24 เม.ย. 2022 เวลา 05:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วงการตลาดทุน “หุ้นปั่นนี่อันตรายที่สุด นักลงทุนส่วนใหญ่นิยมเล่นแต่หุ้นปั่น เล่นแล้วไม่ยอมเลิก สุดท้ายพอได้มามากเท่าไหร่ก็ต้องโดนเอาคืนกลับไปทั้งหมด”
1
ธรรมชาติของหุ้นปั่นมันคือการตีฟอง หมดรอบเมื่อไร ราคาก็หมด ไม่เหลือค่าอะไร คำว่าปั่น แปลว่าหมุน มันจึงไม่ใช่ของจริง คุณต้องเข้าเร็ว ออกเร็ว เมื่อไรที่มันหมุนช้าลงหรือหยุดหมุน เมื่อนั้นใครที่ออกไม่ทันก็ขาดทุน นี่คือสัจธรรม ใครที่เล่นหุ้นปั่นแล้วรอดมาได้ อย่าไปคิดว่าตนเองเก่ง เพียงเพราะพวกรายใหญ่เค้ามาหลอกล่อให้คุณได้กำไรไปก่อน พวกเขาตั้งใจเอาปืนแก๊ปมาดวลกับคุณเพื่อให้ตายใจและหลงระเริง แต่หากวันใดพวกเขาพกปืนจริงมา หมายถึง “การทุบหุ้นทุกราคา” เมื่อถึงวันนั้นคุณเจ๊งแน่ “อย่าใจเร็วด่วนได้ เพราะคุณจะไม่ได้อะไรเลย”
การเล่นหุ้นเก็งกำไรคุณอย่าไปทุ่มสุดตัว คุณต้องเล่นเป็นตัวประกอบ อย่ารับบทพระเอก เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นใส่คุณ ถ้าอยากเล่นเยอะให้ไปเล่นหุ้นมวลชน (หุ้นบริษัทขนาดใหญ่) เพราะมันหลอกกันไม่ได้
ในวงการเขาจะเรียกหุ้นปั่นประเภทนี้ว่า “หุ้นเรียกแขก” ซึ่งหุ้นจะเรียกแขกได้มันต้องมี “เจ้ามือ” ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหารบริษัทต้องรู้เห็นเป็นใจ พวกเขามักใช้วิธีการโอนหุ้นบางส่วนไปฝากไว้ใน “พอร์ตนอมินี” (Nominee) คือการมีตัวแทนคอยเก็บหุ้นให้ก่อนที่พิธีกรรม "การสร้างราคาหุ้น" จะเริ่มต้นขึ้น
ตัวแทนหรือ “นักทำราคา” จะกว้านซื้อหุ้นเป้าหมายออกมาให้มากที่สุดจนปริมาณหุ้นหมุนเวียนที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหดหายไปหรือน้อยลง จากนั้นหุ้นจะเริ่มวิ่งขึ้น แล้วหยุดพักฐานสักครู่ และวิ่งขึ้นต่อไปอีกครั้ง ระหว่างที่ราคาหุ้นนั้นกำลังวิ่งขึ้นอย่างร้อนแรงและรวดเร็ว เจ้ามือเขาจะดักรอกินคุณอยู่ หากราคาหุ้นยังวิ่งขึ้นไปไม่ถึงเป้าหมาย พวกเขาจะคอยประคองราคาเอาไว้จนกว่าจะมีเหยื่อกลุ่มใหญ่เข้ามา (นั่นก็คือพวกคุณ) หากเพียงบางครั้งสุดท้ายแล้ว หุ้นปั่นจำพวกนี้จะเกิดอาการ “เสือกินเนื้อเสือ” ก็คือกินฝั่งเจ้ามือพวกเดียวกันเองเข้าไปด้วยก็มี
หากว่า “ผู้ถือหุ้นใหญ่” มีความคิดอยาก “สร้างราคาหุ้น” แล้วไม่ให้วงแตก “นักสร้างราคาหุ้น” ที่เป็นมืออาชีพจริงๆเขาจะแจ้ง “เจ้าของหุ้น” ว่าต้องโอนหุ้นส่วนหนึ่งมาเก็บไว้ที่เขาก่อน แถมยังไม่พอ เจ้าของหุ้นจะต้องให้เงินสดมาอีกก้อนด้วย ไม่เช่นนั้นคงยากที่จะสร้างราคาได้สำเร็จดั่งใจหวัง
สมมุติว่าผมเป็นเจ้าของหุ้น และอยากให้หุ้นของผมมีคนเข้ามาเล่นเยอะๆ ผมต้องไปหาคนมาสร้างราคาให้ ผมมีเงินและมีหุ้นให้ จากนั้นก็บอกราคาเป้าหมายกับนักสร้างราคาไปเลยว่าอยากได้เท่าไร พอได้ฤกษ์เริ่มพิธีกรรมการปั่น เมื่อราคาวิ่งไปจนถึงเป้าหมายแล้ว นักสร้างราคาหุ้นจะได้ส่วนแบ่งเท่าไร หากไม่ปฏิบัติเป็นขั้นตอนเช่นนี้ก็คงไม่มีใครกล้าเข้ามาเสี่ยงให้เปลืองตัว เหตุเพราะถ้าหากเป็นการพูดคุยตกลงเพียงแค่ปากเปล่า ไม่มีการโอนหุ้นให้ ไม่มีการให้เงินค่าจ้างมาก่อน สมมุติเหตุการณ์ว่านักสร้างราคากำลังทำราคาหุ้นในตลาดอยู่ดีๆ มาวันหนึ่งดันมีคนโยนขายหุ้นก้อนใหญ่ออกมาในตลาด สุดท้ายวงแตกกระจาย
“อ่าว!! ใครขายออกมาเนี่ย ก็พูดคุยตกลงกันหมดแล้วไม่ใช่หรือ?”
