Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ปั่นเรื่อง เป็นภาพ
•
ติดตาม
25 เม.ย. 2022 เวลา 04:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
The Scala
สารคดีที่ทำให้เราหายคิดถึง สกาล่า
ย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปี คงไม่มีใครไม่รู้จักโรงหนังสกาล่า
ด้วยเพราะโรงหนังสกาล่าเป็นโรงหนังขนาดใหญ่ที่จุคนได้เกือบ 1,000 คน
ตั้งอยู่ในพื้นที่สยามสแควร์ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ทำให้เวลามีหนังเรื่องใหม่เข้า
วัยรุ่นยุคนั้นจะต้องตีตั๋วมาดูหนังที่โรงหนังสกาล่ากันแน่นเต็มโรง
แต่กาลเวลาผ่านไป วิวัฒนาการได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง
การที่โรงหนังโรงเล็กผุดตามห้างสรรพสินค้า การเกิดขึ้นของวิดีโอ แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี
ล้วนเป็นต้นเหตุทำให้โรงหนังขนาดใหญ่ต้องได้รับผลกระทบ ซึ่งโรงหนังสกาล่าก็ไม่มีข้อยกเว้น
จนในที่สุดโรงหนังสกาล่าก็ได้ปิดตัวลงและถูกรื้อทิ้งในปี 2564 ที่ผ่านมา
ปิดตำนาน 54 ปีโรงภาพยนตร์เก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
ปัจจุบันแม้จะไม่มีโรงหนังสกาล่าให้เราได้เห็นแล้ว แต่หากใครที่คิดถึงสกาล่า
วันนี้ทาง Netflix ได้นำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Scala ที่เคยลงโรงฉายในปี 2015
กลับมาฉายใหม่ให้เราได้หายคิดถึง
ตัวหนังสารคดี The Scala จะพาเราย้อนไปทำความรู้จักกับบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการนำพา
โรงหนังสกาล่าฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ห้าสิบกว่าปี ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการ, ผู้ดูแล, ช่างเทคนิค, ช่างฉายหนัง
ซึ่งทำให้เราได้เห็นแนวคิด มุมมองของกิจวัตรของพวกเขา เราได้เห็นความเป็นมาของแต่ละคนว่ามาจับพลัดจับพลูมาทำงานที่โรงหนังสกาล่าได้ยังไง แล้วทำไมแต่ละคนถึงทำงานยาวนานเป็น 40-50 ปีได้
ซึ่งเราจะได้เห็นว่าคนทำงานในโรงหนังสกาล่าก็เป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ ที่มีความอบอุ่น ไม่ทอดทิ้งคนทำงานเก่าแก่ แม้ว่าอะไรหลาย ๆ อย่างจะเปลี่ยนแปลง โรงหนังหลาย ๆ ที่รับคนทำงานแต่คนหนุ่มคนสาว แต่โรงหนังสกาล่าก็ยังเลี้ยงคนทำงานกลุ่มเดิมไม่ท้องทิ้ง ทำให้ทุกคนทุกตำแหน่งมีความผูกพันในตัวโรงหนังสกาล่าเป็นอย่างมาก ทุกคนจะมีทัศนคติในการทำงานว่าอะไรช่วยทำเพื่อโรงหนังได้ก็จะทำ อะไรที่ทำแล้วทำให้โรงหนังดีขึ้นก็จะทำ
แม้ว่ามันจะทำให้ตัวเองเหนื่อยขึ้นก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นการซักผ้าคลุมที่นั่ง 700 ตัว ที่คนดูแลยอมซักด้วยมือเองดีกว่าจะต้องให้ทางโรงหนังเสียเงินจ้างบริษัทซักรีดข้างนอก
การติดไฟวิ่งประดับป้ายหน้าโรงหนัง ที่ช่างเทคนิคเสนอและขอทำเองดีกว่าจะต้องให้ทางเจ้านายเสียเงินจ้างบริษัททำป้ายไฟมาทำ
และที่สำคัญที่สุดคือมหกรรมการล้างโคมไฟ Chandelier ที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมหน้าโรงหนัง ซึ่งจะต้องทำการล้างปีละครั้ง แต่ด้วยการที่โคมไฟ Chandelier เป็นของเก่าแก่หายากหาที่ไหนไม่ได้แล้ว และมีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรมมาก การล้างโคมไฟจึงเป็นงานช้าง ที่ทุกคน ทุกตำแหน่ง ทุกหน้าที่ไม่เว้นแม้แต่ผู้จัดการจะยอมหยุดงานที่ตัวเองทำหนึ่งวันมาช่วยกันล้างโคมไฟ Chandelier กันอย่างระมัดระวังไม่ให้โคมไฟแตก ซึ่งทุกคนก็พยายามช่วยกันอย่างเต็มที่
1
ในช่วงท้ายของสารคดี ทุกคน ทุกตำแหน่ง พอจะรู้ชะตากรรมอนาคตของโรงหนังสกาล่าล่วงหน้า ทุกคนเข้าใจและยอมรับในความเปลี่ยนแปลงของโลก เพียงแต่ทุกคนผูกพันกับโรงหนังมาก หากวันนั้นมาถึงก็คงใจสลาย แต่ทุกคนก็ต้องแยกย้ายก้าวเดินไปตามทางของตัวเองกันต่อไป
มาวันนี้แม้โรงหนังจะไม่อยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อเราได้มาดูสารคดี The Scala มันก็ทำให้เราได้ระลึกถึงว่าครั้งหนึ่งเมืองไทยเราเคยมีโรงหนังที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในโลกตั้งอยู่ใจกลางเมือง ครั้งหนึ่งเราเคยมีโรงหนังที่จุคนได้มากเกือบ 1 พันคน ครั้งหนึ่งเราเคยมีโรงหนังที่มีเอกลักษณ์มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ครั้งหนึ่งเราเคยมีโรงหนังที่มีบุรุษชุดสูทสีเหลืองคอยฉีกตั๋วหน้าโรง ครั้งหนึ่งเราเคยมีโรงหนังที่มีกลิ่นพรมกลิ่นม่านติดจมูกเรา
โรงหนังนั้นมีชื่อว่า “สกาล่า” ครับ
บันทึก
3
8
3
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย