26 เม.ย. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
เจดีย์วัดจะทิ้งพระ สงขลา
3
ภาพจากการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อเดินทางไปกับอาจารย์มานิต วัลลิโภดม บิดา โดยมีพระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) และคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร นักโบราณคดีท้องถิ่น ร่วมสำรวจคาบสมุทรสทิงพระเมื่อราว หลัง พ.ศ. ๒๕๑๖ ในภาพนั้น เจดีย์ที่วัดจะทิ้งพระยังไม่มีการปิดฐานทั้งสี่ด้านโดยทำเป็นซุ้มพระพุทธรูปเช่นในปัจจุบัน อาจารย์ศรีศักรได้มุดเข้าไปดูตามคำแนะนำของพระราชศีลสังวร ก็พบจริงดังว่าว่ามีการสร้างพระเจดีย์ใหม่คลุมฐานพระเจดีย์เก่าไว้ และอาจจะเป็นเจดีย์เก่าจนถึงสมัยศรีวิชัยได้ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากเพราะบริเวณวัดจะทิ้งพระและพังหรือสระน้ำต่างๆ พบประติมากรรมขนาดเล็กรูปพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาแบบวัชรยานในยุคสมัยศรีวิชัยจำนวนไม่น้อย
เมื่อทำวารสารเมืองโบราณ ในพ.ศ. ๒๕๑๙ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะหรือ น ณ ปากน้ำ เขียนไว้ใน ‘ศิลปในอาณาจักรภาคใต้’ ว่า เจดีย์วัดจะทิ้งพระเป็นแบบปาละจากอินเดียในสมัยศรีวิชัย
เมื่อบูรณะแล้วพบว่าเจดีย์สูง ๒๐ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๑๗ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางขององค์ระฆัง ๖ เมตร ตัวเจดีย์มีลักษณะเป็นรูปโอคว่ำแบบลังกาอย่างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่มีรัตนบัลลังก์ เสามะหวดตั้งบนคอระฆังระหว่างเสามีรูปสาวกปูนปั้นนูนต่ำจำนวน ๑๖ องค์ ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน องค์ระฆังของเจดีย์พระมหาธาตุมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น ตรงที่จะคอดเว้าตรงกลางเล็กน้อย องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐดินเผาและอิฐปะการังสอด้วยดิน ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีเสาหลอกแบ่งเป็นช่อง ๆ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายมีการบูรณะเปลี่ยนฐานเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ แต่ละด้านมีซุ้มพระหนึ่งซุ้ม มีลักษณะโค้งแหลมเป็นอิทธิพลในสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
ในช่วงนั้นมีการจัดเวทีวิชาการเสวนาเรื่องเส้นทางข้ามคาบสมุทรและบ้านเมืองสมัยศรีวิชัยกันมาก ซึ่งอาจารย์มานิต วัลลิโภดม เห็นด้วยกับเส้นทางข้ามคาบสมุทรในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ จากตะกั่วป่ามายังอ่าวบ้านดอน แต่ไม่เห็นด้วยกับการตีความว่าเมืองตักโกลาคือตะกั่วป่า
อาจารย์มานิตเชื่อว่าเส้นทางข้ามคาบสมุทรน่าจะอยู่ในบริเวณพังงา ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงมาถึงจังหวัดตรังและสตูล อาจมีหลายเส้นทางจากจังหวัดสตูลผ่านช่องเขาตั้งแต่เขตอำเภอควนกาหลงผ่านมายังอำเภอรัตนภูมิลงไปยังอ่าวสงขลาที่เป็นบริเวณทะเลสาบสงขลาในปัจจุบัน บริเวณนี้มีสทิงพระเป็นเมืองท่าทางฝั่งอ่าวไทย ตั้งอยู่คล้ายกันกับเกาะคอเขาที่ตะกั่วป่า ซึ่งก็พบว่าบริเวณใกล้กับเขาแดงที่ ‘เขาน้อย’ พบซากพระสถูปขนาดใหญ่ ฐานรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างจัตุรัส สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่และมีแผ่นอิฐที่ทำด้วยหินปะการังรองรับน้ำหนัก มีรูปร่างคล้ายกับสถูปหรือปราสาทแบบศรีวิชัย
พระสถูปแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา ซึ่งกรมศิลปากรขุดค้นและขุดแต่งบริเวณพระสถูปที่เขาน้อย พบฐานสถูปสมัยศรีวิชัยที่มีอิทธิพลแบบจามที่เรียกว่า ‘กุฑุ’ มีรูปคนประดับแบบศิลปะจามชัดเจนก็แสดงการเป็นพื้นที่ซึ่งเก่าแก่ที่สุดของบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ
บริเวณวัดจะทิ้งพระอยู่ในบริเวณเมืองสทิงพระ ซึ่งอยู่ด้านใต้ของพื้นที่ซึ่งเป็น Citadel หรือพื้นที่สำคัญของเมืองซึ่งอาจจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ปกครองราว ๒๐๐ เมตร เป็นคูน้ำล้อมรอบขนาดราว ๓๐๐x๓๐๐ เมตร ด้านใต้ติดกับคลองสทิงพระ ซึ่งเชื่อมทั้งทะเลนอกและทะเลสาบในลักษณะของการเป็น ซึ่งในบริเวณคาบสมุทรนี้มี Citadel อยู่ ๓ แห่ง คือที่บริเวณวัดจะทิ้งพระ วัดสีหยางและวัดพังยาง ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยรอบของ Citadel แห่งนี้มีสระน้ำโบราณที่เรียกว่าว่า ‘พัง’ หรือตระพัง ต่างๆ จำนวนมาก และมีรายงานการพบพระโพธิสัตว์สำริดขนาดย่อมๆ บริเวณพังต่างๆ และทุ่งนาในบริเวณสทิงพระนี้หลายองค์
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา