7 เม.ย. 2022 เวลา 13:02 • หนังสือ
การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนที่มีคุณภาพ
การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพ สามารถสร้างกำไรได้ดี แต่อะไรกันล่ะที่บ่งบอกว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ? ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่กำลังตามหาคำตอบนี้อยู่ล่ะก็ผมแนะนำให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ
หนังสือเล่มนี้นั้นจัดทำโดย AKO Capital บริษัทจัดการกองทุนในลอนดอนที่อัตราการเติบโตถึง 9.4% พวกเขาได้เล็งเห็นว่าการลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้นมีรูปแบบที่คล้ายๆเดิม จึงได้จัดทำหนังสือที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึงปัจจัยต่างๆที่ต้องวิเคราะห์ในบริษัท ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นเพียงแค่หนังสือที่จะแจกจ่ายให้แก่คนในองค์กร แต่เนื่องจากเนื้อหาที่กว้างและมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เขาจึงได้จัดจำหน่ายให้แก่คนทั่วไปด้วย
ส่วนตัวแล้วหนังสือเล่มนี้เปิดโลกผมมากเลยครับ ไม่น่าเชื่อว่าการลงทุนในบริษัทหนึ่งจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่มากมายขนาดนี้ บางปัจจัยที่ดูเหมือนไม่สำคัญแต่ก็แฝงไปด้วยอันตรายมากมายที่ต้องระมัดระวัง และในหนังสือก็ได้แทรกกรณีศึกษาของบริษัทต่างๆให้เราได้เข้าใจถึงความสำคัญของปัจจัยนั้นๆ เป็นหนังสือที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดจริงๆ
โดยผมก็ได้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ไว้ 3 ข้อด้วยกันครับ
1.พื้นฐานบริษัท
การพิจารณาถึงตัวบริษัทเราควรพิจารณาจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) หรือจากภาพเล็กไปยังภาพใหญ่ เนื่องจากถ้าเราพิจารณาจากภาพใหญ่ก่อน ความซับซ้อนและรายละเอียดที่เยอะนั้นจะทำให้เราประเมินบริษัทผิดพลาดไปได้ ดังนั้นเราจึงควรพิจาณาถึงปัจจัยภายในบริษัทก่อนและค่อยไปพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ
แน่นอนว่าเราต้องการบริษัทที่มีความสามารถในการสร้างกำไรที่ยั่งยืน เติบโตได้ในระยะยาว เราจะพิจาณา 3 ตัวชี้วัดนี้ซึ่งสามารถขับเคลื่อนความสามารถในการสร้างกำไรของบริษัทได้
ผลตอบแทน
ผลตอบแทนที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีนั่นก็คือ ROE ROA หรือ P/E เป็นต้น ซึ่งเป็นมูลค่าทางบัญชีที่หลายคนนิยมนำมาใช้เป็นตัวชี้วัด แต่เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวสามารถคลาดเคลื่อนหรือถูกบิดเบือนได้ ภายในเล่มนี้จึงให้ความสำคัญในเรื่องของผลตอบแทนที่เป็นเงินสดมากกว่า
Cash Return on Capital Investment (CROCI) คือ อัตราผลตอบแทนที่เป็นเงินสดต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงานของบริษัท ตัวเลขนี้จะแสดงถึงความสามารถของบริษัทในการสร้างกำไรที่เป็นเงินสดเมื่อเทียบกับแหล่งเงินทุนต่างๆ หรือพูดง่ายๆคือ ลงทุนไปเท่านี้จะได้ผลตอบแทนเป็นเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนโฟกัสกับกำไรที่เป็นเงินสดแทนที่จะเป็นตัวเลขทางบัญชีนั่นเอง
คิดโดยใช้ กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) หารด้วยเงินลงทุน (Capital Invested) โดยเงินลงทุนจะรวมทั้งส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้ระยะยาวด้วย
การหมุนเวียนสินทรัพย์ (Asset Turns)
จะแสดงถึงความสามารถของบริษัทในการสร้างรายได้เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม การมีตัวเลขที่สูงจึงหมายความว่าบริษัทสามารถสร้างยอดขายได้มากโดยใช้สินทรัพย์เพียงเล็กน้อยนั่นเอง
โดยคิดได้จาก ยอดขาย หารด้วย สินทรัพย์รวมเฉลี่ย
การมีตัวเลขที่สูงนั้นเป็นผลดี เพราะใช้ทุนน้อยในการสร้างรายได้ แต่ก็หมายความได้ว่าบริษัทนั้นอาจจะเจอกับการแข่งขันที่ดุเดือดในอนาคต เพราะใช้ทุนน้อย ใครๆก็เข้ามาแข่งขันได้นั่นเอง
