4 เม.ย. 2022 เวลา 23:37 • ประวัติศาสตร์
เคยสงสัยกันไหม ว่าคนญี่ปุ่นคิดยังไงกับนิยายและภาพยนตร์เรื่องคู่กรรม? บอกเลยมีแอบฮา
คู่กรรม เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรม จากบทประพันธ์ของทมยันตี โดยมีฉากหลังเป็นประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเรื่องราวดังกล่าวเกิดจากแรงบันดาลใจของคุณทมยันตี ที่เดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อปี พ.ศ.2508 และได้เยี่ยมชมสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก จึงได้ตัดสินใจเขียนนวนิยายดังกล่าว และได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง และภายหลังนวนิยายเรื่องนี้ได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายครั้ง
วิมล เจียมเจริญ เจ้าของนามปากกา 'ทมยันตี' ปัจจุบันเธอเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 ขอแสดงความเสียใจไว้ ณ ตรงนี้ด้วยครับ
โดยเรื่องราวของคู่กรรม เป็นเรื่องราวความรักท่ามกลางความขัดแย้งจากสงครามและการเมือง โดยพระเอกของเรื่องคือ โกโบริ ทหารญี่ปุ่น ที่เดินทางเข้ามาประจำการที่ประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และได้พบรักกับนางเอกคืออังศุมาลิน นักศึกษาสาวคณะอักษรศาสตร์ โดยเรื่องราวต่อจากนี้ เชื่อว่าทุกคนน่าจะทราบกันดีว่าจะจบลงเช่นไร
อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ว่านวนิยายเรื่องคู่กรรม ถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายเวอร์ชั่น
แน่นอนว่านวนิยายและภาพยนตร์เรื่องคู่กรรม ยังโด่งดังไปถึงประเทศญี่ปุ่น และนี่คือความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อบทประพันธ์เรื่องคู่กรรม มาดูกันว่าชาวอาทิตย์อุทัยจะมีความคิดเห็นยังไง
โกโบริ คำนี้มีอยู่ในภาษาญี่ปุ่นจริงหรือเปล่า?
โกโบริเป็นชื่อนามสกุลที่มีอยู่จริงในภาษาญี่ปุ่น แต่ความหมายของคำว่าโกโบริ ก็คือ 'คูน้ำเล็ก ๆ' ซึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่แปลกใจว่าทำไมคุณทมยันตีถึงไม่ใช้ชื่อญี่ปุ่นอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมมากกว่า เช่น ยามาดะ, ซูซูกิ หรือทานากะ เพราะคนแทบไม่ใช้คำว่าโกโบริในการตั้งชื่อลูกหลานเท่าไร
1
ส่วนอังศุมาลิน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าฮิเดโกะ ไม่ได้มีปัญหาแต่ประการใด
หน้าปกนวนิยายเรื่องคู่กรรมฉบับแปลภาษาญี่ปุ่น
นวนิยายเรื่องคู่กรรม มีฉบับแปลภาษาญี่ปุ่น และมีอยู่ในชั้นวางในห้องสมุดทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 208 แห่ง (จากทั้งหมด 4,600 แห่ง) สำหรับคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้สนใจประเทศไทย อาจไม่รู้จักนวนิยายเรื่องนี้ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นที่ชื่นชอบเมืองไทย พวกเขาส่วนใหญ่รู้จักอย่างแน่นอน เพราะบางส่วนที่เคยมาประเทศไทย แล้วโดนคนไทยเรียกว่าโกโบริ เลยสงสัยว่าหมอนี่เป็นใคร จนต้องไปหานิยายหรือภาพยนตร์มาดู จนเข้าใจว่าทำไมคนไทยเรียกพวกเขาแบบนั้น
ความรู้สึกของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อคู่กรรม?
