16 เม.ย. 2022 เวลา 14:12 • สุขภาพ
## นักวิจัยเตือนห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์ อยู่ที่อับเสี่ยงสูงติดโควิด แนะสวมแมสก์มิดชิดตลอดเวลา ##
ทีมนักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะผู้จัดทำวิจัยหัวข้อ “ผลของหน้ากากและการระบายอากาศต่อความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อ SARS-CoV-2 ในระบบทางเดินหายใจในห้องน้ำสาธารณะ: ด้วยการประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์เชิงปริมาณ” ได้เปิดเผยผลวิจัย ระบุว่าห้องน้ำสาธารณะ และห้องอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ ทั้งเล็ก แคบ และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ของเชื้อโควิด-19 และวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการแพร่ระบาดคือ การสวมหน้ากากกรองอากาศให้มิดชิด
ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญประจำห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การแพร่ทางอากาศ (airborne) เป็นช่องทางหนึ่งในการระบาดของเชื้อโควิด-19 และการสวมหน้ากากเป็นวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดและง่ายที่สุด
“การสวมหน้ากากสามารถเริ่มได้ที่ตัวเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดที่ค่อนข้างแคบ แม้ว่าจะไม่เห็นว่ามีใครใช้ห้องน้ำมาก่อนหน้าเรา หรืออยู่ในลิฟต์ด้วยกัน ผลวิจัยก็ระบุว่าแม้จะรอ 10 นาทีแล้วมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่” ดร.ขวัญรวี กล่าว
ด้านดร.ธรรมณิษฐ์พล เด่นเพชรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ทั้งผ่านละอองฝอย (droplet) ซึ่งเป็นละอองน้ำมูก น้ำลายขนาดใหญ่ ที่จะตกลงสู่พื้นด้านล่างในระยะ 2 เมตร และแพร่เชื้อผ่านละอองลอย (aerosol) ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋ว เช่นเดียวกันฝุ่น PM2.5 และลอยค้างอยู่ในอากาศได้นาน หากเว้นระยะเวลาเข้าใช้ห้องน้ำต่อจากคนก่อนหน้า ร่วมกับการระบายอากาศในห้องน้ำ ระดับความเข้มข้นของเชื้อโรคจะน้อยลง
ดร.ธรรมนิษฐ์พล กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกใช้หน้ากากชนิดต่างๆ นั้น หน้ากากกรองอากาศ (respirators) เช่น N95, KN95, KF94, FFP2 เป็นต้น จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด-19 ในห้องน้ำและสถานที่สาธารณะ ในขณะที่หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพรองลงมา แต่ต้องพยายามสวมให้มิดชิดที่สุด ส่วนหน้ากากผ้าซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อาจมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป และหน้ากากผ้าธรรมดาบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกรองละอองไวรัส แต่หากไม่สวมหน้ากากเลย โอกาสติดเชื้อสูงมาก คือ หากมี 1,000 คน ก็ติด 1,000 คน คือเสี่ยงมากๆ แต่หากสวมหน้ากากตระกูล N95 และสวมอย่างถูกวิธี โอกาสติดอาจเป็น 1 ใน 100,000 คน” ดร.ธรรมณิษฐ์พล กล่าว
ดร.มนต์ชัย พุ่มแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ไม่แนะนำให้ถอดหน้ากากในห้องน้ำสาธารณะ หากมีความจำเป็น เช่น ต้องการล้างหน้า ให้กลั้นหายใจขณะล้างหน้า และเมื่อเสร็จธุระรีบสวมหน้ากากโดยเร็วที่สุด
ขณะที่ ผศ.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้แน่ใจได้ว่า ห้องน้ำสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีการสะสมของเชื้อโรค ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และควรใช้เวลาทำธุระในห้องน้ำให้น้อยที่สุด
ผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนาดังกล่าวได้ที่ https://fb.watch/cl4nGjqmKg/ หรืออ่านบทความต้นฉบับได้ที่ Effects of face masks and ventilation on the risk of SARS-CoV-2 respiratory transmission in public toilets: a quantitative microbial risk assessment
ขอขอบคุณ #มติชน ที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลดีๆ สามารถอ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3287909
╔═══════════╗
ZERO COVID THAILAND เพจสำหรับแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อช่วยยุติการแพร่กระจายของโควิด-19ในไทย
#กดไลค์และติดตามเพจ Zero C Thailand รวมพลังไทยลดยอดติดเชื้อ ให้เหลือ “0”
เพื่อรับแนวทางป้องกันโควิด-19 อย่างทันท่วงที งานวิจัย และ ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้น
╚═══════════╝
ติดตามเราได้ที่
#zerocovidthailand
#CovidisAirborne #โควิดแพร่ทางอากาศ
โฆษณา