19 เม.ย. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา Porsche ไล่ซื้อกิจการ Volkswagen แต่สุดท้ายโดนซื้อเสียเอง
1
“การซื้อกิจการ” นับเป็นกลยุทธ์ที่หลายบริษัทนิยมใช้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
แต่ใช่ว่า แผนซื้อกิจการจะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายเสมอไป
เพราะในบางครั้ง บริษัทที่ตกเป็นเป้าหมาย อาจไม่ยินยอมที่จะถูกครอบงำ
และตอบโต้ด้วยการแข่งซื้อกิจการของอีกฝ่ายกลับบ้าง
2
เหตุการณ์ลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นระหว่าง สองค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน
เมื่อ “Porsche” พยายามไล่ซื้อหุ้นของ “Volkswagen”
แต่สุดท้ายกลับพลาดท่า จนต้องยอมขายกิจการของตัวเองให้แทน
6
เรื่องราวในตอนนั้นเป็นมาอย่างไร
แล้วทำไมสถานการณ์ถึงพลิกผันได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
อันที่จริง Porsche และ Volkswagen นั้นมีความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่อดีต
3
เพราะคุณ Ferdinand Porsche ผู้ก่อตั้งบริษัท Porsche เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับ Volkswagen ในการออกแบบรถยนต์รุ่น Beetle ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ความคลาสสิกของ Volkswagen
3
และต่อมาในปี 1947 เขาก็นำเอาประสบการณ์จากโปรเจกต์ Beetle มาเป็นรากฐานในการพัฒนาและผลิตรถสปอร์ต จนสามารถสร้างอาณาจักร Porsche ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้
2
นอกจากนั้น คุณ Ferdinand Porsche ยังมีลูกสองคน คือคุณ Ferry และคุณ Louise
ซึ่งรู้ไหมว่า อีกหลายทศวรรษต่อมา
- ลูกของคุณ Ferry ชื่อว่าคุณ Wolfgang Porsche ก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัท Porsche
- ลูกของคุณ Louise ชื่อว่าคุณ Ferdinand Piëch ก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัท Volkswagen
7
และคงไม่มีใครคาดคิดว่า ในภายหลัง ทั้งสองบริษัทนี้จะเปิดศึกแย่งชิงกิจการกันอย่างดุเดือด..
1
กระทั่งในเดือนกันยายน ปี 2005 ผู้ที่เป็นฝ่ายเริ่มเดินเกมก่อน คือ Porsche
โดยบริษัทประกาศเข้าซื้อหุ้นของ Volkswagen ในสัดส่วนสูงถึง 20%
5
ในขณะนั้น Porsche มียอดขายรถยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 9.6 หมื่นคันต่อปี
ส่วน Volkswagen มียอดขายรถยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 5.1 ล้านคันต่อปี
ห่างกันหลายสิบเท่าตัว
1
ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่า Porsche ไม่น่าคิดการใหญ่ เพื่อครอบงำกิจการของ Volkswagen แบบเบ็ดเสร็จ เพียงแต่ต้องการรักษาผลประโยชน์ในการผลิตรถยนต์เท่านั้น
1
เนื่องจากที่ผ่านมา Volkswagen เป็นผู้รับจ้างผลิตรถยนต์รุ่น Cayenne ให้ Porsche ซึ่งถือเป็นรถ SUV ที่ได้รับความนิยมและสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ Porsche เป็นอย่างมาก
5
ที่น่าสนใจคือ ในเยอรมนีมีกฎหมายที่เรียกว่า Volkswagen Act ที่ระบุว่า
“หากผู้ใดถือหุ้น Volkswagen ในสัดส่วนเกินกว่า 20% จะมีสิทธิ์คัดค้านเสียงของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ได้ ทำให้ Porsche สามารถป้องกันไม่ให้การผลิตรถ Cayenne ได้รับผลกระทบใด ๆ ในอนาคต”
3
ประกอบกับ Volkswagen กำลังอยู่ในช่วงที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีนัก ส่งผลให้มูลค่าบริษัทลดลงราว 30% เทียบกับหลายปีก่อน จึงเป็นโอกาสทองที่ Porsche สามารถเข้าร่วมลงทุนในบริษัทพาร์ตเนอร์คนสำคัญ
1
แต่อย่างไรก็ตาม Porsche กลับไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะบริษัทได้ทยอยซื้อหุ้นของ Volkswagen อย่างต่อเนื่อง
1
ผ่านมาถึงปี 2008 บริษัท Porsche แถลงว่าสามารถเก็บหุ้น Volkswagen ได้แล้ว 42.6% และยังมีตราสารสิทธิที่จะซื้อเพิ่มอีก 31.5% ทำให้เกิดความชัดเจนว่า
Porsche ต้องการเทกโอเวอร์ Volkswagen จริง ๆ..