นักอ่านที่เป็นผู้ชาย จะให้ความสนใจเรื่องสภาพบ้านเมืองของประเทศไทยในยุคนั้น และสนใจในประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บางคนอาจไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าไทยกับญี่ปุ่นเคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อน เพราะไม่มีกล่าวถึงในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น พร้อมกับให้คำนิยามบทประพันธ์เรื่องนี้ว่าเป็น ‘เมโลดราม่า’ (Melodrama) ที่หมายถึงเรื่องราวที่เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม ชีวิตผกผัน มีแต่เรื่องสะเทือนอารมณ์ หรือถ้าพูดกันแบบตรงไปตรงมาก็คือ 'นิยายหรือละครน้ำเน่า' นั่นเองครับ
1
สำหรับโกโบริ ชาวญี่ปุ่นมองว่าเขาดูอ่อนโยน อ่อนแอเกินไป ผิดวิสัยทหารขององค์จักรพรรดิในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอย่างรุนแรง เพราะตัวของโกโบริเองตัดสินใจทำในสิ่งที่อาจทำให้กองทัพญี่ปุ่นบ้านเกิดของเขาต้องแพ้สงครามเพราะเห็นแก่ผู้หญิงที่ตนรัก
คุณโอ วรุฒ กับบทบาทของโกโบริ ที่กล่าวกันว่าใกล้เคียงกับภาพลักษณ์โกโบริในความคิดของคุณทมยันตีมากที่สุด
บางคนก็หนักถึงขนาดที่กล่าวตำหนิโกโบริว่า เขาอาจเป็นคนดี แต่ก็เป็นทหารที่เลว เพราะตัดสินใจทำในสิ่งที่ขัดต่อค่านิยมของสังคมญี่ปุ่น คือเรื่องระเบียบวินัย ความเสียสละ ประเทศชาติ ซึ่งค่านิยมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นถือเป็นกฎเหล็กในการสร้างชาติของตนเอง โกโบริคือทหารที่ยอมทรยศประเทศชาติเพื่อผู้หญิงที่ตนเองรัก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นตำหนิอย่างรุนแรง
โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวก็สามารถแก้ต่างได้บ้างว่า เพราะโกโบริเป็นนายทหารสัญญาบัตร ที่มาจากครอบครัวที่มั่งมี และได้รับการศึกษามาอย่างดี เลยน่าจะทำให้เขาดูเป็นสุภาพบุรุษและอ่อนโยน แตกต่างจากทหารชั้นผู้น้อยคนอื่น ๆ ที่มาจากครอบครัวที่ยากจน และไม่ได้รับการศึกษาที่ดีเช่นเขา โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมต่างประเทศ
และชาวญี่ปุ่นบางส่วนก็กล่าวว่า คาแร็คเตอร์ของโกโบริ ดูเหมือนเด็กผู้ชายชาวญี่ปุ่นที่ดูอ่อนโยน มากกว่าที่จะเป็นทหารของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็มี
ถึงจะถูกวิจารณ์ในแง่ของความสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร แต่ก็มีชาวญี่ปุ่นวาด Fan Art น่ารัก ๆ บ้างเหมือนกัน
ส่วนอังศุมาลิน ชาวญี่ปุ่นบางคนนิยามเธอว่าเป็นพวก 'ซึนเดเระ' (ปากแข็ง) บ้างก็บอกว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ใจร้ายเกินไป ซึ่งก็เข้าใจได้อีกว่ามันมาจากการเลี้ยงดูโดยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เลยทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่ดูแข็งกร้าวเกินไป
1
สำหรับชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะคุณแม่บ้านทั้งหลาย บางส่วนมองว่าเธอใจร้ายกับโกโบริเกินไป และไม่เข้าใจว่าทำไมโกโบริถึงไปหลงรักผู้หญิงใจดำแบบนี้ ทำไมไม่รักผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยกันก็มี (ฮ่า...)
นอกจากนี้ ยังมีชาวญี่ปุ่นออกความเห็นว่า ทำไมโกโบริถึงไม่ย้ายไปประจำการที่อื่นสักที มัวมาทำอะไรที่ประเทศไทยอยู่ได้ตั้งนาน เขาดูมีเวลาสานสัมพันธ์รักกับอังศุมาลินมากเกินไป ซึ่งมันผิดวิสัยของระเบียบวินัยในกองทัพญี่ปุ่นในขณะนั้นเป็นอย่างมาก
ความรักระหว่างทหารญี่ปุ่นและสาวไทย ท่ามกลางไฟสงคราม ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม
โดยภาพรวมแล้ว ชาวญี่ปุ่นค่อนข้างประทับใจในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องคู่กรรม ชาวญี่ปุ่นบางส่วนมองว่า นี่คือบทประพันธ์ที่ให้ความเป็นธรรมต่อทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะ ‘มนุษย์’ มากกว่าที่จะเป็นอาชญากรสงคราม เหมือนที่เราเคยรับชมในภาพยนตร์ของต่างประเทศทั้งจากตะวันตกหรือเอเชียด้วยกัน ที่ถ่ายทอดภาพทหารญี่ปุ่นในแง่มุมที่เหี้ยมโหด อำมหิต ผิดมนุษยมนา
แต่ถ้าหากลงลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณีของประเทศญี่ปุ่น คงต้องบอกว่า นี่คือตัวละครญี่ปุ่น ที่ถูกสร้างโดยความรู้สึกนึกคิดแบบไทย ๆ มากกว่า ซึ่งมันขัดแย้งกับสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นอยู่มากเลยทีเดียวครับ
ข้อมูลจาก :
โฆษณา