12 เม.ย. 2022 เวลา 12:50 • การตลาด
อีก 5 ปีข้างหน้า
มาม่าจะมียอดขายตลาดต่างประเทศเท่าในไทย
หากมองเข้ามาที่ตัวเลขการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยแล้ว จะพบว่า มีประมาณ 53.2 ซองต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับการบริโภคเฉลี่ยของคนทั่วโลกที่มีอยู่แค่ประมาณ 15 ซองต่อคนต่อปี แล้ว จะพบว่า โอกาสการเติบโตของตลาดต่างประเทศยังเปิดกว้างรออยู่ เช่นเดียวกับในบ้านเราที่ยังน่าจะเติบโตได้อีก เพราะตัวเลขของประเทศที่บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปอันดับต้นๆ อย่างเกาหลีใต้จะมีมากถึง 70 ซองต่อคนต่อปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจของไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าที่มีออกมาก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีการวางเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ภายในอีก 5 ปี ยอดขายของมาม่าในต่างประเทศจะเท่ากับตลาดในไทย นั่นคือ จากยอดขายรวม 30,000 ล้านบาท ที่ขยับขึ้นจากปีล่าสุดประมาณ 14,000 ล้านบาทนั้น จะเป็นยอดขายจากตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 4,991 ล้านบาท ในปีล่าสุด เป็น 15,000 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว
ยิ่งเมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2524 ที่มาม่ามีสัดส่วนส่งออกอยู่แค่ 2% แล้ว ยิ่งน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ มาม่า จะก้าวไปสู่การเป็นโกลบอล แบรนด์ อย่างเต็มตัว....
ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ด มีโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในการส่งออกอยู่ในต่างประเทศ 4 แห่งคือที่ เมียนมา กัมพูชา บังคลาเทศ และฮังการี รวมถึงผลิตจาก 5 โรงงานในไทย คือ โรงงานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 แห่ง ได้แก่ ลำพูน, ชลบุรี, ระยอง และโรงงานเส้นขาว 2 แห่งอยู่ที่ราชบุรี โดยส่งออกไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก แบ่งสัดส่วนออกเป็น เอเชีย 50% ยุโรป 28% อเมริกา 18% แอฟริกา 1% และออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์อีก 3% โดยยอดขายตลาดต่างประเทศในปี 2564 โดยรวมอยู่ที่ 6,215 ล้านบาท แบ่งเป็นผลิตจากโรงงานในไทย 4,991 ล้านบาท และจาก 4 โรงงานในต่างประเทศ 1,224 ล้านบาท
2
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การทำตลาดต่างประเทศของมาม่านั้น เดิมจะใช้พันธมิตรที่เป็นดิสทริบิวเตอร์เป็นคนช่วยทำตลาดร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และการทำตลาดในช่องทางขายด้วยการมีบรรจุภัณฑ์หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสการขายมากขึ้น และตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ เช่น จากเดิมมาม่าที่ขายในต่างประเทศ บรรจุในกล่องขนาด 30 ซอง สำหรับขายให้กับคนเอเชีย แต่ต่อมามาม่า ขยายฐานลูกค้า ไม่ทำตลาดเฉพาะคนเอเชียที่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่เจาะไปยังคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ พร้อมกับทำบรรจุภัณฑ์หลากหลายขนาด เช่น Multi-pack, กล่องขนาดใหญ่ ช่วยเพิ่มทั้งโอกาสการขาย และ Display สินค้าให้เด่นขึ้น
ตามยุทธศาสตร์การเติบโตในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ มาม่า มีแผนที่จะขยายเข้าไปตั้งออฟฟิศในต่างประเทศ โดยเตรียมเปิดออฟฟิศในฮังการี, อินเดีย, มาเลเซีย และเวียดนาม จากนั้นในเฟส 2 มีแผนเปิดออฟฟิศในสหรัฐอเมริกา, ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกา
คุณพจนา พะเนียงเวทย์ รองผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ที่ดูแลตลาดส่งออก บอกว่า ปัจจุบัน การทำตลาดของมาม่าในต่างประเทศ 80% ยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มแมส ส่วนอีก 20% จะเป็นกลุ่มพรีเมียม และ High Value ซึ่งทิศทางจะเหมือนกับตลาดในประเทศที่จะเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมียมและ High Value เนื่องจากมีโอกาสในการเติบโตค่อนข้างดี ตามเทรนด์ของคนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น
การปรับพอร์ตสินค้าดังกล่าว สอดรับกับยุทธศาสตร์การทำตลาดของไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ ในประเทศไทย ที่มุ่งมาสู่สินค้าที่เป็น Value Base มากขึ้น จากเดิมที่มาม่าจะเป็น Volume Base ที่เน้นการทำกำไรจากปริมาณการขายจำนวนมากๆ
ในการนี้ จะมีการใช้เรื่องของ Innovation เป็นตัวนำ โดยมีการตั้งทีม Innovation เพื่อพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพมากขึ้น ทั้งการออกสินค้าที่เป็น High Value อย่างอาหารออแกนิกส์ และตัวพรีเมียม อย่างบะหมี่หรือเส้นขาว ที่ไม่มีกลูเต็น เป็นต้น
1
ส่วนหนึ่งของสินค้าจะถูกใช้ในการทำตลาดในบ้านเราด้วย อย่างการขยายจากสินค้าแมสมาสู่พรีเมียม ภายใต้แบรนด์ มาม่า OK อย่างตัวข้าวกิมจิ และตัวข้าวยำบิบิมบับ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น
1
“การขยายจาก Volume Base ไปสู่ Value Base เรายังคงอยู่บนหลักการของการทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าที่ใช้มาตลอดตั้งแต่อดีตคือ ต้องตอบโจทย์ความอร่อย สะดวก เก็บได้นาน ประหยัดทั้งเวลา และเงิน และปลอดภัย โดยเราจะมีการใช้ทีม Innovation เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทั่วโลก โดยจะใช้แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบ Agile ที่ตัวไหนเวิร์คก็จะทำต่อ ตัวไหนไม่เวิร์คจะถอดออก”
1
หากมองย้อนเข้ามาที่ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยที่มีปริมาณการขาย3,700 ล้านซองต่อปี มาม่า ครองตลาดอยู่ 50% เมื่อแยกออกเป็นแต่ละเซ็กเม้นต์แล้ว จะพบว่า ตลาดพรีเมียม ยังมีสัดส่วนอยู่แค่ประมาณ 20 – 25% ขณะที่กว่า 70% ยังคงเป็นตลาดแมสที่เป็น Volume Base
การขยับตัวครั้งใหญ่ของมาม่าที่จะฉลองครบรอบ 50 ปีในปีนี้จึงน่าสนใจไม่น้อย เพราะกำลังเบนเข็มจากการทำกำไรแบบปริมาณมาสู่การสร้างกำไรจากแวลู่ โดยมีตลาดต่างประเทศ เป็นอีกเป้าหมายสำคัญที่เปิดกว้างท้าทายความสามารถของมาม่า.....
#BrandAgeOnline #บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป #มาม่า
โฆษณา