18 เม.ย. 2022 เวลา 14:13 • ประวัติศาสตร์
พระพุทธรูปเพียง “องค์เดียว”
ที่ประดิษฐานทุกจังหวัด ทั่วประเทศไทย
ใช้เวลาส่งมอบจนครบ ยาวนานถึง 45 ปี
ถ้าใครเคยมีธุระต้องไปติดต่อราชการ
ที่ศาลากลางจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใด
จะต้องเคยเห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
ประดิษฐานอยู่
เมื่อมีงานพระราชพิธีใดๆ ในจังหวัดนั้น
ก็จะต้องอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้
ไปเป็นประธานอยู่เสมอ
แสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้
น่าจะมีความสำคัญพอสมควร
แล้วถ้าใครมีธุระต้องไปติดต่อราชการ
มากกว่า 1 จังหวัด ก็จะเห็นว่า
พระพุทธรูปแบบนี้ ที่จังหวัดนั้นก็มี จังหวัดนี้ก็มี
ก็จะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า
แล้วจะมีครบทุกจังหวัดไหม?
คำตอบคือ มีครับ
มีครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
ที่สำคัญพระพุทธรูปองค์นี้
พระมหากษัตริย์ได้เสด็จฯ มามอบให้แต่ละจังหวัด ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย
ไม่ใช่ให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด
ไปรับที่ส่วนกลางมาทีเดียว
นั่นจึงทำให้พระพุทธรูปองค์นี้
ต้องใช้เวลาในการทรงส่งมอบ
ยาวนานถึง 45 ปีเลยทีเดียว
พระพุทธรูปองค์นั่น ก็คือ
“พระพุทธนวราชบพิตร”
พระพุทธรูปองค์นี้
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
(รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น
โดยทรงตรวจพุทธลักษณะด้วยพระองค์เอง
จนพอพระราชหฤทัย แล้วจึงโปรดเกล้าฯ
ให้เททองหล่อพระพุทธรูป
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
พระพุทธนวราชบพิตร
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม.
ที่บัวฐานด้านหน้าบรรจุ
พระพิมพ์ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ ไว้องค์หนึ่ง
โดยที่ฐานขององค์พระ
มีอักขระบาลีจารึกไว้ว่า
‘ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญชานเนน
โภชิสิยํ รกฺขนฺติ’
ซึ่งแปลได้ว่า ..
“คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้
ด้วยมีสติสำนึก อยู่ในความสามัคคี”
เนื่องจากประเทศไทยช่วงเวลานั้น
อยู่ในสถานการณ์ที่ถูกภัยคอมมิวนิสต์
คุกคามอย่างหนัก และปีที่พระองค์
มีพระราชดำริให้สร้างพระองค์นี้ขึ้น
คือปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก
ซึ่งก็คือวันที่กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์
แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้าปะทะ
กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว
อ.เรณูนคร จังหวัดนครพนม
ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 นั่นเอง
โดยจังหวัดแรกที่พระองค์ทรงเสด็จฯ ทรงมอบ
พระพุทธนวราชบพิตร คือ จังหวัดหนองคาย
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2510
และจังหวัดอุดรธานี ในวันถัดมา
(24 มีนาคม พ.ศ. 2510)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 พระองค์ทรงเสด็จฯ
ไปทรงมอบอีก 9 จังหวัด ประกอบด้วย
แม่ฮ่องสอน (5 มกราคม)
เชียงราย (7 มกราคม)
ลำพูน และ เชียงใหม่ (9 มกราคม)
ยะลา (9 มีนาคม)
ภูเก็ต (23 กรกฏาคม)
สุราษฎร์ธานี (24 กรกฏาคม)
อุบลราชธานี (30 กรกฏาคม)
และ สระบุรี (8 กันยายน)
พ.ศ. 2512 ทรงเสด็จฯ อีก 4 จังหวัด คือ
น่าน (10 มีนาคม)
อุทัยธานี (6 สิงหาคม)
เลย (5 กันยายน)
และ สุรินทร์ (10 กันยายน)
แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 และ 2514
พระองค์ทรงเสด็จฯ เพียงปีละ 1 จังหวัด
