10 เม.ย. 2022 เวลา 13:03 • การเกษตร
ความท้าทายของทุเรียนไทยในตลาดจีน
ในวันที่บัลลังก์อันดับ 1 กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก
มาเลเซีย เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และจีน รุมแย่งตลาด
4
“ทุเรียน” ผลไม้ยอดฮิตครองใจผู้บริโภคจีน และตลาดยังคงมีความต้องการบริโภคทุเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุก ปี อย่างปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 854,986 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี2563 ร้อยละ 7.20 ให้ผลผลิต 1,201,458 ตัน โดยกว่า 8 แสนตันส่งออกมาตลาดจีน เรียกได้ว่าผลผลิตเกือบร้อยละ 70 ป้อนสู่ตลาดจีนอย่าง ต่อเนื่อง
ในขณะที่จีนเริ่มปลูกทุเรียนเองในมณฑลไห่หนาน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการในตลาดได้อย่างเต็มที่ โดยจีนได้ทดลองปลูก ทุเรียนเองตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มจากสวนเงาะหัวเซิ่งเป่าถิง เขตปกครองตนเองชนชาติหลีและ เหมียวเป่าถิง (Baoting li and Miao Autonomous Country) ในมณฑลไห่หนาน ปลูกทุเรียน จำนวนราว 40 ต้น และต้นทุเรียนได้ออกดอกและติดผลแล้วเมื่อปี 2562 และได้ให้ผลติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปี
1
ในช่วงหลายปีมานี้ ทางสวนเงาะหัวเซิ่งเป่าถิงยังได้ทยอยขยายการเพาะปลูกทุเรียนจำนวน 200 หมู่ หรือราว 83 ไร่ (2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) สิ่งที่น่าสนใจคือ ความสำเร็จของการปลูกทุเรียนในครั้งนี้เป็นพลังขับเคลื่อนสู่การพัฒนาการเพาะปลูกทุเรียนในจีนอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการชาวจีนหันมาลงทุนเพาะปลูก ทุเรียนในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น
1
ปัจจุบันการเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานจะกระจุกตัวอยู่ที่อำเภอและเมืองทางตอนใต้ของไห่หนาน เช่น เป่าถิง ซานย่า เล่อตง และ หลิงสุ่ย เป็นต้น
สถิติจากสำนักวิจัยไม้ผลเขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน พบว่า ขณะนี้ มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ เพาะปลูกทุเรียนจำนวนกว่า 30,000 หมู่ หรือประมาณ 12,500 ไร่ โดยทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนานเป็นพันธุ์ต้นกล้าที่มาจากไทย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองและพิจารณาเพื่อเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่ดีและเหมาะแก่การเพาะปลูกในประเทศจีน
1
🔵 มาเลเซียส่งทุเรียนมูซานคิงท้าชน แถมจีนปลูกเองทุน 400 ล้าน
แม้ว่าไทยจะเป็นเพียงประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดก็ตาม แต่ไทยก็ยังมีคู่แข่งในตลาดที่สำคัญอย่างมาเลเซีย โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา จีนได้อนุญาตให้มาเลเซียนำเข้าเนื้อทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนติดเปลือกแช่แข็งทั้งลูกมายังจีนได้ ทำให้ทุเรียนพันธุ์มูซานคิงจากมาเลเซียได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน และยังพบว่ามีผู้ประกอบการจีนลงทุนทำสวนเพาะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงแล้วเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นสวนทุเรียนพันธุ์มูซานคิงขนาดใหญ่สวนแรกของจีน ตั้งอยู่ ณ ตำบลจื้อจ้ง ในอำเภอเล่อตง มณฑลไห่หนาน มีพื้นที่ขนาด 3,300 หมู่ หรือ 1,375 ไร่ ลงทุนโดยบริษัท Hainan Rouminghongxinhuolongguo ด้วยเงินทุนมูลค่ากว่า 80 ล้านหยวน (ประมาณ 400 ล้านบาท) และคาดว่าผลผลิตในแต่ละหมู่จะสูงถึง 2,500 กิโลกรัม
นอกจากสวนดังกล่าวจะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงแล้ว บางส่วนยังทำการเพาะปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์โอวฉี (หนามดำ) นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังได้ลงนามความร่วมมือในด้านการ เพาะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงกับทางรัฐบาลมาเลเซียอีกด้วย
1
