11 เม.ย. 2022 เวลา 02:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการตอนที่ 5: ทำไมทุกวันนี้จึงยังมีลิงเหลืออยู่?
ภาพชวนเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ
คนจำนวนมากมักตั้งคำถามว่า “หากวิวัฒนาการเกิดขึ้นจริง, และเราวิวัฒนาการมาจากลิงจริงๆแล้ว; เหตุใดจึงยังมีลิงเหลืออยู่ในทุกวันนี้?”
1
นอกจากนี้, ยังมีคำถามทำนองว่า หากวิวัฒนาการเกิดขึ้นจริง, หากสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงได้, ทำไมเราจึงไม่เห็นรอยต่อ (missing links) ระหว่างสิ่งมีชีวิตเลย.
คำถามเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างโจ่งครึ่มเกี่ยวกับวิวัฒนาการ.
1
บทความนี้จะมาขจัดความเข้าใจผิดเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป. เรามาเริ่มจากประเด็นแรกกันก่อน. สาเหตุที่ยังมีลิงเหลืออยู่ให้เราเห็นทุกวันนี้, นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้วิวัฒนาการมาจากลิง; แต่เรามี "บรรพบุรุษร่วมกัน" มาก่อนต่างหาก. นี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดยอดนิยมเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ. การกล่าวว่า เราวิวัฒนาการมาจากลิงไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าคนเกิดมาจากลิง, หรืออยู่ๆ ลิงก็คลอดลูกออกมาเป็นคน, ซึ่งหาได้เป็นเช่นนั้นไม่.
1
คนกับลิงวิวัฒนาการมาจากประชากรบรรพบุรุษที่แตกแขนงแยกสายออกจากกันเมื่อหลายล้านปีก่อน. สายหนึ่งนำไปสู่ลิงที่เราพบเห็นในทุกวันนี้; อีกสายหนึ่งนำไปสู่ลิงไร้หางหรือ apes,ซึ่งรวมคนเข้าไปด้วย.
เรามีต้นกำเนิดมาจากต้นไม้วิวัฒนาการต้นเดียวกัน; แต่อยู่กันคนละกิ่งก้าน.
ประเด็นถัดมาคือรอยต่อทางวิวัฒนาการ หรือ Missing link. หากสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์หนึ่งไปเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งได้จริง, เราน่าจะพบรอยต่อหรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสภาพครึ่งๆ กลางๆ (intermediate form of life) ระหว่างสายพันธุ์หนึ่งกับอีกสายพันธุ์หนึ่ง. ทว่า, สิ่งมีชีวิตในอดีตกาลสูญพันธ์ไปโดยปราศจากการถูกทำให้กลายเป็นฟอสซิล (fossilisation) เพราะกระบวนการกลายเป็นฟอสซิลนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยปัจจัยจำนวนมากมาประกอบกันอย่างถึงพร้อม. สิ่งมีชีวิตบางชนิดตายไปแล้วก็ถูกกิน, หรือไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ประจวบเหมาะซึ่งเอื้ออำนวยต่อการกลายเป็นฟอสซิล. ด้วยเหตุนี้, เราจึงไม่พบหลักฐานทางวิวัฒนาการอันเป็นรอยต่อระหว่างสิ่งมีชีวิตครบทุกสายพันธุ์.
2
แม้กระนั้น, เรายังโชคดีที่ได้พบ fossil ของสิ่งมีชีวิตที่แสดงลักษณะข้ามผ่าน (transitional form) อยู่บ้าง. ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันดีในการศึกษาทางวิวัฒนาการก็คือ Archaeopteryx lithographica, ซึ่งถูกค้นพบในปี ศ.ศ. 1860 ในประเทศเยอรมนี. Archaeopteryx เป็นภาษากรีกแปลว่า ปีกบรรพกาล; ส่วน lithographica แปลว่า ภาพพิมพ์หินปูน. ลองพิจารณาภาพด้านล่าง, ท่านจะเข้าใจและชื่นชมได้ทันทีว่า มันนับเป็นการตั้งชื่อที่งดงามเหมาะสมยิ่งนัก.
