25 เม.ย. 2022 เวลา 02:01 • สุขภาพ
ทำความรู้จัก"ไบโพล่า"
2
"ไบโพล่า" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดอดีตดีเจ “เจย์ ศุภกาญจน์” ลูกชาย "เจี๊ยบ-กาญจนาพร” เสียชีวิตจากโรคนี้เช่นกัน เรามาทำความรู้จักไบโพล่าคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร ต้องรักษา และดูแลผู้ป่วยอย่างไร
ล่าสุดอดีตดีเจ “เจย์ ศุภกาญจน์” ลูกชาย "เจี๊ยบ-กาญจนาพร” เสียชีวิต ที่บ้านพัก จากการตรวจสอบตามร่างกาย ไม่พบบาดแผลภายนอก มีเพียงรอยช้ำรอบลำคอ และพบว่ามีอาการป่วยเป็นโรคไบโพล่า
โรคไบโพล่าคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และต้องรักษาอย่างไร เรามาทำความเข้าใจ และรู้จักโรค"ไบโพล่า" คร่าชีวิตลูกชาย เจี๊ยบ-กาญจนาพร ปลอดภัย
พญ. บุฑบท พฤกษาพนาชาติ (จิตแพทย์)โรงพยาบาลนครพิงค์ พบ. เกียรตินิยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วว. จิตเวชเด็กและวัยรุ่น รพ.รามาธิบดีปรึกษาคุณหมอผ่านแอป Raksa เขียนบทความเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ไว้ว่าเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการ 2 ระยะ คือ ระยะพลุ่งพล่าน จะคิดเร็ว ทำเร็ว พูดเยอะ นอนน้อย ฟุ่มเฟือย ก้าวร้าว สลับกับระยะซึมเศร้าที่จะรู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ เบื่ออาหาร หรืออาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
การรักษาผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีความจำเป็นต้องใช้ยา เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล ควบคู่ไปกับการพบแพทย์เพื่อรักษาโดยการทำจิตบำบัด
คนใกล้ชิดควรดูแลผู้ป่วยโดยเริ่มจากการทำความเข้าใจพฤติกรรมที่เป็นอาการของโรค คอยรับฟังและให้กำลังใจ คอยดูแลเรื่องการกินยา การไปพบจิตแพทย์ตามนัด หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการของโรค
1
โรคไบโพลาร์คืออะไร?
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) คือโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนต่างกันเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วหนึ่งเป็นอารมณ์ซึมเศร้า และอีกขั้วหนึ่งเป็นอารมณ์พลุ่งพล่านผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์สลับกันไปมาระหว่างอารมณ์พลุ่งพล่านผิดปกติและซึมเศร้า ซึ่งอารมณ์ที่แปรปรวนแต่ละช่วงอาจอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็ได้ และเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดซ้ำกว่า 70%
2
โรคไบโพลาร์มีกี่ระยะ?
โรคไบโพลาร์จะมีอยู่ 2 ระยะ คือ
ระยะแมเนีย (Manic Episode) ผู้ป่วยจะมีความมั่นใจในตัวเอง คิดเร็ว ทำเร็ว ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย นอนน้อยลง ใช้เงินฟุ่มเฟือย ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ลงทุนแบบไม่ยั้งคิดจนอาจก่อหนี้สินมากมาย ก้าวร้าว มักก่อเรื่องทะเลาะวิวาท
ระยะซึมเศร้า (Depressive Episode) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร ขาดสมาธิ แยกตัว อยากอยู่นิ่งๆ อยากนอนทั้งวัน หรืออาจมีอาการนอนไม่หลับ บางครั้งกินมากหรือเบื่ออาหาร รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตายเกิดขึ้น
สาเหตุของไบโพลาร์
ไบโพลาร์ (Bipolar) เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยด้านจิตสังคม นอกเหนือจากความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมแล้ว ยังพบความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองอีกด้วย ในส่วนของปัจจัยด้านจิตสังคมนั้นมีสาเหตุคล้ายกับโรคซึมเศร้า เชื่อว่าการเกิดแมเนียเป็นกลไกการป้องกันตนเองที่ใช้เผชิญกับภาวะซึมเศร้า
2
อาการของไบโพลาร์
อาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับไปมาระหว่างอารมณ์ดีเกินปกติ (ช่วงแมเนีย)กับอารมณ์ซึมเศร้า (ช่วงซึมเศร้า)
ในช่วงแมเนีย ผู้ป่วยจะมีความมั่นใจมากเป็นพิเศษ ความต้องการนอนลดลง บางรายอาจอยู่ได้โดยไม่นอนติดต่อกันหลายวัน มีกิจกรรมตลอดเวลา กระตือรือร้น เปลี่ยนความสนใจง่าย สมาธิลดลง พูดเยอะ พูดไม่หยุด เปลี่ยนเรื่องพูดบ่อย รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ ทำอะไรเสี่ยงอันตราย ความคิดแล่นเร็ว ใช้เงินเยอะ จึงทำให้ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องการใช้เงิน อาการเหล่านี้จะคงอยู่เป็นเวลานานเกินกว่า 1 สัปดาห์
2
ในช่วงซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร นอนไม่หลับหรือนอนมากผิดปกติ เบื่ออาหารหรืออาจกินมากขึ้น มองโลกในแง่ลบ ขาดสมาธิ บางรายอาจมีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง โดยอาการเหล่านี้จะคงอยู่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
1
อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
หากพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการเข้าข่ายช่วงแมเนีย หรือซึมเศร้า เพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่อาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็สามารถพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การรักษาโรคไบโพลาร์
ไบโพลาร์เป็นโรคที่เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ อยู่ในระดับที่ไม่สมดุล ดังนั้นการรักษาจึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์โดยใช้ยาเป็นหลัก จิตแพทย์จะให้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารมณ์ กรณีผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าว รบกวนบุคคลอื่น หรือมีอาการทางจิตร่วมด้วย มักจะรับไว้รักษาแบบผู้ป่วยใน
ยารักษาโรคไบโพลาร์
ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพลาร์ มีหลายกลุ่ม ได้แก่
ยาที่ช่วยให้อารมณ์คงที่ แพทย์จะใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาว โดยควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
2
ยาต้านอาการทางจิต ยากลุ่มนี้ช่วยให้อารมณ์คงที่เช่นเดียวกับยากลุ่มแรก และยังสามารถใช้ในกรณีที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย
ยาต้านเศร้า ใช้รักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ที่อยู่ในช่วงซึมเศร้า
ยาคลายกังวล ยากลุ่มนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความวิตก ความคิดฟุ้งซ่าน หากผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ ยากลุ่มนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยหลับง่ายขึ้น
นอกจากการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวและจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือการกินยาสม่ำเสมอและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง กรณีการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล อาจทำการรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsant Therapy)
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไบโพลาร์
นอกจากการกินยาสม่ำเสมอ ติดตามการรักษาต่อเนื่อง ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อประโยชน์ในการรักษา ได้แก่
Do
นอนหลับให้เพียงพอ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลังและสารเสพติดทุกชนิด
ทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจแจ่มใส เช่น เดินเล่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลงบรรเลง นั่งสมาธิ ฟังเสียงธรรมชาติ
หมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการแทรกซ้อนหรือมีอาการรุนแรงขึ้นให้รีบไปพบแพทย์
หากมีอาการข้างเคียงจากยาให้รีบปรึกษาแพทย์
ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด
1
Don’t
ไม่ทานยาตามที่แพทย์สั่ง
ใช้สารเสพติดรวมถึงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดไม่แจ้งอาการที่เกิดขึ้นจริงกับจิตแพทย์ที่รักษา
ไม่ไปพบจิตแพทย์ตามนัดหมาย
วิธีดูแลผู้ป่วยไบโพลาร์
หากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวเป็นโรคไบโพลาร์ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับอาการไบโพลาร์ที่ผู้ป่วยแสดงออกมาว่าไม่ใช่นิสัยที่แท้จริง หรือผู้ป่วยไม่ได้มีนิสัยไม่ดี แต่เป็นอาการของโรค คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยและปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ ดังนั้นคนใกล้ชิดต้องเข้าใจและรู้วิธีรับมือกับผู้ป่วย
สำหรับคนใกล้ชิด ญาติ คนในครอบครัว ควรปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยไบโพลาร์ดังนี้
ทำความเข้าใจตัวโรค ยอมรับ รับฟัง และให้กำลังใจผู้ป่วย
ดูแลให้ผู้ป่วยทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาเองก่อนปรึกษาแพทย์
คอยดูแลพฤติกรรมไม่ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเสี่ยงอันตราย
คอยดูแลพฤติกรรมการใช้เงินของผู้ป่วยสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย หากมีอาการรุนแรงขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์
การป้องกันไบโพลาร์
ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกันโรคไบโพลาร์ที่ได้ผลชัดเจน แต่เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคไบโพลาร์ลงได้ โดยการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพทางใจให้ดี พักผ่อนให้เป็นเวลา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสารเสพติดทุกชนิด ฝึกทักษะการเผชิญและจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม
หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการไบโพลาร์ ควรไปปรึกษาจากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อหาแนวทางในการรักษาพร้อมรับคำแนะนำ หรือขอคำปรึกษาฟรี ได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
โฆษณา