สำหรับผลผลิตทุเรียนพันธุ์มูซานคิงในสวนคาดว่าจะสามารถออกจำหน่ายสู่ ท้องตลาดจีนได้ประมาณปี 2566 นี้ ซึ่งนอกจากการวางจำหน่าย ภายในประเทศแล้ว ทางบริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะส่งออกทุเรียนพันธุ์มู ซานคิงไปต่างประเทศอีกด้วย
🔵 เวียดนามโดดลงร่วมเล่นในตลาดจีน
ทางด้านทุเรียนเวียดนามก็รุกหนักไม่แพ้กัน ล่าสุดทางจีนและ เวียดนามได้ทำการตกลงว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบกักกันโรคพืชและสัตว์สำหรับการส่งออกทุเรียนเวียดนามเรียบร้อยแล้ว และกำลังรอการอนุญาตนำเข้าทุเรียนเวียดนามอย่างเป็นทางการจากฝ่ายจีน ซึ่งที่ผ่านมาจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของเวียดนาม โดยปริมาณการส่งออกทุเรียนมายังจีนของเวียดนามมีสัดส่วนคิดเป็น ร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตทุเรียนของเวียดนามทั้งหมด
1
แต่เนื่องจากปัจจุบัน เวียดนามยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนมายังจีนอย่างเป็นทางการ ทุเรียนเวียดนามจึงต้องนำเข้ามายังจีนผ่านชายแดน
สำหรับอุปสรรคการส่งออกทุเรียนของเวียดนามที่สำคัญก็คือ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า ซึ่งฝ่ายจีนกำหนดให้ทุเรียนที่ส่งออกมาจีนจะต้องมาจากเขตสวนและโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตและรับรองจากกระทรวงเกษตรและการ พัฒนาชนบทแห่งเวียดนาม
ด้านสปป. ลาว และฟิลิปปินส์ ไม่ปล่อยโอกาสหลุดลอย เพราะจีนกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาดนำเข้าทุเรียน ให้กับลาวและฟิลิปปินส์เช่นกัน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรนั้นยังคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: ปี 2564 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยคิดเป็นมูลค่า 27,213.69 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.40 (YoY) หรือคิดเป็นปริมาณ 821,540.34 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ42.65 (YoY )
1
แม้ไทยจะเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียนมายังจีน และเป็นประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้นำเข้าได้ทั้งทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งก็ตาม แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ไทยก็มีคู่แข่งส่งออกทุเรียนแช่แข็งที่สำคัญอย่างมาเลเซีย ในขณะที่เวียดนาม ลาว และฟิลิปปินส์ก็กำลังเร่งเจรจาขอเปิดตลาดจีน ตลอดจนทุเรียนท้องถิ่นในจีนเองที่กำลังจะ มีผลผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดจีนในอนาคตอันใกล้นี้
1
ท่ามกลางสถานการณ์การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนจีนที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยควรเตรียมรับมือให้พร้อม โดยควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตทุเรียนเป็นอันดับแรกทั้งมาตรฐาน GMP และ GAP ตลอดจนมาตรการป้องกันโรคระบาด เพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าตลาดจีน อีกทั้งยังควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคทุเรียนของผู้บริโภคชาวจีนอยู่เสมอ และนำไปพัฒนาสายพันธุ์และคุณภาพทุเรียนให้ถูกปากและตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนได้มากขึ้น
รวมถึงการประชาสัมพันธ์ทุเรียนไทยผ่านแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพของจีน เช่น TikTok, Weibo, Xiaohongshu, Kuaishou เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคทุเรียนไทยมากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถจดจำภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทย
นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังสามารถร่วมมือและเป็นพันธมิตรทางการค้ากับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ในจีน รวมถึงแพลตฟอร์มจำหน่ายผลไม้และอาหารสดของจีน ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า และ ร้านจำหน่ายผลไม้จีน เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายทุเรียนในตลาดจีนได้มากขึ้น และสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีนไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา