18 เม.ย. 2022 เวลา 10:20 • อาหาร
ข้าวเหนียวมูน / มะม่วงอกร่อง เคยปรากฏใน “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน”
แม้ข้าวเหนียวมะม่วงจะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นคนคิดค้นสูตรการจับคู่ระหว่างข้าวเหนียวมูนและมะม่วงรสหวานผลไม้ประจำฤดูร้อนไทย แต่ที่ปรากฏแน่ชัดคือคนไทยกินข้าวเหนียวมูนเป็นเครื่องหวาน และนิยมความหวานของมะม่วงอกร่องมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่กรากฏใน “บทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งได้มีการจัดแบ่งหมวดหมู่ของอาหารไว้เป็น 4 หมวด ได้แก่ เห่ชมเครื่องคาว เห่ชมผลไม้ เห่ชมเครื่องหวาน และเห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์
สำหรับการพรรณนาเครื่องคาว เครื่องหวาน และผลไม้เป็นลีลาตามขนบของนิราศ ซึ่งนิยมใช้ชื่อของสถานที่ หรือของต้นไม้ ดอกไม้ มาเป็นสื่ออ้างอิงเพื่อสร้างอารมณ์โศกในการพรรณนาคร่ำครวญเมื่อจากนางอันเป็นที่รัก โดยในส่วนของข้าวเหนียวมูนได้ปรากฏข้อความในเห่ชมเครื่องหวานว่า “สังขยาหน้าตั้งไข่ ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง เป็นนัยไม่เคลือบแคลง แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ” ซึ่งจากบทประพันธ์ทำให้รู้ว่าคนไทยโบราณนิยมกินข้าวเหนียวมูนคู่กับสังขยาทำจากไข่เป็นการตัดรสหวานมันอย่างเข้ากันพอดี และยังช่างประดิษฐ์สีสันจากธรรมชาติลงในข้าวเหนียว
3
สำหรับมะม่วงอกร่องนั้นอยู่ในเห่ชมผลไม้ ความว่า “หวนห่วงม่วงหมอนทอง อีกอกร่องรสโอชา คิดความยามนิทรา อุราแนบแอบอกอร” ซึ่งการระบุสายพันธุ์มะม่วงลงไปในเห่ชมผลไม้ก็แสดงถึงความนิยมของชาววังต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในการกินมะม่วงพันธุ์อกร่องซึ่งมีรสหวานจัดได้เป็นอย่างดี
โฆษณา