1
Archaeopteryx lithographica
Archaeopteryx มีลักษณะกึ่งๆระหว่างสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ปีก. มันถือครองลักษณะแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เช่น มีขากรรไกรที่มีฟัน, มีหางที่มีแกนเป็นกระดูก, มีกรงเล็บ, และมีนิ้วแยกกันบริเวณปีก (ในสัตว์ปีกปัจจุบันนิ้วไม่แยกกัน; เวลากินปีกไก่ KFC รวมทั้งไก่อื่นๆ, เราจะพบว่า กระดูกนิ้วในปีกหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง). สำหรับลักษณะที่เป็นสัตว์ปีกนั้นได้แก่ การมีขนแบบ feather, และนิ้วหัวแม่เท้าที่พับงอได้ไว้สำหรับลงจับเกาะกิ่งไม้. พิจารณาโดยภาพรวมแล้ว, Archaeopteryx มีลักษณะเป็นสัตว์เลื้อยคลานมากกว่าสัตว์ปีก. มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเป็น Mosaic- มีลักษณะของสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานมาประกอบผสมปนเปกัน.
2
สุดยอดการค้นพบซากดึกดำบรรพ์อีกชิ้นหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2004 โดย Neil Shubin: นั่นคือ, การค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เป็นลักษณะเป็น transitional form ระหว่างปลาและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำซึ่งมีชื่อว่า Tiktaalik roseae.
และนี่คือรูปภาพจำลองลักษณะของ Tiktaalik.
1
Tiktaalik roseae
มันมีเกล็ด, มีเหงือกและมีครีบที่มีแกนเป็นกระดูกเหมือนปลา; ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ: กล่าวคือ หัวมันแบนเหมือนหัวของ salamander, ตาและรูจมูกอยู่ด้านบนของหัว, และมีคอ, ซึ่งผิดกับปลาทั่วไปที่หัวกับไหล่เชื่อมติดกันโดยตรง. และที่น่าสนใจก็คือ การจัดเรียงตัวของกระดูกในครีบของมันมีจำนวนและตำแหน่งใกล้เคียงกับสัตว์บก- ระยางค์ของมันมีลักษณะเป็นกึ่งขากึ่งครีบ.
1
โลกเราเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์อันใหญ่โตโอฬารในที่ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งชีวิตถูกบันทึกเอาไว้; แต่เป็นการบันทึกที่ไม่สมบูรณ์. บางช่วงบางตอนขาดหายไปหรือยังไม่ถูกค้นพบ. แต่ก็เพียงพอสำหรับเรา, ผู้ซึ่งมาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้, ที่จะประติดประต่อเรื่องราวทั้งหมดที่มีและทำความเข้าใจภาพรวมและความเป็นมาเป็นไปของชีวิตบนโลก.
Darwin ให้ความเห็นว่า การคาดหวังว่าจะพบรอยต่อของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้. เขาเขียนว่า: “Nature may almost be said to have guarded against the frequent discovery of her transitional or linking forms” (Darwin, 1859). การเปรียบเปรยของ Darwin เป็นอะไรที่สะท้อนความเป็นจริงได้อย่างงดงาม. ธรรมชาติหากเป็นผู้หญิงก็เป็นผู้หญิงขี้อาย, หลบๆซ่อนๆ, ให้ความหวังเราบ้างในบางครั้ง, และทำตัวน่าค้นหาอยู่อย่างน่ารื่นรมย์ตลอดเวลา.
1
บรรณานุกรม
Coyne, J.A. (2009) Why evolution is true. Oxford: Oxford University Press.
Darwin, C. (1859) The Origin of Species. London: CRW Publishing Limited, 2004.
Dawkins, R. (2009) The Greatest Show on Earth. London: A Black Swan Book.
โฆษณา