20 เม.ย. 2022 เวลา 07:01 • ยานยนต์
#Motoring หากพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า เจ้าตลาดตอนนี้ก็ต้องยกให้จีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงฝั่งยุโรปที่เร่งเครื่องตามมาติดๆ
3
แล้วญี่ปุ่นล่ะ หายไปไหน?
ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก โดยเฉพาะรถยนต์สันดาป ซึ่งมีค่ายรถยนต์แบรนด์ดังมากมาย
ทำไมญี่ปุ่นถึงขยับตัวช้าในวงการรถยนต์ไฟฟ้า จะสู้กับค่ายรถยนต์ประเทศอื่นได้มากน้อยแค่ไหน และในอนาคตจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่
TODAY Bizview สรุปให้ ในบทความนี้
[ญี่ปุ่นครองตลาด ‘รถยนต์น้ำมัน’ แต่ไม่ใช่เบอร์หนึ่ง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’]
พูดถึงรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น หลายคนก็จะนึกถึงรถยนต์สันดาปภายในหรือรถยนต์น้ำมัน รวมถึงพวกรถยนต์ไฮบริด ซึ่งก็เป็นโปรดักส์ที่ขึ้นชื่อของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น
ยกตัวอย่างค่ายดัง เช่น โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ซูซูกิ มาสด้า ฯลฯ มีเยอะมากๆ
ค่ายรถเหล่านี้ขยายโรงงานไปตั้งในต่างประเทศ สามารถส่งออกรถยนต์ไปได้ทั่วโลก
ที่ผ่านมาคือรถยนต์ญี่ปุ่นขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง เพราะสินค้ามีคุณภาพ ดีไซน์สวย ราคาไม่แพง เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้งาน
อุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่นถือเป็นภาคเศรษฐกิจหลัก เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประเทศ ด้วยมูลค่ามหาศาล เป็นแหล่งงานให้กับคนญี่ปุ่นหลายล้านชีวิต
แต่เมื่อเทรนด์โลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไป รถยนต์สันดาปเริ่มโตช้าลง จากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ผู้คนให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด
กลายเป็นว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อเมริกา และยุโรป มีค่ายรถยนต์เกิดใหม่มากมาย
รวมถึงค่ายรถยนต์เดิม หลายบริษัททั้งทางฝั่งอเมริกาและยุโรป ก็ล้วนปรับตัว หันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าว่า จะเลิกผลิตรถยนต์สันดาปหรือรถยนต์น้ำมันให้ได้ 100% ในอนาคตอันใกล้นี้
ยกตัวอย่างในประเทศจีน รัฐบาลจีนมีสนับสนุนนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ตลาดรถยนต์จีนเติบโตเป็นเบอร์หนึ่งของโลก
ในช่วงปลายปีที่แล้ว จีนมีบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 200 ราย ในจำนวนนี้มีบริษัทเกิดใหม่มากถึง 150 ราย ภายใน 3 ปีที่ผ่านมา
1
ปี 2021 จีนมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 3.2 ล้านคัน (รองลงมาคือยุโรป 2.3 ล้านคัน) หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก จากการใช้งานของคนภายในประเทศจีนเอง ซึ่งมีประชากรเยอะ ถือว่าได้เปรียบอย่างมาก ส่วนราคารถยนต์ไฟฟ้าในจีนยังถูกด้วย เข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ จีนยังส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปทั่วโลก ไม่ว่าจะไปบุกตลาดยุโรป อเมริกา หรืออย่างไทยเอง ก็รุกหนักมากเช่นกัน
แต่พอตัดภาพมาดูทางฝั่งญี่ปุ่น ในปี 2021 ญี่ปุ่นมียอดขายรถยนต์ BEV เพียง 20,000 คันเท่านั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับจีนและยุโรป
การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของญี่ปุ่นไม่ได้โดดเด่นมากนัก ค่อยเป็นค่อยไป ทั้งที่ประเทศอื่นเค้าเริ่มกันมานานหลายปีแล้ว
ทำไมญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นว่าครองแชมป์อุตสาหกรรมยานยนต์เบอร์หนึ่งของโลก ถึงเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าช้ากว่าเพื่อน
แม้ตอนนี้จะเริ่มแล้วก็จริง แต่ก็ยังต้องเร่งเครื่องอีกเยอะ ที่ผ่านมาทำอะไรอยู่ และมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังกันแน่
[คนญี่ปุ่นใช้รถยนต์ไฟฟ้าน้อยมาก]
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดันนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าถึงหลักแสนบาท มีการลดภาษี และวางแผนสร้างสถานีชาร์จรองรับเป็นจำนวนมาก
1
แต่ก็ดูเหมือนว่า คนญี่ปุ่นยังใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่มากนัก ผลการสำรวจจากบริษัท Park24 ได้ทำการสำรวจผู้ใช้ที่จอดรถรายชั่วโมงของกลุ่มบริษัท และบริการรถเช่าในเมืองโตเกียว
