11 เม.ย. 2022 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หุ้นถูกหรือแพง วิธีดูแบบง่าย ๆ
ถ้ามีหุ้นให้เลือก ระหว่าง หุ้น A ราคา 50 บาทต่อหุ้น กับ หุ้น B ราคา 20 บาทต่อหุ้น ทุกคนคิดว่าหุ้นตัวไหนราคาถูกกว่ากัน ?
3
ถ้าดูผ่าน ๆ จะคิดว่า หุ้น B มีราคาถูกกว่า หุ้น A (เงินจำนวน 20 บาท นั้นถูกกว่า 50 บาทแน่นอน)
✍️ แต่ในโลกของการลงทุนมีคำกล่าวที่ว่า “ราคาคือสิ่งที่คุณจ่ายไป แต่มูลค่าคือสิ่งที่คุณได้รับมา” มันเป็นคนละสิ่งกัน
นั่นหมายความว่า หุ้นจะถูกหรือแพง มันขึ้นอยู่กับราคาที่เราซื้อ ว่าสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าของหุ้นตัวนั้น
📌 ถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง = ซื้อหุ้นได้ที่ราคาถูก เหมือนได้ซื้อสินค้าตอนลดราคา
แต่ถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง = ซื้อหุ้นที่ราคาแพงไป
ดังนั้น หุ้น B ที่ราคา 20 บาท จึงไม่ได้หมายความว่าจะราคาถูกกว่าหุ้น A ที่ราคา 50 บาท
สิ่งที่เราต้องดู คือ มูลค่าของหุ้น A และ หุ้น B ว่ามีค่าเท่าไหร่ ?
1
ในโลกของการลงทุนจึงมีวิธีง่าย ๆ ที่นำตัวเลขบางอย่างมาเปรียบเทียบกับราคาหุ้น (Price) ที่เราซื้อมา เพื่อจะบอกว่าเราซื้อหุ้นตัวนี้มาถูกหรือแพงกว่าที่ควรจะเป็น
เราเรียกสิ่งนี้กันว่า “การประเมินมูลค่าหุ้นเชิงเปรียบเทียบ” ซึ่งมีเครื่องมือทั้งหมด 3 ชิ้น ได้แก่ P/E, P/S และ P/BV
2
1. P/E (Price to Earnings Ratio) คือ อัตราส่วนทางการเงินยอดนิยม ที่ใช้วัดความถูกแพงของหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือใช้เทียบกับความถูกแพงในอดีตของหุ้นตัวเดียวกันก็ได้
1
P/E = ราคาหุ้น / กำไรต่อหุ้น (EPS)
P/E สูง = หุ้นตัวนั้นมีราคาแพง เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไร (แสดงว่าไม่น่าลงทุน)
P/E ต่ำ = หุ้นตัวนั้นมีราคาถูก เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไร (แสดงว่าน่าลงทุน)
1
ตัวอย่างเช่น หุ้น A ราคา 50 บาทต่อหุ้น และมี EPS ที่ 5 บาทต่อหุ้น แสดงว่า P/E ของหุ้น A จะเท่ากับ 50/5 = 10 เท่า
ส่วนหุ้น B มีราคา 20 บาทต่อหุ้น และมี EPS ที่ 1 บาทต่อหุ้น แสดงว่า P/E ของหุ้น B จะเท่ากับ 20/1 = 20 เท่า
🔹 สรุป คือ แม้ว่าราคาหุ้น A จะสูงกว่า หุ้น B แต่ด้วยความสามารถในการทำกำไรของหุ้น A ที่สูงกว่า หุ้น B ค่อนข้างมาก ทำให้หุ้น A มีค่า P/E ที่ต่ำกว่า (ถูกกว่า) และดูน่าลงทุนมากกว่านั่นเอง
2. P/S (Price to Sales Ratio) คือ อัตราส่วนการเงินที่ใช้วัดความถูกแพงของราคาหุ้น คล้ายกับ P/E แต่ P/S มักนิยมใช้ในการวัดความถูกแพงของหุ้นเติบโต ที่ยังไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ แต่การเติบโตของยอดขายมีแนวโน้มขยายตัวสูงมากในแต่ละปี
เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในต่างประเทศ ที่รายได้เติบโตสูงมาก ในหนึ่งปีอาจเติบโตได้ถึงหลักร้อยเปอร์เซ็นต์ และจำนวนผู้ใช้งานก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่บริษัทยังไม่มีกำไร เพราะต้องทุ่มเงินไปกับค่าใช้จ่ายในการขายและโฆษณา เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ
