22 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“หนี้ครัวเรือน” จุดเปราะบางสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย
3
“หนี้ครัวเรือน” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
1
เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของครัวเรือนไทย
ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
📌 แล้วคำว่า “หนี้ครัวเรือน” คืออะไร?
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้คำนิยาม “หนี้ครัวเรือน” ว่าหมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยหรือเพื่อประกอบธุรกิจ
1
โดยข้อมูลหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่ ธปท. ไม่รวมหนี้นอกระบบ
หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “หนี้รวมของทุกคนในแต่ละบ้าน หนี้ของบ้านฉัน หนี้ของบ้านเธอนั่นเอง”
2
📌 รู้หรือไม่? หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยก่อตัวสะสมเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (กราฟที่ 1) พบว่า
หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ขยายตัวชะลอลง โดยมีมูลค่าสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 14.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อน
ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องด้วยมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ในอนาคต
(กราฟที่ 1) ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 90.1 ขยายตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 89.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
📌 โครงสร้างหนี้ครัวเรือนภาพรวม ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2564
ตาราง : อัตราการเติบโตของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนตามวัตถุประสงค์ (%YoY)
(กราฟที่ 2) โครงสร้างหนี้ครัวเรือนภาพรวม ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ประกอบด้วย
1
1. สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนมากที่สุดของยอดสินเชื่อทั้งหมด มีมูลค่าสินเชื่อ 5.0 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อน
อาจมีสาเหตุมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยนั้นน้อยลง
1
สะท้อนจากมูลค่าการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งประเทศที่หดตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 จากการหดตัวร้อยละ 11.9 ของไตรมาสก่อน
2. สินเชื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าสินเชื่อ 1.8 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อน
สอดคล้องกับยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ช่วงต้นเดือนธันวาคม ปี 2564 กวาดยอดจองรถยนต์ไปได้ถึง 31,583 คัน และรถจักรยานยนต์อีกกว่า 3 พันคัน สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้เล็กน้อย
(โดยผู้จัดตั้งเป้ายอดจองรถยนต์ไว้ที่ 30,000 คัน)
3. สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีมูลค่าสินเชื่อ 4.0 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอลงจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อน
1
4. สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ มีมูลค่าสินเชื่อ 2.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.9 ชะลอลงจากร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อน
5. สินเชื่อเพื่อการศึกษามีอัตราการหดตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19
มหาวิทยาลัยหลายแห่งทำการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ มีการปรับลดค่าเทอม 10 - 30% มาอย่างต่อเนื่อง
และช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ใช้มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครองและนักศึกษา ลดค่าเทอมมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนสูงสุดถึง 50%
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 สินเชื่อเพื่อการศึกษา มีมูลค่าสินเชื่อ 2.5 แสนล้านบาท หดตัวร้อยละ 15.4
ชะลอลงจากการหดตัวร้อยละ 19.8 ในไตรมาสก่อน
📌 ความสามารถในการชำระหนี้เสียปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2564
1
(กราฟที่ 3) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 พบว่าหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) นั้น มีมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นที่มาว่าสถาบันการเงินบางแห่งเพิ่มความเข้มงวดในการขอสินเชื่อเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ
เช่น ป้องการลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้สิน และผลกระทบของรายได้ด้านดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สัมพันธ์กัน
📌 แม้ NPLs ไม่สูงมากในปี 2564 แต่ยังเป็นสิ่งต้องจับตามองต่อไป
กรณีที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่ง ก่อให้เกิดความกังวลว่าหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะอยู่เป็นเวลานานกว่าที่คาด
และมองว่า “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้” แม้จะช่วยประคองภาพรวม NPLs ไม่ให้ปรับตัวขึ้น
แต่ทำให้การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนทำได้ช้าลง
📌 ผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
1. การใช้รายได้ในอนาคต (การก่อหนี้) เพื่อนำมาบริโภคในวันนี้มากจนเกินไป ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีในระยะแรกและจะค่อย ๆ เบาลงภายหลังตามภาระหนี้จ่ายที่สูง
2. เสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน หนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือน
ทำให้ครัวเรือนเหล่านั้นรองรับเหตุการณ์กับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ไม่ดีนัก เช่น ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามคาด
เสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรืออาจพัฒนาไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจได้ในที่สุด
การก่อหนี้ที่ดีคือ ระดับหนี้ต้องไม่สร้างปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ (NPL) ทั้งในวันนี้และในอนาคต
📌 เช็คให้ดี หนี้ที่มีอยู่มากเกินไปหรือเปล่า?
ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ หมั่นเช็คสุขภาพการเงินตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ
โดยเฉพาะเรื่อง “ความสามารถในการชำระหนี้” ซึ่งคำนวณได้ง่ายๆ จากตัวชี้วัด (Debt Service Ratio : DSR)
  • DSR = ( หนี้สินปัจจุบันต่อเดือน / รายได้ทั้งหมดต่อเดือน ) x 100
  • โดยค่า DSR จะอยู่ในช่วงระหว่าง 0 ถึง 1 “ค่ายิ่งน้อย ก็ยิ่งดี”
  • ถ้า DSR อยู่ในช่วง 0.23 – 0.4 นั่นเป็นความเปราะบางขั้นต้น สัญญาณเตือนว่าเริ่มไม่ปลอดภัย
  • แต่ถ้า DSR มีค่าตั้งแต่ 0.4 ขึ้นไป คุณมีความเปราะบางของเสถียรภาพครัวเรือน อันตรายแล้วนะ
2
นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละเดือนยังเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจำนวนวงเงินที่ให้สินเชื่ออีกด้วย
📌 ปัญหาหนี้ครัวเรือนแก้ได้
เมื่อรู้ตัวว่าครัวเรือนมีความเปราะบาง “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเหลือเฉพาะลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPLs (หรือค้างชำระหนี้มากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน) บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
1
การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนสอดคล้องกับรายได้ที่เปลี่ยนไป
อีกทางเลือกก็คือ “การหาช่องทางเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน” เนื่องจากควรจะมีสัดส่วนของรายได้ให้มากกว่าหนี้ให้เยอะ ๆ
การไม่ก่อหนี้เกินตัวจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับครัวเรือนในช่วงสถานการณ์นี้
📌 สรุป
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่มีสภาวะราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น และครัวเรือนยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
จึงเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะต้องก่อหนี้โดยไม่รู้ตัวเพื่อนำไปใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น ควรตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการลงทุน การรู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง
1
และ “การจัดการกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สั่งสมมานานอย่างจริงจัง” ประเด็นนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
1
ผู้เขียน : กันนิพร บุญอุด Economics Data Analytics Internship
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา