4 เม.ย. 2022 เวลา 13:49 • สิ่งแวดล้อม
ถ้าหิมะตกในประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น?
หลายคนคงทราบดีว่าประเทศไทยนั้นอยู่ในพื้นที่เขตร้อน โดยตอนล่างสุดของประเทศไปจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน จึงทำให้มีอัตราการเกิดฝนมาก จากการที่ลมได้พัดเอาเมฆฝนที่เกิดจากไอระเหยของน้ำทะเลเข้ามายังฝั่ง ทำให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเกิดพายุฝนอยู่บ่อยครั้ง และตั้งแต่จังหวัดราชบุรีไปจนถึงส่วนเหนือสุดของประเทศคือจังหวัดเชียงราย มีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาหรือภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน ซึ่งจะอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละเดือนมากกว่า 18 องศาเซลเซียสในทุก ๆ เดือนของปี โดยภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนานี้ จะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนและมีฤดูแล้งที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเราจะเห็นว่าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจะนิยมปลูกพืชที่ใช้ น้ำในการเพาะปลูกน้อยหรือทนแล้งได้ดีเช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ พืชตะกูลแตง มันสำปะหลัง เป็นต้น
ทำไมประเทศไทยไม่หิมะ
หิมะเกิดจากหยดน้ำที่ตกลงมาจากฟ้าในรูปแบบของผลึกน้ำแข็ง หรือน้ำที่แข็งตัว โดยเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่ออุณหภูมิในบรรยากาศลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศต่ำ ทำให้ละอองน้ำในเมฆรวมตัวกันและเกิดการควบแน่นกลายเป็นผลึกน้ำแข็งตกลงมา หากอุณหภูมิบรรยากาศต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสตลอดระยะทางที่ผลึกน้ำแข็งตกลงมากระทั่งถึงพื้นโลก เราก็จะเรียกผลึกน้ำแข็งนี้ว่าเรียกว่า "หิมะ"
นอกจากนี้หิมะยังสามารถตกได้จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิมากกว่า 0 องศา ซึ่งเกิดจากในพื้นที่ดังกล่าวมีความชื้นในอากาศต่ำพอที่จะเกิดเป็นหิมะ และเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีหิมะตกเหมือนประเทศอื่นๆ เป็นเพราะประเทศไทยตั้งอยู่ที่ตำแหน่งละติจูดต่ำ โดยปกติแล้วประเทศที่จะเกิดหิมะในช่วงฤดูหนาวได้นั้น จะตั้งอยู่ในพื้นที่เหนือตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือ หรืออยู่ต่ำกว่าตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 ใต้ ซึ่งประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่ในตำแหน่งละติจูดที่ 5 องศาเหนือ - ละติจูดที่ 20 องศาเหนือ และยังอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงทำให้มีอากาศอุ่น และทำให้มีอากาศหนาวเย็นก็ไม่มากพอที่จะเอื้อให้เกิดละอองหิมะ
ทำอย่างไรหิมะถึงจะตกในไทยได้
คำตอบคือ “เป็นไปได้ยาก” เนื่องจากสาเหตุที่เล่ามาข้างต้น นอกจากว่า สภาพอากาศจะเกิดการแปรปรวนอันเกิดจากแกนโลกเอียงห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น หรือถ้าเราลองคิดเล่นๆ โดยการนำหลักการการเกิดหิมะมาเป็นตัวบ่งชี้ในการเกิดหิมะในประเทศจะได้ผลดังนี้
- ความสูงของพื้นดินในประเทศไทยจะต้องสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่ต่ำกว่า 3,000 – 5,000 เมตร
- เทือกเขาหรือภูเขาในบริเวณตอนกลางของประเทศจะต้องยกตัวสูงขึ้นอีกตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป เป็นต้น
แล้วถ้าหิมะตกในประเทศไทยจะเปิดอะไรขึ้น
หากวันหนึ่งสภาพอากาศเกิดการแปรปรวนมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดหิมะตกในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ที่คาดว่าจะมีโอกาสเกิดหิมะมากที่สุดคือพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และถ้าหิมะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งด้านดีและด้านเสีย เราลองมาดู “ด้านเสีย” กันก่อน อย่างแรกเลยคือในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตร และพืชส่วนใหญ่ไม่ใช่พืชเมืองหนาว หากในบริเวณที่มีการเพราะปลูกมีอุณหภูมิที่หนาวเย็นมากเกินไป อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชรวมทั้งสัตว์เลี้ยงอาจจะล้มตายเป็นจำนวนมากและยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่อีกด้วย หันมามอง “ด้านดี” จากการเกิดหิมะตกในพื้นที่ดังกล่าวคงจะทำให้คนในประเทศตื่นเต้นไม่น้อยและก็คงจะแห่กันมาดูหิมะกันอย่างมหาศาล ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริเวณที่มีหิมะตก ซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา
หิมะตกในประเทศไทย หากมองในแง่บวกสิ่งที่จะตามมา เราคงจะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรามาก่อน อาทิ ลานสกี ลานสเก็ตน้ำแข็ง การพัฒนากีฬาที่นิยมเล่นกันในฤดูหนาว แต่ เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ถ้าหิมะตกในเมืองไทยจริง คงจะเป็นสิ่งที่หน้ากลัวมากกว่าเรื่องสนุก เพราะเป็นสัญญาณอันตรายที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกเราวิกฤตเข้าไปทุกที ทางที่ดีเราควรร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อดูแลและช่วยปกป้องโลกของเรา ไม่ให้ภาวะโลกร้อนที่มีส่วนจากน้ำมือมนุษย์ย้อนกลับมาทำลายความต่อเนื่องของการพัฒนาของประเทศเรา เพียงเพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เข้ามาอย่างฉับพลัน
โฆษณา