Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลือชัย พิศจำรูญ
•
ติดตาม
5 เม.ย. 2022 เวลา 02:48 • ประวัติศาสตร์
เรื่องราวบางส่วนของสามหมอ…หมอชิต หมอมี หมอเหล็ง…สามหมอชื่อดังในอดีตของไทย…
เจ้าของตำนาน…ซอยหมอเหล็ง / แยกหมอมี / โยคีสถาน / ตลาดหมอชิต / หาดวอนนภา (ติดหาดบางแสน) / ซอยนภาศัพท์ (สุขุมวิท ซอย ๓๖)……
จ่าหัวด้วยคำว่า หมอ อย่างนี้ บางคนอาจถึงบางอ้อว่าใครเป็นใคร แต่มีไม่น้อยที่ไม่รู้จักว่าเกี่ยวพันกับกรุงเทพฯ อย่างไร…
หมอคนแรกชื่ออาจคุ้นหู เพราะหากจะเดินทางไปภาคเหนือ ภาคอีสาน ต้องขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งหมอชิต ๒ ซึ่งย้ายมาจากสถานีขนส่งหมอชิตเดิมที่บริเวณสวนจตุจักร หรือได้ยินใครๆ เรียกสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ ว่า วิกหมอชิต…
ส่วนอีกสองหมอนั้น คนวัยเลย ๔๕ อาจรู้จัก โดยเฉพาะหมอคนหลังดังเอามากเมื่อคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะบ้านของท่านนายกตั้งอยู่ในซอยหมอเหล็ง…
ขณะที่ หมอมี คนแถบเยาวราชจะรู้จักดี เพราะตรงจุดตัด ถ.เจริญกรุง ถ.พระราม ๔ ถ. ทรงสวัสดิ์ และ ถ.มิตรพันธ์ ที่เป็นรอยต่อของเขตป้อมปราบฯ กับเขตสัมสัมพันธวงศ์…
มีแยกใหญ่ที่ชาวบ้านมักเรียกว่า สามแยก (ปัจจุบันเห็นจะเป็น ห้าแยก เสียแล้ว) หรือ แยกหมอมี นั่นเอง…
แน่นอนว่า ชื่อบ้านนามเมืองเหล่านี้ล้วนมีที่มา ซึ่งส่วนใหญ่บรรดาคุณหมอเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน อันเป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นกลางหันมาประกอบอาชีพอิสระ ไม่จำเป็นเข้าสู่ระบบราชการอีกต่อไป…
จึงเกิดห้างร้านต่างๆ ขึ้นมาก โดยเฉพาะห้างขายยาสมุนไพรยี่ห้อต่างๆ ครั้งนี้จึงรวบรวมเรื่องราวของสามหมอมาเล่าเพื่อให้เห็นวิถีของคนกรุงเทพฯ เมื่อวันวาน ต่อเชื่อมถึงกรุงเทพฯ ณ วันนี้...
หมอชิต ผู้ให้กำเนิด “ยานัตถุ์หมอชิต”…
หมอชิต หรือนายชิต นามสกุล นภาศัพท์ เป็นคนบางพระ จังหวัดชลบุรี นอกจากจะเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหมอชิต ที่เดิมเคยเป็นตลาดนัดที่ชาวสวนเอาผลไม้ต่างๆ มาขาย จนเรียกกันว่า ตลาดนัดหมอชิตแล้ว…
ยังเกี่ยวข้องกับซอยนภาศัพท์ บนถนนสุขุมวิท หอพักนภาศัพท์ ที่สร้างให้เป็นหอพักของนิสิตจุฬา และหาดวอนนภา ที่ชลบุรี อันมีที่มาจากชื่อภรรยาของท่าน คือ นางวอน นภาศัพท์ (นามสกุลเดิม เนติโพธิ์)…
รวบรวมภาพ/เรื่องมาเผยแพร่ต่อโดย แก้ไขปรับปรุง ธ.ค.๖๔ ขอบคุณเพจ :ภาพเก่าเล่าต่อ ที่มา : บันทึกสยาม
หมอชิตโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วไป (ต้องคนรุ่น ๕๐ ขึ้นไป) ในฐานะเป็นผู้ผลิตยานัตถุ์หมอชิต อันทำให้ได้นามนำหน้าว่า หมอ แต่นั้นมา ก่อนที่จะผลิตยานัตถุ์ได้เคยทำงานเป็นเสมียนที่ห้างเต็กเฮงหยู ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ห้างเพ็ญภาค…
เมื่อแต่งงานมีบุตรธิดาแล้วก็คิดขยับขยายหาความก้าวหน้ามาเปิดร้านขายยาของตัวเอง โดยเริ่มที่หน้าวัดมหรรณพาราม ใช้เครื่องหมายการค้าตรามังกร…
ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เสาชิงช้า ก่อนจะมาเปิดร้านที่ปากคลองตลาด เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในนาม ร้านขายยาตรามังกร…
ช่วงนี้เองที่ได้คิดปรุงยานัตถุ์เป็นผลสำเร็จ โดยอาศัยตำราโบราณของบรรพบุรุษ จนเป็นที่นิยมไปทั่ว ได้เปิดเอเยนต์ในต่างจังหวัดขึ้นหลายแห่ง จากร้านขายยาก็กลายเป็นห้างขายยาตรามังกร…
กิจการก้าวหน้าจนขยายมาตั้งโรงงานปรุงยาขึ้นที่บ้านถนนเพชรบุรี และปัจจุบันได้เปลี่ยนมาดำเนินในรูปบริษัทยานัตถุ์หมอชิตแทน…
สำหรับยานัตถุ์คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก แต่คนสมัยก่อนหากเห็นท่อเหล็กรูปตัวยู ที่คนสูงอายุสอดเข้าไปในรูจมูกด้านหนึ่ง ส่วนปลายท่ออีกด้านใช้ปากเป่า เป็นอันรู้ว่าท่านกำลังนัตถุ์ยา…
เพราะตัวยานั้นเป็นผงที่มีส่วนผสมหลายอย่าง เช่น ยาสูบ อบเชย เมนทอล สเปียร์มินต์ ฯลฯ การเป่าทำให้ตัวยาที่บรรจุลงในท่อเหล็กฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ส่งผลให้ผู้สูบรู้สึกปลอดโปร่ง เคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่…
หมอชิตเป็นผู้ขยันขันแข็ง มีความคิดทางการตลาดก้าวหน้า จากเสมียนก็กลาย
เป็นนายห้างจนเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวย ทำสาธารณประโยชน์ให้กับที่ต่าง ๆ ไว้มาก…
ทั้งเป็นกรรมการสมาคมพ่อค้าไทย และเมื่อทางราชการพระราชทานตั้งยศพ่อค้าไทย หมอชิตได้รับแต่งตั้งเป็นชั้นเอกทางพานิชกรรม ท่านถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อมีอายุได้ ๕๘ ปี…
หมอมี ผู้ปรุงน้ำสมุนไพร…ที่กลายเป็นเครื่องสำอางของสาวๆ ยุคปัจจุบัน…
นอกจากยานัตถุ์หมอชิตที่เป็นที่รู้จักกันในท้องตลาดเมื่อ ๘๐ กว่าปีก่อน ยังมียานัตถุ์อีกยี่ห้อที่โด่งดังไม่แพ้กันและเป็นที่นิยมกันมาก่อน ก็คือ ยานัตถุ์หมอมี ที่ผลิตออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๑…
หมอมีท่านนี้ มีนามเต็มว่า นายบุญมี เกษมสุวรรณ เคยรับราชการเป็นเภสัชกรในกองโอสถศาลาสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านได้เรียนรู้เรื่องเวชภัณฑ์ยาต่างประเทศจาก นพ.โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ ผู้เป็นอาจารย์วิชาแพทย์แผนใหม่คนแรกของโรงเรียนแพทยาลัยศิริราชพยาบาล…
เมื่อลาออกจากกองโอสถศาลา ได้มาดำเนินกิจการค้าขายยาของตนเองในนาม “ห้างขายยาบุญมีดิสเปนซารี” ที่ถนนกรุงเกษม ตรงข้ามสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นย่านการค้าใหญ่แห่งหนึ่งในสมัยนั้น…
ก่อนจะย้ายไปตั้งที่สามแยกต้นประดู่ ซึ่งทำให้ต่อมาคนจึงเรียกสามแยกต้นประดู่อีกชื่อหนึ่งว่า สามแยกหมอมี ปัจจุบันตึกที่เคยเช่าทำห้างขายยายังคงอยู่ แต่บริษัท หมอมี มิได้เช่าแล้ว…
สมัยตั้งห้างที่ถนนกรุงเกษม นอกจากขายยา ตำราแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์ประเภทต่างๆ แล้ว ยังขายเครื่องทำน้ำโซดา น้ำมะเน็ต น้ำมันหอม และสีทำน้ำหวานต่างๆ…
รวมถึงจำหน่ายหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียนทุกอย่าง เพราะห้างแห่งนี้ตั้งอยู่ข้างๆ กับโรงเรียนสายปัญญานั่นเอง…
เมื่อกิจการก้าวหน้าและการคมนาคมสะดวกขึ้น จึงย้ายห้างไปอยู่ที่สามแยกดังที่กล่าวข้างต้น และใช้ชื่อว่า ห้างขายยาบุญมี (หมอมี) ผลิตภัณฑ์ยาที่ขึ้นชื่อของร้าน ได้แก่ ยานัตถุ์หมอมี ยาตรีนิสิงเห (ยาสำหรับสตรี) และยาอุทัยหมอมี…
โดยเฉพาะชนิดหลังนี้ หลายบ้านยังคงนิยมใช้อยู่ตามกรรมวิธีเดิม แต่สำหรับสาววัยใสวันนี้หันมาใช้เป็นเครื่องสำอางทาแก้มให้เกิดสีสัน จนบริษัทต้องหันมาผลิตบรรจุภัณฑ์อีกรูปแบบหนึ่งเพื่อรองรับกับวิถีสมัยใหม่เลยทีเดียว…
ยาอุทัยนี้ก็คือ น้ำยาอุทัยสีแดงๆ ที่เหยาะลงในน้ำดื่มให้กลายเป็นสีชมพูเรื่อๆ เมื่อดื่มแล้วแก้กระหาย หอมเย็นชื่นใจ ด้วยสกัดมาจากธรรมชาติที่เป็นสมุนไพรและดอกไม้กว่า ๑๐ ชนิด เช่น กุหลาบ กระดังงา มะลิ จันทร์ชะมด จันทร์เทศ พิมเสน ฝาง คำฝอย ฯลฯ…
สูตรน้ำยาอุทัยนี้หมอมีเคยบอกลูกหลานว่า เป็นสูตรเก่าที่มีมานาน ดังปรากฏที่จารึกในวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นสูตรเหมือนกับของท่าน…
ปัจจุบันแม้การเหยาะน้ำยาอุทัยลงในน้ำดื่ม จะได้รับความนิยมน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก แต่หลังจากคนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพ กลับมาให้ความสำคัญกับสมุนไพร น้ำยาอุทัยก็เป็นตัวเลือกที่ได้รับความวางใจอีกครั้ง…
โดยเฉพาะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เด็กวัยรุ่นนิยมนำมาทาแก้มทาปากแทนบลัชออนและลิปสติก เพราะให้สีสันที่อยู่ทนและสามารถกันน้ำได้…
จนทางบริษัทต้องผลิตผลิตภัณฑ์ในรูปแบบโรลออนขนาดกะทัดรัด เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของสาวๆ ที่สามารถพกพาและใช้งานได้สะดวก…
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยายอดนิยม ๓ อย่างของหมอมียังคงขายอยู่ แต่ที่รู้จักกันดีคงหนีไม่พ้นน้ำยาอุทัย ซึ่งสร้างชื่อให้ “หมอมี”ยังคงเป็นที่รู้จักอยู่จนถึงวันนี้…
หมอเหล็ง: นายแพทย์นักปฏิวัติ!…
สำหรับนายแพทย์นักปฏิวัติคนสำคัญที่ใครๆ รู้จักกันดี ขนาดเป็นไอดอลของหนุ่มสาวยุคหนึ่งก็คือ เชกูวารา ซึ่งเป็นหมอที่หันมาจับปืนปฏิวัติจนปลดปล่อยคิวบาได้สำเร็จ แล้วต่อมากลายเป็นนักปฏิวัติอาชีพไปเลย…
ขณะที่หมอเหล็ง ชีวิตพลิกผันจากแพทย์ไปเป็นนักปฏิวัติ แต่ก่อการไม่สำเร็จจึงถูกขังคุกถึง ๑๒ ปีกว่า เมื่อออกมาจึงกลับมาเป็นหมอตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต…
หมอเหล็งท่านนี้ คือ ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ หรือ ขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการปฏิวัติ ร.ศ.๑๓๐ หรือที่มักเรียก กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เพราะปฏิวัติไม่สำเร็จ ถูกหักหลังเสียก่อน…
