23 เม.ย. 2022 เวลา 08:28 • หนังสือ
ประวัติศาสตร์การจดบันทึก ก็คือประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราเริ่มรู้จักวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคอดีตจากการอ่าน และตีความเรื่องราวที่ถูกจดบันทึกออกมา จนถึงในปัจจุบัน การอ่านนั้นเป็นสอดประสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน จากการจดบนผนังถ้ำ มาสู่การตีพิมพ์ลงบนหน้าหนังสือ ซึ่งบรรจุเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ตามสีสันที่นักเขียนสามารถสาดใส่เนื้อหาของพวกเขาได้ และนั่นทำให้การจดบันทึกความรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือจินตนาการแสนล้ำเกินบรรยาย เอาไว้ภายในกระดาษสี่เหลี่ยม ๆ ที่เรียกว่าหนังสือ
วันที่ 23 เมษายนของทุก ๆ ปี เป็นวันที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) จัดตั้งให้เป็นวันสำคัญที่มีชื่อว่า "วันหนังสือและลิขสิทธิ์สากล" (World Book and Copyright Day) เพื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องการอ่าน การตีพิมพ์ และลิขสิทธิ์ เพราะหนังสือ ส่งต่อเรื่องราวให้กับผู้คนจากบันทึกประสบการณ์ที่ผ่านมาของคนที่ผ่านมาก่อน เมื่อความรู้เหล่านั้นถูกส่งต่อ จึงเกิดพัฒนาการของมนุษยชาติไม่รู้จบ การประชาสัมพันธ์ถึงวันหนังสือและลิขสิทธิ์สากล จึงเป็นวันสำคัญระดับโลกที่จะช่วยกันส่งเสริมการอ่านของคนในแต่ละประเทศ ซึ่งทางองค์การยูเนสโกก็มีการจัดตั้งเมืองหลวงหนังสือโลกในทุก ๆ ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งในปีนี้เมืองหลวงหนังสือโลกคือเมืองกวาดาลาฮารา ประเทศเม็กซิโก
และเรื่องที่น่ารู้อีกเรื่องก็คือ เมืองกรุงเทพฯ จากประเทศไทย ก็เคยเป็นเมืองหลวงหนังสือโลกในปี พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกัน
คนไทยก็อ่านหนังสือกันเยอะเช่นกัน ซึ่งคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดตามที่เขาหลอกลวง เพราะในปี พ.ศ. 2549 หัวหน้ากลุ่มสถิติประชากรและสังคม จากสำนักงานสถิติแห่งชาติในขณะนั้นกล่าวว่า ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ทราบถึงที่มาของการกล่าวหาคนไทยด้วยกันเองว่าอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด
แต่จากข้อมูลค่าเฉลี่ยการอ่านที่มี เช่น ระยะเวลาในการอ่าน ไม่สามารถแปลงเป็นบรรทัดได้ เพราะอัตราการอ่านของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทั้งการกวาดสายตาและระยะ การแปลงข้อมูลเป็นบรรทัดจึงมีความคลาดเคลื่อนมากเกินไป ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ที่รวบรวมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึง 2561 จาก 55,920 ครัวเรือนในทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย พบว่าแนวโน้มการอ่านของคนไทยนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากระยะเวลาเฉลี่ยในการอ่านต่อวันของคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปในปี 2551 อยู่ที่ 39 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวันในปี 2561 และจำนวนผู้อ่านคนไทยที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 66.3% ของผู้รับการสำรวจในปี 2551 ไปเป็น 78.8% ในปี 2561 ซึ่งเหตุผลมาจากหลายส่วน เช่น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของอี-บุ๊ก
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยการันตีอัตราการอ่านที่สูงมากของคนไทยก็คือ ในทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานหนังสือครั้งใหญ่หลายครั้ง ทั้งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดช่วงต้นปี มหกรรมหนังสือระดับชาติที่จัดช่วงสิ้นปี และงานหนังสือตามภูมิภาคอย่าง เทศกาลหนังสืออุดร เชียงใหม่บุ๊คแฟร์ สัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี เป็นต้น รวมถึงข้อมูลภายในจาก Picodi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ในปี 2562 พบว่าประเทศไทยมีการซื้อหนังสือมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากตุรกี รัสเซีย และสเปน
จะพบว่าข้อมูลที่มี แสดงให้เห็นว่าผู้คนสนใจในการอ่านอย่างมาก ทั้งเพื่อความบันเทิง เพื่อหาความเพลิดเพลิน และเพื่อหาความรู้ ซึ่งคนไทยก็ใส่ใจในเรื่องการอ่านอย่างมากไม่แพ้ชาติอื่น ๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราเชื่อว่า คุณผู้อ่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้น่าจะรักในการอ่านพอสมควร ถ้าเราจะขายหนังสือคงไม่แปลกอะไร เพียงทักข้อความมาที่เพจของเรา (และบอกชื่อหนังสือที่ต้องการจากลิงก์นี้ : https://www.facebook.com/theprincipiaco/posts/167563505602740) เราจะจัดสรรความรู้ดี ๆ ไปส่งให้คุณถึงบ้าน แล้วมารักการอ่านไปด้วยกันนะครับ
(เรียบเรียงโดย ธนกฤต ศรีวิลาศ)
โฆษณา