11 เม.ย. 2022 เวลา 17:45 • อาหาร
คุณเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร?
เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักสิ่งที่อยู่ทางซ้ายมือของรูปนี้อย่างแน่นอน และเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่รู้จักสิ่งที่อยู่ทางขวามือของรูป ถ้าฉันจะบอกว่าไอ้ที่อยู่ทางซ้ายมันไม่ใช่ปาท่องโก๋ หากแต่ไอ้ที่อยู่ทางขวาต่างหากที่เป็นปาท่องโก๋ตัวจริง คุณจะเชื่อไหม
“ปาท่องโก๋” สำหรับคนไทยที่เป็นลักษณะก้อนแป้งทอดสีน้ำตาลประกบคู่กัน รับประทานกับน้ำเต้าหู้ แต่คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมลักษณะนี้ว่า “อิ้วจาก๊วย” (油炸粿 โหยวจ๋ากั่ว) หมายถึงขนมทอดน้ำมัน ภาษาถิ่นของภาคใต้เรียกขนมทอดน้ำมันนี้ว่า จ้าโขย จาโขย หรือจากวย ภาษาฮกเกี้ยนออกเสียงว่า เจียะโก้ย ส่วนฉันออกเสียงตามญาติพี่น้องทางใต้ว่า จ่าโก้ย
ส่วน “ปาท่องโก๋” ความจริงแล้วมาจากภาษาจีนจากคำว่า 白糖糕 – ไป๋ถังเกา (ภาษาจีนถิ่นกวางตุ้งเรียกว่า “ปักถ่องโกว”) หมายถึง ขนมน้ำตาลขาว เป็นขนมทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักกับยีสต์และน้ำตาลทรายหลายชั่วโมงก่อนจะนำไปนึ่ง ทำออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปทรงและหน้าตาคล้ายไปทางขนมถ้วยฟูเสียมากกว่า
มีทฤษฎีหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ว่าทำไมมันถึงเกิดการเรียกชื่อแบบผิดฝาผิดตัวแบบนี้ขึ้นมาได้ เค้าบอกว่างี้ครับ คือสมัยก่อนเนี่ยเวลาพ่อค้าคนจีนหาบเร่ขนม 2 อย่างนี้ไปขาย ด้วยความที่ จ้าโขย หรือ จ่าโก้ย เนี่ย มันอึด ถึก และทน เวลาเอาไปขายก็ใส่หาบเดินขายได้เลย แต่ว่า ปักถ่องโกว ที่มันดูบอบบางและสกปรกง่ายเพราะเป็นสีขาว ก็เลยต้องมีผ้าขาวปิดหน้าไปก่อนจะออกเร่ขาย
ทีนี้พอถึงเวลาขายพ่อค้าก็คงจะตะโกนไปเดินไปว่า จ่าโก้ยยยย สลับกับ ปักถ่องโกววววว กันไปเรื่อยๆ คนที่หันมามองตามเสียงเรียกก็จะเห็นขนมสีเหลืองก่อนขนมสีขาวที่มีผ้าปิดอยู่ ก็เลยเกิดการเข้าใจผิดในชื่อและตัวขนมกันขึ้น
แล้วเจ้าขนมสีเหลืองก็ดันฮิตติดลมบนจนกระจายไปทั่วประเทศจนมั่นใจได้ว่าทุกจังหวัดจะต้องมีสิ่งนี้ให้กิน  แต่ในขณะที่ขนมสีขาวนั่น นอกจากที่เมืองตรังและบางหัวเมืองทางภาคใต้แล้ว ในภูมิภาคอื่นของประเทศมันมีให้กินหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกันครับ
ใครไปเมืองตรังถ้าอยากกินตัวทางซ้าย กรุณาถามหา จ่าโก้ย นะครับ ส่วนถ้าอยากลิ้มลองตัวทางขวา ก็ให้เรียกมันว่า ปักถ่องโกว หรือชื่อแบบไทยๆ ที่ฉันเพิ่งจะรู้ในคราวนี้ที่ลงใต้ไปคราวนี้นี่เองว่า ขนมขึ้น ดูนะครับ 
โฆษณา