19 เม.ย. 2022 เวลา 09:30 • ธุรกิจ
เชลล์ (ประเทศไทย) 130 ปี
จากน้ำมันก๊าด สู่ ปั๊มชาร์จ EV
เชลล์เข้ามาทำธุรกิจในไทยครั้งแรกเมื่อ 130 ปี ที่ผ่านมา หรือปี 2435 ที่ เรือเอส เอส มิวเร็กซ์ บรรทุกน้ำมันก๊าดเข้ามาจอดเทียบท่าที่กรุงเทพมหานคร นับจากนั้นต่อมา 40 ปี ตลาดน้ำมันก๊าดก็ขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง และทำให้คนไทยรู้จัก น้ำมันก๊าด “ตรามงกุฎ”
บริษัทเอเชียติกปิโตรเลียม เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำการตลาดผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทรอยัลดัทช์เชลล์ สัญชาติอังกฤษ ในเอเชีย
ป้ายโฆษณาน้ำมันตาหอยและตรามงกุฎ ของเชลล์ ประเทศไทย ป้ายนี้ติดอยู่ที่สำนักงานใหญ่ คลองเตย
และเมื่อตลาดในประเทศไทยขยายตัวได้ดีได้มีการตั้ง บริษัทเอเชียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด เพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายธุรกิจนำเข้าน้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไทย
สำนักงานของบริษัทเอเชียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการที่ตรอกโอเรียลเต็ล ย่านบางรัก เมื่อปี 2457 ซึ่งการนำเข้าน้ำมันมีปริมาณมากขึ้นจนมีการลงทุนตั้งคลังน้ำมันที่บางปะกอกในอีก 10 ปี ต่อมา
การทำธุรกิจของ "เชลล์" ในประเทศไทยตีคู่มากับ "เอสโซ่" หรือในช่วงแรกใช้ชื่อ บริษัทแสตนดาร์ด ออยล์ แห่งนิวยอร์ก ที่เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ตรอกกัปตันบุชแห่งนี้เมื่อปี 2437 เข้ามาหลังเชลล์ 2 ปี แถมยังมีที่ตั้งสำนักงานไม่ไกลกัน
"เชลล์" ตั้งอยู่ที่ตรอกโอเรียลเต็ล หรือ เจริญกรุง 40 ในปัจจุบัน
"เอสโซ่" ตั้งอยู่ตรอกกัปตันบุช หรือ เจริญกรุง 30 ในปัจจุบัน
ธุรกิจของ "เชลล์" และ "เอสโซ่" เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของตะวันตกหลายบริษัทในประเทศไทย โดยในปี 2471 เชลล์ได้ซื้อที่ดินย่านคลองเตยเพิ่มเติมเพื่อขยายงาน และกลายมาเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเชลล์ในปัจจุบัน
หากดูผลกระทบทางธุรกิจที่รุนแรงในระดับวิกฤติสำหรับกิจการที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศสัมพันธมิตร คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้เชลล์ต้องปิดกิจการชั่วคราวในปี 2482 วิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติในไทยทั้งหมดต้องหยุดชะงัก
เมื่อสงครามยุติลง เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้รัฐบาลไทยขอให้เชลล์กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งในปี 2489 คราวนี้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่หัวมุมถนนสุรวงศ์ และในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเชลล์แห่งประทศไทย จำกัด ซึ่งมีการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปหลายชนิด
พัฒนาการของโลโก้ "เชลล์" ตั้งแต่ปี 2443 ป้ายนี้ติดอยู่ที่เชลล์ ประเทศไทย สำนักงานใหญ่ คลองเตย
จนกระทั่ง "เชลล์" เจอวิกฤติอีกครั้ง คือ วิกฤติน้ำมัน (Oil shock) ที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2516 ส่งผลให้ต้องจำกัดโควตาน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการบริหารธุรกิจเพราะต้องดูแลลูกค้า วางแผนจัดหาน้ำมัน และจัดสรรโควตาให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้รับผลความเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี
"อัษฎา หะรินสุต" อดีตประธานกรรมการ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เคยให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" เมื่อปี 2562 ว่า “ช่วงนั้นผมยังไม่ได้เข้าทำงานที่เชลล์ แต่ได้รับฟังข้อมูลจากรุ่นพี่ว่าเป็นช่วงที่ลำบาก มีการเข้ามาขอโควต้าน้ำมันกัน เชลล์ต้องพยายามแบ่งโควต้าให้ดีที่สุด”
ในช่วงใกล้เคียงกับการเกิดวิกฤติน้ำมัน ได้มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเชลล์เมื่อขยายธุรกิจจากปลายน้ำเข้าสู่ธุรกิจต้นน้ำอย่างจริงจัง โดยในปี 2505 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดประมูลสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน จ.สุโขทัย และ จ.กำแพงเพชร และเชลล์เป็นผู้ชนะการประมูล
ความสำเร็จของการสำรวจเกิดขึ้นในปี 2522 ที่การสำรวจพบความเป็นไปได้ของการลงทุนผลิตปิโตรเลียม และทำให้เชลล์ตั้งบริษัทไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย
จนกระทั่งในปี 2524 พบแหล่งน้ำมันในเชิงพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และได้รับพระราชทานนามว่า “แหล่งน้ำมันสิริกิติ์”
สำหรับแหล่งสิริกิติ์ เริ่มมีการสำรวจหาแหล่งน้ำมันดิบในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2464 แต่เทคโนโลยีในขณะนั้นไม่สามารถขุดเจาะได้ จนกระทั่งเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้นและทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดประมูลสัมปทาน
ในช่วงนั้นเชลล์ได้ใช้เทคโนโลยีการสำรวจด้วยวิธีการวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กทางอากาศและธรณีฟิสิกส์โดยละเอียด และน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแหล่งสิริกิติ์จะมีชื่อ "น้ำมันดิบเพชร" ตามชื่อจังหวัด
การลงทุนผลิตปิโตรเลียมในแหล่งสิริกิติ์ เป็นการร่วมทุนระหว่าง ไทยเชลล์ กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งต่อมาเชลล์ได้ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้กับ ปตท.สผ.ในปี 2540
รถไฟบรรทุกน้ำมันดิบจากแหล่งสิริกิติ์ ถ่ายวันที่ 10 มิ.ย.2526 ก่อนพิธีเปิดแหล่งสิริกิติ์ 2 วัน (ภาพจากเว็บไซต์กรมศิลปากร www.finearts.go.th)
ถึงแม้จะขายหุ้นแหล่งสิริกิติ์ไปแล้ว แต่หลังจากนั้นทั้งเชลล์และ ปตท.สผ.ยังคงเป็นพันธมิตรในการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย จนกระทั่งล่าสุดที่เชลล์ขายหุ้นในแหล่งบงกชให้กับ ปตท.สผ.ไปเมื่อปี 2561
หากมองถึงธุรกิจเชลล์ในประเทศไทยปัจจุบันยึดเทรนด์ใหญ่ 2 เทรนด์ คือ การลดการปล่อยคาร์บอน และยานยนต์ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าเชลล์จะเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทน้ำมัน แต่ปัจจุบันเชลล์ทั่วโลกไม่ได้มองตัวเองเป็นบริษัทน้ำมัน แต่มองตัวเองเป็นบริษัทพลังงาน
เชลล์ใช้กลยุทธ์ Powering Progress โดยตั้งเป้าที่เป็นผู้นำธุรกิจ E-mobility ในประเทศไทย รวมถึงทุกประเทศที่เชลล์เข้าไปลงทุน
กลยุทธ์ดังกล่าวพูดถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV ภายใต้แบรนด์ Shell Recharge
ปั๊มชาร์จ EV แห่งแรกของเชลล์ บนถนนกาญจนภิเษก เปิดตัวเมื่อเดือน มี.ค.2564 (ภาพจาก www.shell.co.th)
โจทย์ของเชลล์ คือ นับจากนี้ต้องขยายให้ครอบคลุมทำเลสำคัญทั่วประเทศ หลังจากเปิดจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากระแสตรง ควิกชาร์จแห่งแรกสำหรับเชลล์ในประเทศไทย ที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์บนถนนกาญจนาภิเษก ไปเมื่อเดือน มี.ค.2564
เชลล์ถือว่าเชลล์มีความเชี่ยวชาญหลังจากมีเครือข่ายการให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 60,000 สถานี ทั่วยุโรป ที่จะนำความเชี่ยวชาญนี้มาใช้ในไทย
นี่คือการปรับตัวของเชลล์รับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสถานการณ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 130 ปี ของการทำธุรกิจในประเทศไทย
โฆษณา