หมอเหล็งเป็นคนฝั่งธนฯ เกิดที่ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๕ เรียนหนังสือเบื้องต้นที่วัดประยุรวงศาวาส เมื่ออายุได้ ๑๕ ปีเข้าเรียนวิชาแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทยาลัยในศิริราชพยาบาล…
หลังจากสำเร็จวิชาแพทย์แล้วไปเป็นแพทย์ประจำโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ก่อนไปสังกัดเป็นนายแพทย์ตรีประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก…
ช่วงระหว่างนี้ได้สมัครเข้าเรียนวิชาทหาร เป็นนักเรียนสำรองนายร้อย จนสอบไล่ได้เป็นนายร้อยตรี สังกัดฝ่ายพลรบทหารราบ ทำหน้าที่แพทย์ ได้เลื่อนยศมาเป็นลำดับจน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนนายร้อยทหารบก…
ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่เป็นหมอประจำพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและหม่อมคัทรีน พระชายา อีกด้วย…
หมอเหล็งเป็นผู้ที่สนใจต่อการศึกษา ชอบอ่านหนังสือโดยเฉพาะการเมืองและความเจริญของนานาประเทศ เมื่อน้องชาย ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และคณะ มาชักชวนให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงลัทธิการปกครอง ท่านจึงเข้าร่วมด้วย…
แต่การก่อการครั้งนั้นไม่ประสบผล ถูกจับได้เสียก่อน จึงต้องราชอาญาจำคุกตลอดชีวิตและถูกถอดออกจากบรรดาศักดิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดสุทัศน์ แล้วออกมาดำเนินอาชีพเป็นแพทย์อีกครั้ง…
โดยตั้งห้างขายยาชื่อ “โยคีสถาน” ที่ตึกวิมานนวรัตน์ (คือ ตึกโรงหนังแคปปิตอลหรือต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เจริญกรุงเธียเตอร์ ที่คลองถม) ก่อนจะย้ายมาเปิดที่ประตูสามยอด โดยใช้ชื่อใหม่ว่า “ห้างขายยาศรีจันทร์”…
ช่วงเวลานี้เองหมอเหล็งได้เขียนตำราทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยขึ้นหลายเล่ม เช่น ตำราวัฒนายุ ที่แนะแนวทางการปฏิบัติให้อายุยืน ทั้งในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจ…
ตำราสิเนหา ว่าด้วยวิทยาศาสตร์แห่งความรัก และ ตำราฝึกหัดเด็ก เป็นต้น…
ส่วนที่มาของชื่อ ซอยหมอเหล็ง ก็เพราะท่านมีบ้านอยู่ในซอยดังกล่าว เข้าใจว่าจะเป็นบ้านที่มาอาศัยหลังจากออกจากคุกแล้ว เพื่อปลีกวิเวกหลบลี้ผู้คน…
ด้วยในอดีตพื้นที่ซอยดังกล่าวเป็นสวน ห่างไกลผู้คน และมีคลองยาวเชื่อมออกไปถึงคลองสามเสนได้ ก่อนที่จะขยับขยายย้ายไปสร้างบ้านหลังใหญ่ที่บางซื่อในเวลาต่อมา…
ปัจจุบันห้างขายยาศรีจันทร์ได้ขายกิจการไปแล้ว ที่เหลืออยู่คือ ตำรับ “ผงหอมศรีจันทร์” ซึ่งทุกวันนี้โด่งดังในรูปลักษณ์ใหม่ ภายใต้กิจการของ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด…
ซึ่งซื้อกิจการของห้างขายยาศรีจันทร์ มาผนวกกับห้างเดิมของตน คือ ห้างขายยาสหโอสถ นั่นเอง…
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย