล้ายๆ กัน ถ้าหากนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด มาประเทศไทย แล้วมีแฟนคนหนึ่งเอาเสื้อปลอมไปให้บรูโน่เซ็น นักเตะพอได้สัมผัสเนื้อผ้า คงรู้สึกเจื่อนไปเหมือนกันอะเนอะ
เอาล่ะครับที่ผมกล่าวมา คือในทางทฤษฎี การใช้ของจริงทั้งหมด เป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว
แต่ในทางปฏิบัติของ The Match นั้นผมไม่แน่ใจว่าเขาจะควบคุมได้แค่ไหน เพราะในการแข่งขันที่ราชมังคลากีฬาสถาน มีการขายตั๋วไป 5-6 หมื่นใบ ถามว่าคุณจะเช็กยังไงไหว ว่าทุกคนใส่เสื้อจริงหมดหรือเปล่า
ปัจจุบันเสื้อแข่ง ที่เป็นของก็อปแบบ AAA บางเจ้าเหมือนจริงมาก มีป้ายใดๆ ลอกเลียนอย่างเนียนสุดๆ แล้วยังมีเสื้อ Parody ในสไตล์ Bootleg ก็มีเยอะ
โอเค ถ้าคนที่คลุกคลีในวงการเสื้อบอล คงแยกแยะสบายมาก แต่ถ้าในการแข่งขัน The Match ที่มีแฟนบอล 5 หมื่นอัพ กรูเข้าสนามพร้อมๆกัน ถามว่าเจ้าหน้าที่ในจุดทางเข้าจะมีสกิลแค่ไหน ในการแยกแยะเสื้อออกครบทุกคน ว่าอันไหนจริง อันไหนก็อป มันคงจะเสียเวลามหาศาลมาก จนไม่ได้ทำอะไรกันพอดี
ดังนั้นบอกตรงๆ ว่า ในการแข่งนั้น ไม่สามารถเช็กได้ครบถ้วนหรอก และในวันจริงก็คงปล่อยเลยตามเลยนั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมบอกคือ ในทางปฏิบัติ ผู้จัดคงไม่ได้หวังให้คนใส่เสื้อลิขสิทธิ์ทั้งหมดอยู่แล้ว แต่ในทางทฤษฎีก็ต้องแสดงจุดยืนอย่างเคลียร์ๆ ว่า ในสนามราชมังคลาฯ ผู้จัดไม่สนับสนุนของเถื่อนอย่างเด็ดขาด
และเอาจริงๆ ผมคิดว่า คนที่จ่ายเงินซื้อตั๋วบอลหลักพัน-หลักหมื่นไปดูแดงเดือดได้ ก็เป็นคนที่รักสโมสรมากๆ อยู่แล้ว ไม่ใช้ของเถื่อนหรอก
1
แถมในวาระพิเศษอย่างแดงเดือดครั้งแรกในเอเชีย ก็คงจะมีน้อยคนมาก ที่คิดว่า "กูใส่เสื้อก็อปไปเลยดีกว่า" จริงมะ ต่อให้ไปไม่มีกฎเป็นลายลักษณ์อักษร ผมว่าก็ทุกคนคงใส่เสื้อแท้หมดแหละ
ดังนั้นแดงเดือดที่ไทย คนเข้าไปดูมีทางเลือกตั้งเยอะแยะ จะใส่เสื้อ Vapor แบบจัดเต็ม หรือใส่เสื้อเชียร์ Replica หรือไม่ก็ใส่เสื้อเชียร์แบบต่างๆ ที่ขายโดยออฟฟิเชียลของสโมสร หรือเสื้อซื้อของแท้มือสองก็ถูกลงอีก
หรือถ้าไม่มีเงินซื้อเสื้อเหล่านี้จริงๆ ก็ใส่เสื้ออะไรก็ได้เข้าสนาม เสื้อห่านคู่ เสื้อนิสิต-นักศึกษา เสื้อบอลแกรนด์สปอร์ต เสื้อทีมชาติไทยวอร์ริกซ์ ฯลฯ ใส่อะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใส่ของปลอมนะครับ
2
สรุปคือข่าวนี้ สื่อก็ประโคมหวือหวากันไปงั้นแหละ เรียกยอดไลค์เฉยๆ แต่ไม่มีอะไรหรอก
1
อาจจะดูแปลกนิดหน่อย ที่ต้องประกาศกันอย่างชัดเจนขนาดนี้ เพราะประเทศอื่นเขาไม่ทำกัน แต่เอาจริงๆ การสร้างความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์การค้าให้ทุกคนได้รับรู้ตรงกัน ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้วล่ะครับ
หลักคิดของผมคือ ถ้าอะไรที่ผมไม่มีเงินซื้อของแท้ ผมก็จะไม่ซื้อของปลอมครับ ผมแฮปปี้มากกว่า ที่จะใช้เงินที่มี ในการซื้อแบรนด์ที่ถูกลงหน่อย แต่เป็นของจริงดีกว่า
1
สิ่งที่ผมเชื่อคือ แบรนด์ไม่ดังแต่เป็นของจริง ย่อมดีกว่าแบรนด์ดังแต่เป็นของปลอมอยู่แล้วครับ
1
#SAYNOTOFAKES
โฆษณา