ผมถามหน่อยว่าใครกันเล่าที่มีหุ้นก้อนใหญ่จำนวนมากมายขนาดนั้น ถ้าไม่ใช่ “เจ้าของหุ้น”เป็นคนขายออกมาเอง นี่คือวิธีการหลอกให้ไปติดกับดัก เสียหายหนักจริงๆ
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว วิธีการปั่นหุ้นซึ่งได้ผลดีที่สุดคือ เจ้าของหุ้นต้องโอนหุ้นไปให้มืออาชีพก่อน และต้องให้เงินอีกก้อนด้วย จากนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักสร้างราคามืออาชีพ ระหว่างที่เทศกาลปั่นหุ้นได้เริ่มต้นขึ้น เจ้าของหุ้นและนักสร้างราคาจะต้องทำสัญญากันว่าในระหว่างทาง จุดไหนขายหุ้นได้ จุดไหนห้ามขายออกมาเด็ดขาด ทำเช่นนี้ถึงจะปั่นราคาสำเร็จ
สุดท้ายหากเริ่มมีบุคคลภายนอกรู้สึกระแคะระคาย มีผู้คนทั่วไปเริ่มตั้งแง่สงสัย จนมีผู้สื่อข่าวไปขอสัมภาษณ์เจ้าของหุ้นหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ร้อยทั้งร้อยจะตอบกลับมาว่าไม่รู้เรื่อง เขามีภาระหน้าที่ในการบริหารบริษัทอย่างเดียว เชื่อผมเถอะ พวกเขาจะตอบเช่นนี้ทุกราย
“การปั่นหุ้น” ฟังดูเหมือนง่าย หากคุณคิดที่จะทำ แต่ดันไม่ไปพูดคุยกับเจ้าของหุ้นหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อน คงไม่มีทางทำได้สำเร็จเลย ยิ่งยุคสมัยนี้ก็มีเจ้าของหุ้นลงมาเล่นหุ้นเอง ยิ่งน่ากลัว ถ้าคุณไม่เข้าไปพูดคุยกับเขาเพื่อสร้างข้อตกลงบางอย่าง แล้วยังทู่ซี้ทะเล่อทะล่าเข้าไปปั่นหุ้นในอาณาจักรของเขา เผลอๆจะโดนโยนขายหุ้นใส่ “อยากปั่นนักใช่ไหม? งั้นอยากได้เท่าไรก็เอาไปเลย” คราวนี้แย่แน่ คุณจะไม่มีทางออก เพราะยิ่งขาย หุ้นก็ยิ่งร่วงหนัก
สมัยก่อนนานมาแล้ว หุ้นบริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่ๆ (IPO) บางครั้งราคาหุ้นเมื่อแรกเข้าตลาดมักจะถูกทุบลงให้ราคาต่ำกว่าราคาจองไปก่อน จากนั้นค่อยลากราคากลับขึ้นมาทีหลัง ด้วยเพราะ “เจ้าของหุ้น” เป็นคนปล่อยหุ้นออกมาเอง แล้วค่อยไปรอเก็บราคาต่ำ “เพื่อลดต้นทุน” บริษัทใดหากเจ้าของหุ้นลงมาเล่นหุ้นด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านนอมินี สุดท้ายมักจะไม่ค่อยรอด เพราะหุ้นได้หมดความน่าเชื่อถือไปแล้ว เจ้าของหุ้นบางรายพอเอาหุ้นบริษัทตนเองเข้าตลาดได้สำเร็จก็ทยอยปล่อยหุ้นออกมาเลย แล้วก็รวยอยู่คนเดียว จะถือนานไปทำไมล่ะ เสียเวลา นักลงทุนที่หลงไปเจอหุ้นแบบนี้เข้าก็ซวยไป
1
พูดตรงๆ ผมเคยเล่นหุ้นปั่น พอวันที่ผมปล่อยขายหุ้นจนหมด แต่มีบางคนที่ยังไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อน เสียน้องไปหลายคน สุดท้ายมันไม่คุ้มหรอก ถ้าต้องมานั่งทะเลาะกัน เสือกับเสือ ใหญ่กับใหญ่ อยู่ด้วยกันไม่ได้นาน สุดท้ายแตกคอกันเอง คุณจำเป็นต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน
จำไว้เลยว่าหุ้นตัวใดหากราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้อนแรง หวือหวาผิดปกติ (ยกเว้นหุ้นมวลชน) คุณอย่าไปคิดหวังว่าหุ้นมันจะขึ้นได้ด้วยตัวเองหรือแรงซื้อปกติของตลาด ถ้าเจ้าของหุ้นไม่สร้างราคา มีของให้ขายแต่ไม่มีคนซื้อ ราคามันจะขึ้นได้อย่างไรถ้าเจ้าของหุ้นไม่ร่วมมือด้วย
“หุ้นที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างหวือหวา เจ้าของหุ้นเขาเปิดไฟเขียวให้ทั้งนั้น”
เจ้าของหุ้นที่ดีต้องไม่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต และต้องดูแลหุ้นของตัวเอง
เสี่ยยักษ์ : วิชัย วชิรพงศ์, 2007
โฆษณา