5
โดยในตอนนั้นคาดการณ์ว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของ Volkswagen จะเป็นดังนี้
- Porsche ถือหุ้นสัดส่วน 74.1%
- รัฐ Lower Saxony ถือหุ้นสัดส่วน 20.1%
- นักลงทุนรายย่อย ถือหุ้นสัดส่วน 5.8%
5
ซึ่งเรื่องนี้สร้างความตื่นตกใจให้ตลาดมาก
เพราะก่อนหน้านี้ ไม่มีใครเคยคิดว่า Volkswagen จะถูกเทกโอเวอร์ได้
และก็มีนักเก็งกำไรเปิดสัญญา Short Sell ไว้สูงเทียบเท่ากับ 12.8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
7
แต่พอเป็นเช่นนี้ นักเก็งกำไรเหล่านั้น ก็ต้องแห่กันไปซื้อหุ้นในตลาด ซึ่งมี Free Float อยู่ในระดับต่ำมาก เพื่อปิดสัญญา Short Sell ไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ ก่อนที่ Porsche จะมาไล่ซื้อหุ้นเพิ่ม จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Short Squeeze”
3
พอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้ราคาหุ้น Volkswagen พุ่งขึ้นจากราว 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เป็น 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ภายในเวลา 2 วัน
1
จนส่งผลให้ Volkswagen มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 12.4 ล้านล้านบาท กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่สุดของโลกในระยะเวลาหนึ่ง
1
มาถึงจุดนี้ หลายคนคงคิดว่า Porsche น่าจะคว้า Volkswagen มาครอบครองได้อย่างเหลือเชื่อ
แต่รู้ไหมว่าสุดท้าย กลับมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ทำให้ Porsche ไม่สามารถซื้อหุ้นได้ทั้งหมด..
- สาเหตุแรกคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกรายอย่างรัฐ Lower Saxony ไม่ยอมขายหุ้นออกมาง่าย ๆ เนื่องจากต้องการรักษาสิทธิ์การออกเสียงในบริษัท
1
เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโยกย้ายสำนักงานใหญ่ หรือฐานการผลิตของ Volkswagen ไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งเป็นผลเสียโดยตรงต่อเศรษฐกิจของรัฐ
3
- สาเหตุต่อมาคือ ตัว Porsche เอง ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะซื้อหุ้นส่วนที่เหลือแล้ว
2
เพราะที่ผ่านมาบริษัทใช้วิธีกู้เงินมาซื้อหุ้นของ Volkswagen ทำให้มีภาระหนี้สินกับสถาบันการเงิน 15 แห่ง สะสมรวมเป็นมูลค่ามากถึง 4 แสนล้านบาท..
1
โดยบริษัทวางแผนไว้ว่า เมื่อปิดดีลซื้อกิจการได้สำเร็จ ก็จะนำเงินสดของ Volkswagen ที่มีอยู่ในงบดุลราว 4 แสนล้านบาทเช่นกัน มาชำระคืนเงินกู้
แต่แล้วในช่วงดังกล่าว ก็ได้เกิดวิกฤติซับไพรม์ขึ้น
ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก และอุตสาหกรรมรถยนต์ ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยยอดขายของ Porsche ลดลงไปกว่า 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
2
จึงทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ระมัดระวังตัวมากขึ้น และไม่กล้าปล่อยเงินกู้ให้แก่ Porsche อีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ดีลการเทกโอเวอร์ Volkswagen จึงมาถึงทางตัน และ Porsche ก็เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะอาจจะไม่สามารถใช้คืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ทำให้มูลค่าบริษัทลดลงเป็นอย่างมาก
2
พอเห็นแบบนี้ Volkswagen ที่ตกเป็นฝ่ายตั้งรับมาตลอด ก็ใช้โอกาสนี้โต้กลับทันที
โดยประกาศเข้าซื้อหุ้นของ Porsche ในสัดส่วน 49.9% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท
6
และต่อมา Volkswagen จึงประกาศซื้อหุ้นของ Porsche ในส่วนที่เหลือทั้งหมด ในปี 2012 รวมเป็นมูลค่าดีลทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท ปิดฉากการแข่งซื้อกิจการครั้งนี้ไปในที่สุด
4
ทำให้ทุกวันนี้ เราจึงได้เห็น Porsche กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์รถยนต์ภายใต้เครือ Volkswagen ร่วมกับค่ายดังอื่น ๆ เช่น Audi, Lamborghini, Bentley, Ducati นั่นเอง..
7
เรื่องราวนี้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจอยู่หลายข้อด้วยกัน
ข้อแรกคือ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการหรือลงทุนใด ๆ ก็ตาม คงต้องมีการพิจารณาให้ละเอียดว่า
เรามีความสามารถทางการเงินเพียงพอที่จะบรรลุผลหรือไม่ และหากต้องกู้ยืมเงิน มันจะเกินตัวไปหรือเปล่า
2
ข้อสองคือ แม้มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าจะดำเนินการได้สำเร็จ แต่ก็ต้องไม่ลืมเตรียมแผนรับมือความเสี่ยงเอาไว้ด้วย เพราะไม่แน่ว่าวันข้างหน้า มันอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นได้
5
เหมือนในกรณีของ Porsche ที่ดูเหมือนจะคุมเกมนี้มาได้ตลอด
แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น หนี้ที่สะสมไว้ก็ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเอง โดยที่ไม่มีทางหนีทีไล่
2
จนสุดท้ายล้มทั้งกระดาน
และถูกเหยื่ออย่าง Volkswagen เป็นฝ่ายพลิกกลับมาซื้อทั้งกิจการ Porsche แทน..
2
แต่ถ้าเราคิดว่าเรื่องนี้จบแล้ว อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เพราะมันมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก ที่พลิกเรื่องทั้งหมดอีกที
ในช่วงที่ Porsche ไล่ซื้อหุ้น Volkswagen นั้น บริษัทได้มีการปรับโครงสร้าง แบ่งเป็น
1. Porsche SE ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิงถือหุ้นโดยตระกูล Porsche
2. Porsche AG ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ Porsche
โดยการเข้าซื้อหุ้นของ Volkswagen ถูกดำเนินการโดยบริษัท Porsche SE ที่เป็นโฮลดิง
ในขณะที่ บริษัทที่ Volkswagen เข้าซื้อกิจการเพื่อโต้กลับ คือ Porsche AG ที่เป็นบริษัทผลิตรถยนต์
เท่ากับว่าสุดท้ายถึงแม้ว่า Volkswagen จะเป็นเจ้าของ Porsche AG บริษัทที่ผลิตรถยนต์ Porsche แต่ Porsche SE กลับเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ Volkswagen อีกที โดยปัจจุบัน Porsche SE ก็ยังถือหุ้นใหญ่สุดใน Volkswagen ด้วยสัดส่วน 31.4%
1
สรุปแล้ว สุดท้าย ผู้ชนะของเรื่องนี้ก็คือตระกูล Porsche อยู่ดี..
2
โฆษณา