คือ พัทลุง ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2513
และ บุรีรัมย์ ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2514
ในปี พ.ศ. 2515 ไม่มีการเสด็จฯ
ขึ้นปี พ.ศ. 2516 พระองค์ทรงเสด็จฯ
ไปทรงมอบอีก 2 จังหวัด คือ
นครศรีธรรมราช (29 เมษายน)
และ สงขลา (23 สิงหาคม)
ซึ่งสงขลา คือ จังหวัดสุดท้าย
ที่พระองค์ทรงเสด็จฯ ไปด้วยตัวพระองค์เอง
รวมจังหวัดที่รัชกาลที่ 9
ทรงมอบพระพุทธนวราชบพิตร
ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น 19 จังหวัด
หลังจากนั้น
การเสด็จฯ ไปทรงมอบ “พระพุทธนวราชบพิตร”
ได้หยุดไปยาวนานถึง 9 ปี
จนปีพ.ศ. 2525 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาภในรัชกาลที่ 9
จึงได้ทรงมอบให้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525
เนื่องในโอกาสครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์
ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเพียงจังหวัดเดียว
ที่ได้รับพระองค์นี้จากพระราชินี
ส่วนหนึ่งอาจด้วยช่วงเวลานั้น
ภัยจากคอมมิวนิสต์ แทบจะเรียกได้ว่า
สิ้นสุดลงไปจากประเทศไทยแล้ว
เมื่อเกิดปรากฏการณ์ จากป่าสู่เมือง
ของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพราะการล่มสลาย
ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ทำให้การเสด็จฯ เพื่อไปทรงมอบ
พระพุทธนวราชบพิตร ได้หยุดลงอีก 2 ปี
(พ.ศ. 2526 – 2527)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2528
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ
(รัชกาลที่ 10) ครั้งดำรงพระราชอิสริยศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
เสด็จแทนพระองค์ไปทรงมอบ
พระพุทธนวราชบพิตรนับจากนั้น
โดยเริ่มจาก จังหวัดมุกดาหาร
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2528
แต่เป็นการมอบเพียงจังหวัดเดียว
แล้วการเสด็จพระราชดำเนิน
ไปมอบพระพุทธนวราชบพิตร
ก็ได้หยุดลงอีกครั้งเป็นระยะเวลา 3 ปี
(พ.ศ. 2529 – 2531)
จนล่วงเข้าถึงปี พ.ศ. 2532
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (รัชกาลที่ 10)
ได้เสด็จฯ ไปทรงมอบพระพุทธนวราชบพิตร
อีกครั้ง โดยในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 11 จังหวัด ประกอบด้วย
ราชบุรี และ สุพรรณบุรี (12 ธันวาคม)
ชัยนาท และ สิงห์บุรี (13 ธันวาคม)
ประจวบคีรีขันธ์ และ เพชรบุรี (14 ธันวาคม)
ชลบุรี และ สมุทรสงคราม (15 ธันวาคม)
นนทบุรี - ปทุมธานี และ พระนครศรีอยุธยา
ในวันที่ 16 ธันวาคม
ในปีต่อมา พ.ศ. 2533
อีกจำนวน 23 จังหวัด ประกอบด้วย
ฉะเชิงเทรา (30 กรกฏาคม)
นครพนม (31 กรกฏาคม)
กำแพงเพชร (1 สิงหาคม)
มหาสารคาม (4 สิงหาคม)
สกลนคร (5 สิงหาคม)
ยโสธร (6 สิงหาคม)
นครราชสีมา (7 สิงหาคม)
พะเยา (8 สิงหาคม)
แพร่ (9 สิงหาคม)
พิษณุโลก (10 สิงหาคม)
นครปฐม (11 สิงหาคม)
พิจิตร (13 สิงหาคม)
เพชรบูรณ์ (14 สิงหาคม)
ตราด (15 สิงหาคม)
ศรีสะเกษ (16 สิงหาคม)
นครนายก (17 สิงหาคม)
กาญจนบุรี (18 สิงหาคม)
ลพบุรี (19 สิงหาคม)
ระนอง (21 สิงหาคม)
ตรัง (23 สิงหาคม)
ลำปาง (7 ตุลาคม)
กาฬสิทธุ์ (8 ตุลาคม)
และ ระยอง (15 ตุลาคม)
และในปี พ.ศ. 2534
อีกจำนวน 8 จังหวัด ประกอบด้วย
ปราจีนบุรี (20 พฤษภาคม)
สมุทรสาคร (22 พฤษภาคม)
อ่างทอง (24 พฤษภาคม)
สมุทรปราการ (4 กันยายน)
ร้อยเอ็ด (5 กันยายน)
จันทบุรี (10 กันยายน)
นราธิวาส (11 กันยายน)
และ นครสวรรค์ (12 กันยายน)
หลังจากนั้น
การเสด็จฯ ไปมอบพระพุทธนวราชบพิตร
ก็ได้หยุดลงอีกครั้งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี
จนล่วงเข้าปี พ.ศ. 2543
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (รัชกาลที่ 10)
จึงได้เสด็จฯ ไปทรงมอบพระพุทธนวราชบพิตร
อีกครั้งที่จังหวัดสุโขทัย
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ 2543 อีก 1 จังหวัด
รวมถึงขณะนั้น (พ.ศ.2543)
มีจังหวัดที่ได้รับพระพุทธนวราชบพิตร
ไปแล้วทั้งสิ้น 64 จังหวัด
หลังจากนั้น
การเสด็จฯ ไปทรงมอบได้หยุดลงอีกครั้ง
เป็นระยะเวลา 4 ปี
จนปี พ.ศ. 2548 พระองค์ (รัชกาลที่ 10)
จึงได้ทรงเสด็จฯ ไปมอบพระพุทธนวราชบพิตร
อีก 5 จังหวัด ประกอบด้วย
ปัตตานี (3 กุมภาพันธ์)
กระบี่ (30 กรกฏคม)
พังงา (31 กรกฏาคม)
ตาก (15 สิงหาคม)
และ ขอนแก่น (21 สิงหาคม)
กาลเวลาล่วงมาอีก 6 ปี จนถึงในพ.ศ. 2554
พระองค์ (รัชกาลที่ 10) จึงได้เสด็จฯ
ไปทรงมอบพระพุทธนวราชบพิตร อีก 4 จังหวัด
ประกอบด้วย อุตรดิตถ์ (10 พฤศจิกายน)
ชัยภูมิ (18 พฤศจิกายน)
ชุมพร (22 พฤศจิกายน)
และ สตูล (28 พฤศจิกายน)
ส่วนอีก 4 จังหวัดสุดท้าย
พระองค์ (รัชกาลที่ 10) ทรงเสด็จฯ
ไปมอบในปีถัดมา (พ.ศ. 2555) ประกอบด้วย
อำนาจเจริญ (4 สิงหาคม)
หนองบัวลำภู (6 สิงหาคม)
สระแก้ว (8 สิงหาคม)
และ จังหวัดสุดท้ายที่ได้รับมอบ
พระพุทธนวราชบพิตร ก็คือ บึงกาฬ
ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ซึ่งน่าแปลกใจว่า
บึงกาฬ นั้นเป็นจังหวัดที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554
โดยแยกออกมาจากจังหวัด หนองคาย
ซึ่งก็คือจังหวัดแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ 9
ได้ทรงเสด็จฯ ไปมอบพระพุทธนวราชบพิตร
เมื่อ 45 ปีที่แล้ว
ซึ่งตลอดระยะเวลา 45 ปีนั้น
อันเริ่มนับจากระหว่างปี พ.ศ. 2510 – 2516 (6 ปี)
ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9)
ทรงเสด็จฯ ไปทรงมอบทั้งสิ้น 19 จังหวัด
ปี พ.ศ. 2525 ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาภในรัชกาลที่ 9
ทรงมอบให้กรุงเทพมหานคร (1 จังหวัด)
และระหว่างปี พ.ศ. 2528 – 2555 (27 ปี)
ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ
(รัชกาลที่ 10) ครั้งดำรงพระราชอิสริยศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
เสด็จแทนพระองค์ไปทรงมอบอีก 57 จังหวัด
พระพุทธนวราชบพิตร
จึงเป็นเสมือนตัวแทนขององค์พระมหากษัตริย์
กับปวงชนชาวไทยทั่วประเทศ
เป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย
แทนความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์
กับพสกนิกรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เพื่อช่วยกันนำประเทศชาติไปสู่อนาคตที่สดใส
ดั่งพระราชดำรัสตอนท้าย
ที่พระองค์ทรงกล่าวกับผู้มารับเสด็จ
ในแต่ละจังหวัดเหมือนกัน ว่า ..
“ขออนุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย
แห่งพระพุทธนวราชบพิตร
ตลอดจนเทพพดาอารักษ์
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง
จงปกป้องคุ้มครองท่านทั้งหลาย
ให้มีความสุขสวัสดี
ผ่องพ้นจากทุกข์โศกโรคภัยทุกประการ
บันดาลความผาสุกร่มเย็น
ความมั่นคงก้าวหน้า
และความสมัครสมานสามัคคี
ให้เกิดมีแก่ชาว...(ชื่อจังหวัด)... ทั่วหน้า
ให้ทุกคนสามารถประกอบกิจการงานน้อยใหญ่
สำเร็จลุล่วงได้ดั่งประสงค์ เพื่อประเทศชาติไทย
จักได้มีความวัฒนาสถาวรตลอดกาลนาน”
ที่มาของข้อมูล :
หนังสือ “พระพุทธนวราชบพิตร”
รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พิมพ์พระราชทานในการพิธีทรงบำเพ็ญ
พระราชกุศลสตมวาร ถวายพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บรมราถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560
ขอบคุณ..บทความจาก : ท่านจรัญ
โฆษณา