5 เม.ย. 2022 เวลา 02:54 • นิยาย เรื่องสั้น
ทฤษฎีคนโง่ วิจัยเผย! ทำไมคนโง่ถึงไม่คิดว่าตัวเองโง่
ทำไมโง่แล้วไม่อยู่เงียบ ๆ ทำไมคนโง่อวดฉลาด เพราะจริง ๆ แล้ว คนโง่มักไม่รู้ว่าตัวเองโง่ มาดูงานวิจัยเผยกัน ว่าทำไมคนโง่ถึงไม่คิดว่าตัวเองโง่
หลาย ๆ คนก็คงจะมองบนและแอบแบะปากให้ “บางคน” ที่รู้สึกว่า ทำไมช่าง “ฉลาดน้อย” ขนาดนี้ ถึงจะเข้าใจได้ ว่าคนเราเกิดมาไม่มีใครเก่งหรือเพอร์เฟกต์ 100% และสามารถฝึกฝนกันได้ แต่ถ้าคน ๆ นั้นมองว่าตัวเองฉลาดพอที่จะไม่ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่ม กลายเป็น “คนโง่อวดฉลาด” สวนทางกับความรู้ที่มีอีก แถมอีโก้ที่มียังสูงเสียดฟ้า ถ้าเจอคนแบบนั้นก็คงจะน่าหงุดหงิดไม่ใช่น้อยใช่ไหมล่ะคะ มาดูวิจัยเผยกันค่ะ ว่าทำไมคนโง่ถึงไม่คิดว่าตัวเองโง่
อย่างที่ชาลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ The Descent of Man ว่า “Ignorance more frequently begets confidence than does knowledge” หรือ “ความเขลามักก่อให้เกิดความมั่นใจ มากกว่าความรู้”
หลาย ๆ คนอาจจะเคยเล่น หรือเคยได้ทดลองใช้น้ำมะนาวเป็นหมึกล่องหน โดยการใช้น้ำมะนาวเขียนตัวอักษรลงไปกระดาษ แล้วปล่อยให้แห้ง บนกระดาษนั้นอาจจะดูไม่มีอะไร แต่เมื่อเอากระดาษไปลนไฟ ก็จะมองเห็นตัวอักษรที่เขียนไว้ ซึ่งการทดลองนี้เอง เป็นแรงบันดาลใจให้โจรคนหนึ่ง ใช้น้ำมะนาวทาหน้า แล้วเข้าไปปล้นธนาคาร ถึง 2 ที่ติดกัน เพราะเชื่อว่าน้ำมะนาว จะสามารถทำให้หน้าของเขาล่องหน และไม่สามารถบันทึกได้ด้วยกล้องวงจรปิด!
คดีนี้ถือเป็นคดีที่ดังมาก ๆ และเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทำให้นักวิจัย David Dunning และ Justin Kruger ค้นหาเหตุผลที่ว่า ทำไมคนที่ไม่รู้ หรือไร้ความสามารถ ถึงไม่มีทางรับรู้ถึงระดับความสามารถที่แท้จริงของตัวเอง และนำไปสู่การประเมินตัวเองที่สูงกว่าความเป็นจริง หรือทำไมคนโง่อวดฉลาด และมีความมั่นแบบผิด ๆ
โดยในการทดลอง เขาได้ให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 64 คน ทดสอบความสามารถในด้าน อารมณ์ ตรรกะ และไวยากรณ์ ผลปรากฎว่า คนที่มีความสามารถน้อย มักจะประเมินตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อเทียบกับเกณฑ์วัตถุประสงค์ อย่างผลการประเมินที่เป็นเกณฑ์ อยู่ที่ 12 แต่คนที่มีความสามารถน้อย ประเมินอยู่ที่ 62 นับว่าต่างกันถึง 50 จุดเลยทีเดียว และเขาได้ให้ผู้เข้าร่วมคนอื่นมาทำการประเมินความสามารถของคนเหล่านั้นที่ประเมินตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงอีกครั้ง เมื่อคนเหล่า
นั้นได้รับคะแนนการประเมินที่ต่ำ ก็จะไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองจะต้องปรับปรุง แต่ก็มักจะยกคะแนนที่ประเมินตัวเองสูงขึ้นมาอ้าง และเอามายืนยัน ซึ่งอุปสรรคของคนโง่อวดฉลาด คือ อคติทางการรับรู้ (Cognitive Bias) โดยคนที่โง่นั่น มักจะมีอคติ และไม่สามารถรับรู้ถึงความสามารถที่แท้จริงของตัวเองได้ อย่างคนปกติ ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่ฉลาด ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ แต่คนโง่มักจะมีความมั่นใจแบบผิด ๆ ซึ่งการที่จะรับรู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถได้ คือการหาความรู้เพิ่มเติม และพัฒนาตัวเอง และยอมรับให้ได้ก่อน ว่าตัวเอง “ไม่รู้”
Cr. https://www.wongnai.com/articles/dunning-kruger-effect Cr. https://mhc7.go.th/archives/7878 Cr.https://thematter.co/thinkers/human-intelligence/54811
หลังจากฝึกผู้เข้าร่วมที่ได้คะแนนต่ำสุดในด้านการให้เหตุผลเชิงตรรกะ พวกเขาได้พบว่า นอกจากคะแนนจะดีขึ้นแล้ว เมื่อความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น ก็ยังทำให้การตระหนักรู้ในตัวเองเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยปรากฎการ คนโง่อวดฉลาดนี้ ถูกเรียกว่า The Dunning-Kruger Effect เป็นเกียรติให้กับ Dunning และ Kruger ที่ได้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมานั่นเอง และรางวัลของเขาก็ได้รางวัล Ig Nobel อีกด้วย
ซึ่งความคิดของคนโง่อวดฉลาดนั้นจะแตกต่างจากคนเก่ง เพราะคนเก่งมักมองว่า “ใคร ๆ ก็สามารถทำได้” เพราะว่าตัวเองมีความสามารถ และมองว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้ามีการฝึกฝน หรือสั่งสมประสบการณ์ ก็อาจจะทำได้ดีกว่า หรือเก่งกว่าตัวเองก็ได้ เหมือนความคิดของคนที่เป็น Imposter Syndrome
แน่นอนว่าความไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด และความมั่นใจก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่ คนเราสามารถฝึกฝนกันได้ และมีความมั่นใจในตัวเองได้ แต่การที่มั่นใจในสิ่งที่ไม่รู้ มั่นใจในแบบผิด ๆ ดึงดันที่จะทำในสิ่งที่ไม่รู้ต่อไป ก็ไม่เกิดผลดีกับใครทั้งนั้น บางครั้ง อาจจะต้องฟังเสียงจากคนรอบข้างบ้าง เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ลดอคติลง เพราะบางครั้งที่คนรอบข้างเตือน หรือติ ก็แค่อยากจะช่วยดึงสติแค่นั้นเอง
โฆษณา