พบว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ ใช้รถยนต์น้ำมันมากถึง 72% รองลงมารถยนต์แบบไฮบริด 17% ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า มีสัดส่วนเพียง 1% สอดคล้องไปกับยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น อยู่ที่ประมาณ 1% เช่นกัน
ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมคนญี่ปุ่นยังใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่เยอะ ก็มีหลายสาเหตุ อย่างแรกเลยก็เพราะรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ราคาสูง
เมื่อสอบถามคนที่กำลังรอการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น พบว่า 28% ต้องการรถที่มีราคาต่ำกว่า 2 ล้านเยน และเมื่อรวมกับกลุ่มที่ต้องการรถยนต์ไฟฟ้าราคาต่ำกว่า 1 - 1.5 ล้านเยน พบว่ามีสัดส่วนกว่า 60%
2
รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมีราคาประมาณ 4 ล้านเยน แม้ว่าจะได้รับเงินอุดหนุนเต็มจำนวนจากรัฐบาลแล้ว แต่ราคารถยนต์ไฟฟ้าก็ยังสูงอยู่ดี
ส่วนรุ่นที่ราคาต่ำลงมาก็มีให้เลือกไม่เยอะ จึงทำให้สัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นยังต่ำ
ปัจจัยต่อมาคือ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จสาธารณะ ยังมีจำนวนน้อย
เนื่องจากคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ทำให้ไม่สามารถติดตั้งแท่นชาร์จในพื้นที่ส่วนตัวได้
2
ส่วนสถานีชาร์จสาธารณะในญี่ปุ่นยังมีจำนวนไม่มากพอ โดยสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 2.3 จุดต่อประชากร 10,000 คน หากเทียบกับในต่างประเทศยังถือว่าน้อยกว่ามาก เช่น ในผรั่งเศส สัดส่วนแท่นชาร์จต่อประชากร อยู่ที่ 6.9 ต่อ 10,000 คน มากกว่าญี่ปุ่นถึง 3 เท่า
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนญี่ปุ่นยังไม่กล้าตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะต้องการรอให้รัฐบาลสร้างสถานีชาร์จเพิ่มให้มากกว่านี้
และเหตุผลสำคัญอีกข้อ…ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังมีส่วนร่วมในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่มากพอ
1
ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 เน้นการลงทุนในกลุ่มพลังงานสีเขียว อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวหลักสำคัญที่รัฐบาลต้องการให้เปลี่ยนผ่านมาสู่รถยนต์ไฟฟ้า
แต่ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันนโยบายนี้ฝ่ายเดียว มันอาจจะไม่ได้ผลมากเท่าไหร่
เพราะผู้ที่บทบาทมากในอุตสาหกรรมนี้ ก็คือภาคเอกชน พวกค่ายรถยนต์ต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ จึงไม่แปลกที่การตัดสินใจหรือนโยบายต่างๆ ของบริษัท มักส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
บริษัทรถยนต์ในญี่ปุ่นเชื่อมั่นในรถยนต์น้ำมันและรถยนต์ไฮบริดอย่างมาก อีกทั้งยังมองว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลา เนื่องจากมีเครื่องจักร เทคโนโลยีและกลุ่ม Supplier ต่างๆ เป็นสายพานจำนวนมาก
หากเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป จะส่งผลกระทบหนักหลายด้าน
1
ย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญก่อนหน้านี้ ในปี 2020 อากิโอะ โตโยดะ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ เคยออกมาบอกว่าการที่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเร็วเกินไปนั้น อาจไม่เป็นผลดี มองว่ารถยนต์ไฟฟ้าสร้างมลพิษเหมือนกัน และอาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้
แถมยังบอกอีกว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะตั้งเป้าให้ประเทศเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจและส่งออกที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น
อาจจะทำให้คนต้องตกงานถึง 5.5 ล้านคน และกำลังการผลิตก็จะลดลง พร้อมเสนอทางออกว่า รัฐบาลควรสนับสนุนทางเลือกอื่นๆ ด้วย เช่น รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน
[มาช้าแต่มาชัวร์ ญี่ปุ่นพร้อมลงสนาม รถยนต์ไฟฟ้า]
แม้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ในช่วงแรกๆ จะยังไม่ลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่ถึงตอนนี้ หลายค่ายใหญ่กลับตอบรับนโยบายรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น แม้จะเริ่มช้าหน่อยแต่ก็เริ่มแล้ว
อย่างโตโยต้า จากที่เคยบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่เมื่อปลายปีที่แล้วได้จัดแถลงข่าวใหญ่ พร้อมบุกวงการ EV Car บอกจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30 รุ่น ภายในปี 2030 พร้อมทั้งทุ่มเกือบ 6 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า
ทำเอาหลายคนงงไปตามๆ กัน ว่าทำไมเกิดเปลี่ยนใจเร็วเหลือเกิน
ต่อมาช่วงต้นปี 2021 ได้ประกาศเปิดตัวและเตรียมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกอย่าง bZ4X พร้อมขายจริงภายในปีนี้ด้วย
2
ที่จริงแล้ว โตโยต้าไม่ได้ต่อต้านแนวคิดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า แต่แค่มองว่าการตั้งเป้าให้เลิกผลิตรถยนต์น้ำมันในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ มันยังเร็วเกินไป ควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามความพร้อมของผู้ผลิตและประชาชน
หรือทางฝั่งของฮอนด้า ก็เดินหน้าแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ประกาศลดกำลังการผลิตรถใช้น้ำมันในประเทศเหลือ 800,000 คัน/ปี หรือลดลงราว 40% จากยอดผลิตสูงสุดในปี 2002
พร้อมทั้งจัด ‘พิธีอำลาสายการผลิต’ ขึ้นที่โรงงานแม่ในซายามะในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการสิ้นสุดการผลิตรถยนต์น้ำมันที่โรงงานแห่งนี้ พร้อมตั้งเป้ายุติการผลิตรถยนต์น้ำมัน ภายในปี 2040
ส่วนทางนิสสันและมิตซูบิชิ ก็ลุยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เพิ่มเช่นกัน จากที่ผ่านมา ทั้งคู่ก็เป็นบริษัทญี่ปุ่นแรกๆ ที่จริงจังกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย แต่ไปเน้นที่ตลาดอเมริกาและยุโรปแทน
ยกตัวอย่างรุ่น Nissan LEAF เน้นการทำตลาดต่างประเทศมากกว่าในญี่ปุ่น เพราะได้รับกระแสตอบรับที่ดีกว่า ต่อจากนี้นิสสัน ได้วางแผนผลิตรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 50% ของรถยนต์ที่ผลิตทั้งหมด ภายในปี 2030
ส่วนทางฝั่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ให้เงินสนับสนุนแพ็กเกจเมื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า บวกกับมาตรการลดหย่อนภาษี
พร้อมทั้งวางแผนสร้างสถานีชาร์จให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีประมาณ 35,000 แห่ง จะขยายเป็น 150,000 สถานี ภายในปี 2030 ซึ่งจำนวนจะใกล้เคียงกับจำนวนปั๊มน้ำมันเลยทีเดียว
นอกจากนี้รัฐจะผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยเสนอเงินทุนและมาตรการจูงใจด้านภาษี ตั้งไว้ 90 ล้านล้านเยนต่อปี และจะลดราคาแบตเตอรี่รถยนต์ให้ถูกลง ภายในปี 2030 ด้วย
ศึกรถยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ ญี่ปุ่นอาจเริ่มช้าหน่อย แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณว่าพร้อมลงสนามแล้ว เห็นได้จากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นใหญ่ๆ หลายแห่ง พากันเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างคึกคัก
รถยนต์ไฟฟ้าคือเทคโนโลยีใหม่ที่แทบไม่ใช้เครื่องยนต์หรืออะไหล่มากมาย แน่นอนว่ามันไม่ใช่รถยนต์สันดาปที่ญี่ปุ่นคุ้นเคยหรือเป็นเจ้าตลาด
ดังนั้นการจะก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าของวงการรถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นความท้าทาย เพราะต้องสู้กับบริษัทใหญ่อย่าง Tesla หรืออีกหลายๆ บริษัทในจีนและยุโรป ซึ่งครองตลาดนี้มาอย่างยาวนาน
เพราะอย่างจีนมีความได้เปรียบมาก ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่และมอเตอร์รถยนต์ รวมถึงเงินเดือนจ้างบุคลากรในจีน ราคาค่อนข้างถูก เห็นได้ว่าหลายบริษัทรถยนต์ทางฝั่งยุโรปและอเมริกา ได้ขยับขยายมาตั้งโรงงานในประเทศจีน เพราะอยากลดต้นทุน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมีศักยภาพสูงด้านเทคโนโลยี และมีความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว เนื่องจากไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ซับซ้อนมาก
แต่โจทย์สำคัญคือจะพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพและราคาถูก เพื่อที่จะแข่งขันสู้กับเจ้าอื่นๆ ได้อย่างไร…นี่คือสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป
โฆษณา