ผลตอบแทนที่เป็นเงินสดจากการลงทุน (CFROI)
เป็นการวัดความสัมพันธ์ระหว่างกระแสเงินสดเทียบกับต้นทุนของบริษัท บ่งบอกความสามารถในการดำเนินธุรกิจของบริษัท การสร้างรายได้ และการใช้จ่าย โดยคิดได้จาก กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Operating Cash Flow) คือเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายเพื่อให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้ หารด้วย เงินทุน (Capital Employed) คือ สินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินหมุนเวียน
จากการศึกษาของ Goldman Sachs และ Credit Suisse มีใจความไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลตอบแทนที่เป็นเงินสดจากเงินลงทุน (CFROI) จะสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของบริษัท
นอกจากเรื่องการเงินแล้ว การพิจารณาถึงตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าสิ่งที่มอบให้แก่ลูกค้านั้นมีคุณค่าที่จับต้องได้ยาก ยากที่จะประเมินเป็นตัวเลข เช่น การส่งเสริมภาพลักษณ์ รสชาติอาหาร ความปลอดภัย ความสวยความงาม เป็นต้น คุณค่าแบบนี้ก็จะสามารถขึ้นราคาได้ง่าย
ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ก็เช่นกัน การที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่ซ้ำกับที่อื่น แน่นอนว่าปัจจัยทางด้านราคาจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าพิจารณาเป็นอย่างแรก เพราะงั้นการสร้างความแตกต่างจึงเหมือนกับการตัดตัวเปรียบเทียบของลูกค้าออกไป ทำให้ลูกค้าพิจารณาเพียงแค่คุณภาพเทียบกับราคาของตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นเพียงบริษัทเดียว
2. อุตสาหกรรม
ถัดจากภาพเล็กแล้ว ภาพใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นตัวอุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นอยู่ เราจะพิจาณาว่าอุตสาหกรรมนั้นมีการแข่งขันอยู่ในรูปแบบใด การแข่งขันสมบูรณ์ ผู้แข่งขันน้อยราย หรือผูกขาด
แน่นอนว่าเราชื่นชอบบริษัทที่มีคู่แข่งน้อยๆครับ สิ่งที่เราต้องดูคืออุปสรรคในการเข้ามาแข่งขันของคู่แข่ง ถ้าเกิดอุตสาหกรรมนั้นมีคู่แข่งเกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็จะแสดงให้เราเห็นว่าอุตสาหกรรมนั้นมีอุปสรรคที่ต่ำ ถ้าเป็นแบบนี้คู่แข่งที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆจะพยายามแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทไปหมด ถ้าบริษัทไม่มีกลยุทธ์ที่สมเหตุสมผลในการแข่งขัน เราจะพยายามหลีกเลี่ยงอุตสาหกรรมแบบนี้ครับ
เมื่อพูดถึงกลยุทธ์แล้ว กลยุทธ์ในการสร้างความเติบโตของบริษัทก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ การเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไป แต่ก็มีประสิทธิภาพมากเนื่องจากใช้ความถนัดในอุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นอยู่อยู่แล้ว บริษัทที่ดีจึงควรมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดก็มีข้อจำกัด บริษัทที่มีขนาดใหญ่ไม่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้สม่ำเสมอได้ตลอด การเจาะตลาดกลุ่มใหม่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถึงแม้จะมีความท้าทายแต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมากมายเนื่องจากฐานลูกค้าไม่ได้ถูกจำกัดอีกต่อไป
บริษัทที่สามารถเจาะกลุ่มตลาดใหม่ได้นั้นจะต้องมีความยืดหยุ่นทางกลยุทธ์ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป บริษัทจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้อย่างรวดเร็ว
การควบรวมกิจการก็เป็นกลยุทธ์ที่หลายบริษัทเลือกใช้ เพราะสามารถเพิ่มเครือข่ายในการขนส่งสินค้า เพิ่มฐานลูกค้า สร้างภาพลักษณ์ที่แปลกใหม่ และเพิ่มความหลากหลายให้แก่ตัวสินค้า แต่ความเสี่ยงของกลยุทธ์นี้คือคุณค่าของบริษัทที่ถูกซื้อนั้นอาจจะถูกทำลายได้ กลายเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแทน
สิ่งที่ต้องระวังสำหรับบริษัทที่กำลังเจาะกลุ่มตลาดใหม่ คือความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เคยมีอยู่ในตลาดเดิม แต่อาจจะใช้ไม่ได้ในตลาดใหม่ เช่น นโยบายของภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐาน ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) หรือ ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์
3. ความผิดพลาด
วัฐจักร
ความเป็นวัฐจักรนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทและนักลงทุนทุกคนต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การขึ้นๆลงๆของผลกำไรและความต้องการของลูกค้านั้นส่งผลให้บริษัทต้องเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากหากคาดการณ์ผิดพลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ผลประกอบการส่วนใหญ่มาจากการลงทุน ในช่วงวัฐจักรที่เป็นขาขึ้นนั้น บริษัทเหล่านี้ที่มีผลประกอบการที่ดีจะทุ่มเงินให้กับการลงทุนก่อสร้างหรือโปรเจกต์ใหญ่ๆต่างๆ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัฐจักรขาลง บริษัทเหล่านี้ก็จะเลื่อนหรือยกเลิกการลงทุนดังกล่าวไป
บริษัทที่มีผลประกอบการจากการดำเนินงานจึงมีความยั่งยืน อยู่รอดในช่วงวัฐจักรที่เป็นขาลงได้มากกว่า เช่น การซ่อมบำรุง การผลิตสินค้า เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นช่วงวัฐจักรขาลง บริษัทเหล่านี้ก็ยังต้องให้บริการต่อไปจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
แต่ข้อดีของวัฐจักรขาลงก็คือการที่บริษัทที่แข็งแกร่งสามารถลงทุนในการขยายกิจการ โฆษณาและโปรโมชั่นในราคาที่ถูก ในขณะที่บริษัทอื่นๆกำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบากและลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป บริษัทที่แข็งแกร่งอยู่แล้วจึงยิ่งแข็งแกร่งไปอีกหลังจากผ่านช่วงวัฐจักรขาลง
สำหรับนักลงทุนแล้วการจับจังหวะซื้อขายการลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการรับมือกับความเป็นวัฐจักร การมีความคิดที่ว่าวัฐจักรขาขึ้นนั้นจะยั่งยืนเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจกับวัฐจักรในอุตสาหกรรมที่เราลงทุนจึงสำคัญอย่างมาก
ความน่าเบื่อ
การลงทุนที่มีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่หวือหวา มีผลกำไรเติบโตที่ไม่สูงมากนักแต่มีความยั่งยืนในระยะยาว นักลงทุนต้องอดทนกับความน่าเบื่อนี้ให้ได้ ไม่เข้าไปชุลมุนกับการลงทุนระยะสั้นที่ถึงแม้จะมีผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มาพร้อมกับความผันผวนและคาดการณ์ได้ยาก
การมีผลกำไรที่แพ้ตลาดในบางช่วงเวลาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องเจอและต้องอดทน บริษัทที่มีคุณภาพจะผ่านพ้นวัฐจักรขาลงและในท้ายที่สุดจะให้ผลตอบแทนที่ชดเชยข้อเสียเหล่านี้ ในระยะยาวพลังแห่งการทบต้นของบริษัทที่มีคุณภาพนั้นจะแสดงคุณค่าออกมาให้นักลงทุนได้ประจักษ์
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้เท่านั้นครับ เนื้อหาส่วนอื่นก็มีความน่าสนใจและให้แง่คิดต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อย่างดีมากๆ ยอมรับเลยว่าการสรุปหนังสือเล่มนี้ท้าทายสำหรับผมมากเพราะเนื้อหามันละเอียดมากจริงๆ(ฮา) สำหรับใครที่มีข้อสงสัยว่าบริษัทที่มีคุณภาพนั้นเป็นอย่างไร หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบผมหวังว่ามันจะตอบคำถามทุกคนได้นะครับ เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผมแนะนำสำหรับนักลงทุนสายเน้นคุณค่าที่ต้องหามาอ่านกันให้ได้เลย!
โฆษณา