P/S = มูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) / ยอดขายของบริษัท
มูลค่าตามราคาตลาด = ราคาหุ้น x จำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
สมมุติว่าหุ้น C มีมูลค่าตามราคาตลาดล่าสุดที่ 113,000 ล้านบาท และมียอดขายทั้งปี 33,000 ล้านบาท แสดงว่า P/S ของหุ้น C จะเท่ากับ 113,000 / 33,000 = 3.4 เท่า
🔹 ค่า P/S ไม่มีเกณฑ์ตายตัว ว่าควรมีค่าอยู่ที่เท่าไหร่ โดยทั่วไปมักใช้ P/S ในการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้า P/S ของหุ้น A สูงกว่า P/S เฉลี่ยอุตสาหกรรม แสดงว่าหุ้น A ราคาถูก แต่ถ้าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แสดงว่าหุ้น A ราคาแพง
1
📢 เนื่องจาก P/S ไม่ได้สะท้อนเรื่องกำไร แม้ยอดขายของบริษัทจะเติบโตดีมาก แต่ไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตบริษัทจะมีกำไรหรือไม่ เราจึงควรดูอัตราส่วนการเงินอื่นประกอบด้วย เพื่อให้เห็นภาพรวมมากขึ้น
1
3. P/BV (Price to Book Value) คือ อัตราส่วนการเงินที่ใช้เปรียบเทียบราคาหุ้น กับ มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) เพื่อบอกว่าเราซื้อหุ้นในราคาถูกหรือแพงกว่าเจ้าของ (ส่วนของผู้ถือหุ้น)
1
P/BV = ราคาหุ้น / มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น
มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น = ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) / จำนวนหุ้นทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น หุ้น D ราคา 15 บาทต่อหุ้น และมีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น แสดงว่า P/BV ของหุ้น D จะเท่ากับ 15 / 10 = 1.5 เท่า ตีความได้ว่าถ้าเจ้าของถือหุ้นที่ราคา 1 บาทต่อหุ้น เราจะซื้อหุ้นตัวนี้ในราคาแพงกว่าเจ้าของที่ 0.5 บาทต่อหุ้น
🔹 ข้อดีของ P/BV คือ มีเกณฑ์ที่ชัดเจน คือ P/BV ที่มากกว่า 1 เท่า แสดงว่าเราซื้อหุ้นแพงกว่าเจ้าของ แต่ถ้า P/BV มีค่าน้อยกว่า 1 เท่า แสดงว่าเราซื้อหุ้นถูกกว่าเจ้าของ
แต่การซื้อหุ้นที่มีค่า P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นทันที ตัวอย่างในปัจจุบัน หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ซื้อขายกันที่ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ราคาหุ้นกว่าจะปรับตัวขึ้นก็ต้องใช้เวลานาน และยังไม่สามารถกลับมายืนเหนือที่ P/BV ระดับ 1 เท่า ได้เลย
1
📌 สุดท้ายนี้ การดูว่าหุ้นถูกหรือแพง เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่ช่วยเราในการตัดสินใจลงทุน แต่การลงทุนที่ดีไม่ควรดูที่ราคาเพียงอย่างเดียว
หุ้นราคาถูกไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าซื้อได้เลยเสมอไป เราควรดูอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่นร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเราได้ซื้อของดีมีคุณภาพในราคาถูก
ดังคำที่ว่า
ราคาคือสิ่งที่เราซื้อ แต่มูลค่าคือสิ่งเราได้รับ
เบนจามิน เกรแฮม บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์
2
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
1
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา