21 เม.ย. 2022 เวลา 16:33 • หนังสือ
ผมได้ยินชื่อและมีโอกาสได้อ่านนิยายของปราบต์ ตั้งแต่เริ่มแรกที่เขาก้าวเท้าเข้ามาในบรรณพิภพ จาก “กาหลมหรทึก” จำได้ว่าความรู้สึกแรกๆ ที่ได้อ่านนิยายเรื่องนี้ คือ นักเขียนคนนี้ ภาษาสวยดีจัง และโครงเรื่องทุ่มเต็มร้อยแบบนี้ นักเขียนต้องทำการบ้านหนักน่าดู และหลังจากนั้น แม่ไม่ได้ออกตัวชัดเจนว่าเป็นแฟนคลับของปราบต์ แต่ผมก็ขวนขวายหาซื้อหนังสือที่เขาทยอยออกทีละเล่มสองเล่มในแต่ละปี มาอ่านบ้าง มาเก็บเข้ากองดองบ้างเสมอ
ผมยอมรับว่าปราบต์เป็นนักเขียนที่เก่ง ทั้งในแง่ของการใช้ภาษา และการวางโครงเรื่องที่แน่นหนา มีรายละเอียดชัดเจน แถมยังมีนัยยะที่สะท้อนให้เห็นมุมมอง ความคิดอ่าน และประเด็นเชิงสังคมที่นักเขียนต้องการสื่อถึงอีกต่างหาก
…แต่น่าแปลกครับที่ผมไม่ได้ชอบงานของปราบต์ทุกเรื่องที่อ่าน
หากพิจารณากันโดยถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าในงานเขียนทั้งหมดของปราบต์ที่ผมมีนั้น (ซึ่งผมคิดว่าผมซื้อหามาเก็บสะสมไว้ทุกเรื่องนะ ถ้าไม่พลาดอะไร) ผมรู้สึกชอบ ประทับใจ อิน หรือว่าชื่นชมแค่เพียงสี่ซ้าห้าเรื่องเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้มองว่าความชอบหรือไม่ชอบของผมจะมีผลต่อการอ่านนิยายของปราบต์ เพราะไม่ว่าอย่างไรเสีย ผมก็ยังไม่เคยไม่ชอบงานของนักเขียนท่านนี้จนเลิกซื้อหนังสือของเขาไป สำหรับผม นิยายที่ผมชอบมักมีอะไรบางอย่างที่สื่อสารหรือต้องจริตกับผม (และผมก็เชื่อว่านักอ่านส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น) การที่นิยายเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ต้องจริตกับเรา ก็ไม่ได้หมายความว่านักเขียนไม่ดี แค่บางทีสิ่งที่เขาเขียนอาจไม่ตรงใจเราเท่านั้นเอง
“In the Abyss หลุมหลบตาย” เป็นหนึ่งในนิยายของปราบต์ที่ผมเลือกมาอ่านล่าสุด และชอบมาก ชอบแบบที่ใช้เวลาอ่านจบเล่มในวันเดียว อ่านแล้วไม่อยากวาง เพราะมันลุ้นว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร
“In the Abyss หลุมหลบตาย” เป็นงานเขียนเฉพาะกิจที่ปราบต์ร่วมกันผลิตขึ้นมากับ Arn เว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับสนับสนุนให้คนรักการอ่าน โดยโครงการที่ว่านี้ใช้ชื่อว่า Arn Exclusive โดยปราบต์เปิดเผยว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการเขียนนิยายเรื่องนี้จากการหาข้อมูลเกี่ยวกับ โลกออนไลน์ Twitter แอคเคานต์หลุม และนิยายเรื่อง The Ring ของซูสุกิ โคจิ
เรื่องราวของ “In the Abyss หลุมหลบตาย” นั้นพูดถึง ต้นหน เกย์ที่ไม่เพียงฐานะไม่ดี หากแต่ยังหน้าตาไม่ดีตามอีกด้วย เครื่องเยียวยาจิตใจเพียงอย่างเดียวของต้นหนคือโลกออนไลน์บนแอปพลิเคชัน “นกสีฟ้า” ที่ช่วยปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ ได้พูดและทำในสิ่งที่ใจคิดและปรารถนา ผ่านแอคเคานต์หลุมที่เขาสร้างขึ้นมาในชื่อ ‘เซเลอร์สตรอว์เบอร์รี’ ทว่า จู่ๆ แอคหลุมของเขากลับเหมือนถูกแฮก เพราะมันรีทวิต กดไลก์ แม้กระทั่งโพสต์เอง ที่แย่ไปกว่านั้น มันยังไปพัวพันกับ ‘พระเจ้า’ แอคหลุมของอินทร์แขวน เนตไอดอลชื่อดังที่ต้นหนตกหลุมรักอีกต่างหาก
ทางเดียวที่จะแก้ปริศนานี้คือการที่ต้นหนต้องร่วมมือกับอินทร์แขวน เพื่อสืบหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับที่เกิดขึ้นนี้ ที่มาพร้อมกับคลิปช่วยตัวเองสุดวาบหวิวที่อินทร์แขวน (ในนาม ‘พระเจ้า’) ได้อัดไว้หลังจากนัดเอาท์ดอร์ระหว่างเขากับหนุ่มปริศนาล่มไม่เป็นท่า และการสืบค้นครั้งนี้ทำให้ต้นหนกับอินทร์แขวนผูกพันกันมากขึ้น แต่ต้นหนจะเชื่อใจอินทร์แขวนได้จริงหรือไม่ เพราะโลกออนไลน์ทื่ทุกคนล้วนแต่มีแอคหลุมไว้ปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเองนั้น สะท้อนให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งว่าเราเชื่อใจใครไม่ได้
ความสนุกของนิยายเล่มขนาดไม่หนาไม่บางเรื่องนี้คือการวางโครงเรื่องที่สลับซับซ้อน และการใส่รายละเอียดให้กับตัวละครทุกตัวอย่างหมดจด ตัวละครในเรื่องไม่มีใครเป็นสีขาวหรือสีดำเลย ทุกตัวออกแนวเทาๆ ไปหมด ทำให้อารมณ์กังขาและคับข้องใจยามที่เกิดความรู้สึกว่าใครกันแน่ที่หลอกใครนั้นถูกดึงมาใช้ได้ตลอดเรื่อง (นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมวางนิยายเล่มนี้ไม่ลง)
อีกอย่างที่เด็ดดวงมากคือการที่ปราบต์เขียนเรื่องด้วยสำเนียงที่เย้ยเยาะถากถางสังคมบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสังคมของคนรุ่นใหม่ที่ล้วนเปราะบาง หากแต่ก็อาศัยร่างอวตารที่อยู่ในโลกออนไลน์เป็นป้อมปราการในการสร้างพละกำลังความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง ยิ่งเมื่อมารวมเข้ากับเรื่องการสืบสวน การค้นหาความจริงจากศพปริศนา และเรื่องลี้ลับด้วยแล้ว ยิ่งทำให้นิยายเรื่องนี้เหมือนสนุกคูณสามคูณสี่เข้าไปอีก
ถ้าหากจะให้ติติง สำหรับผมน่าจะมีแค่สองส่วน ส่วนแรกคือฉากติดเรตที่ผมคิดว่าหลายครั้งมันก้ำเกิน คือมีก็ได้ไม่มีก็ได้ แต่เข้าใจแหละเพราะปราบต์ออกตัวไว้ตั้งแต่คำนำแล้วว่านี่น่าจะเป็นนิยายที่ติดเรตมากที่สุดของเขา ไหนๆ พูดถึงประเด็นนี้แล้ว ขอขยายไปที่ประเด็นใกล้เคียงเลย คืออารมณ์ Y ต้องขอเตือนว่าสำหรับคอนิยาย Y ที่คุ้นชินกับอารมณ์หวามไหววแบบสีชมพู นิยายเรื่องนี้ไม่มีอะไรแบบนั้นเลย ถึงจะมีฉากติดเรตแบบที่ผมบอกไป หากแต่ก็ไม่ใช่อารมณ์ Y แบบฟรุ้งฟริ้งนะครับ
อีกส่วนที่ผมคิดว่ายังไม่ค่อย Make Believe มากนักคืออำนาจพิเศษของผี (ใช่ครับ ในเรื่องมีผีด้วย) ที่ผมว่ามันออกแนวอภินิหารมากเกินพอดี แต่นัยยะในการที่ผีใช้วิญญาณของตนเชื่อมโยงกับการใช้ร่างของคนอื่นเพื่อเป็นอีกคนที่เสียดสีโลกออนไลน์นั้น ก็ช่วยหักกลบลบหนี้ในส่วนที่กังขาไปได้พอสมควรครับ
นอกจากภาษาที่สวยงาม บรรยายเห็นภาพแล้ว อีกประเด็นที่เป็นเอกลักษณ์ของปราบต์คือการแทรกสอดมุมมอง ความคิดเห็นของตนในประเด็นต่างๆ ลงไปในเรื่องได้อย่างแยบยล ซึ่งใน “In the Abyss หลุมหลบตาย” ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งผมมองว่าการแทรกความคิดของตัวเองลงไปในเรื่องที่เขียนของปราบต์นั้นกลายเป็นเสน่ห์ที่ยากจะหานักเขียนรุ่นใหม่ๆ คนไหนทำได้แล้วล่ะครับ
ผมอ่านนิยายของปราบต์ติดต่อกันสามเรื่อง (ไม่ได้ต่อเนื่องนะครับ แค่ไล่เลี่ยกัน) คือ คาธ อโศกสาง และ In the Abyss หลุมหลบตาย เรื่องนี้ แต่ผมประทับใจและอยากเขียนถึงนิยายเรื่องนี้แค่เรื่องเดียว ทั้งที่ทีแรกวางแผนว่าจะเขียนแบบสองเรื่องควบ แต่ทำไงได้ครับ อย่างที่ผมบอก ถึงจะอ่านงานของปราบต์อยู่ตลอด แต่ใช่ว่าผมจะชอบงานของเขาทุกเรื่องนี่ครับ
#ReadingRoom #ปราบต์ #IntheAbyssหลุมหลบตาย
โฆษณา