27 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔥 เศรษฐกิจไทยกำลังเดินหน้าสู่วิกฤติหรือไม่?
หลายคนรอบตัวเริ่มมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยตลอด 2 ปีที่เผชิญกับปัญหา COVID-19 ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด คำถามที่เริ่มตามมาก็คือ จะหนักถึงขั้นเกิดวิกฤติหรือไม่? บทความนี้จะพาไปเจาะข้อมูลเชิงลึกของเศรษฐกิจไทยเพื่อตอบคำถามกัน
📌เศรษฐกิจไทยปี 2565 ถูกปรับลดประมาณการ
สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2564 เติบโต 1.6% ฟื้นตัวจากปี 2563 ที่หดตัวไป 6.2% พร้อมคาดปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.5-4.5% เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนภาครัฐ
📌ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจ ปี 2565 จาก 3.4% เหลือ 3.2% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดปรับจากเกินดุล 1,500 ล้านดอลลาร์ เป็นขาดดุล 6,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อถูกปรับเพิ่มจาก 1.7% มาที่ 4.9%
📌เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ต้องติดตามสำหรับปี 2565 ซึ่งช่วงต้นปีดูเหมือนว่าแม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแต่อาจไม่ยืดเยื้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุขึ้นมานับเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อันเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งผลเริ่มสะท้อนออกมาแล้วผ่านอัตราเงินเฟ้อ เดือนมีนาคม ที่เพิ่มขึ้นถึง 5.73% หากพิจารณาแนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ก็ทำนายได้เลยว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นได้อีก
…ผลสุดท้ายภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนก็เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
📌GDP โตลดลง รายได้ต่อหัวเพิ่มน้อยลง?
นอกจากข้อมูลเศรษฐกิจแล้ว สภาพัฒน์ฯ ยังเผยว่ารายได้ต่อหัวของคนไทย ปี 2564 อยู่ที่ 232,176 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เพียง 7,214 บาทต่อคนต่อปี และคาดว่าปี 2565 รายได้จะเพิ่มขึ้น 12,662 บาทต่อคนต่อปี มาที่ 244,838 บาทต่อคนต่อปี
แต่ข้อมูลนี้เป็นคาดการณ์ก่อนจะมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นหากพิจารณาว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้แล้ว การปรับประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดก็คงสะท้อนชัดว่าปี 2565 รายได้อาจเพิ่มขึ้นไม่ถึง 12,662 บาท
…รายได้เพิ่มไม่เท่าภาระค่าใช้จ่าย
📌ภาคส่งออกอาจเติบโตน้อยลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมาภาคส่งออกไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามและเงินเฟ้อเป็นประเด็นปัญหาไปทั่วโลกย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออุปโภคบริโภค ภาคส่งออกอาจเติบโตน้อยลงส่งผลมาถึงภาคอุตสาหกรรมในประเทศซึ่งต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นไปด้วย เรียกได้ว่าเครื่องยนต์ที่แบกเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดมีแนวโน้มชะลอตัว
…นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2565
📌อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัว แต่หนี้ครัวเรือนพุ่งเร็วกว่า
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หลายคนต้องตกงาน หลายคนรายได้ลดลงไม่พอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเมื่อไตรมาส 4 ปี 2564 เพิ่มขึ้นมาที่ 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.1% ของ GDP อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 106.7%
โดยปลายปี 2563 อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ประเทศไทยอยู่ที่ 89.3% ตามหลังทั้งเกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย ปัจจุบันขยับแซงทั้งสหราชอาณาจักรและมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว
คุณภาพหนี้ครัวเรือนก็นับว่าน่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะเป็นหนี้ที่สร้างขึ้นเพื่อการบริโภคหรือดำรงชีพทำให้ไม่ช่วยเพิ่มรายได้และประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สถิติจากเครดิตบูโรชี้ว่าลูกหนี้ 100 คน จะมีหนี้เสีย 18 คน นอกจากนี้ยังพบว่าวัยเรื่มทำงานช่วงอายุ 25-35 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีภาระหนี้มากที่สุด
1
จึงเป็นไปได้ยากที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวมากพอจะช่วยเศรษฐกิจไทย …แต่ถึงจะเพิ่มได้ก็คงสร้างปัญหาหนี้อย่างหนักแน่นอน
📌เศรษฐกิจไม่น่าสนใจ เงินทุนไหลออก บาทอ่อนซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 6,000 ล้านดอลลาร์ ชี้ว่าจะมีเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแม้จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้า ในทางกลับกันก็เป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้านำเข้าด้วย ซึ่งภาคการผลิตของประเทศไทยต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำมันดิบ โลหะ ปุ๋ยเคมี ฉะนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมจึงเริ่มต้องแบกภาระต้นทุนที่มากขึ้น หรือถึงแม้จะผลักภาระไปยังผู้บริโภคด้วยการเพิ่มราคาขาย ก็ย่อมส่งผลให้กำไรสุทธิหรือปริมาณการบริโภคน้อยลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
และผลก็ย้อนเป็นวังวนทำให้เศรษฐกิจไม่น่าสนใจ เงินทุนก็ไหลออกเพิ่มและซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ ทางออกของปัญหาอาจต้องภาวนาให้ราคาพลังงานและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในตลาดโลกลดลง ซึ่งดูจากสถานการณ์แล้วยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้
…ต้องลุ้นให้เศรษฐกิจยังทนต่อไปได้จนกว่าราคาพลังงานและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในตลาดโลกลดลง
📌ขยับเพดานหนี้สาธารณะ แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคงน้อยลง
COVID-19 ที่ลากยาวตลอด 2 ปี รัฐบาลต้องอัดฉีดมาตรการการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบ ในขณะเดียวกันรายได้ของรัฐบาลก็ลดลง ทางออกจึงเป็นการกู้เงินผ่านการตั้งงบประมาณขาดดุล โดยปี 2564 และปี 2565 ขาดดุล 6.23 และ 7 แสนล้านบาท ตามลำดับ
เป็นผลให้ระดับหนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 58.31% เนื่องจากก่อนหน้านี้เพดานหนี้สาธารณะถูกกำหนดไว้ที่ 60% ของ GDP ทำให้ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีเหลือไม่มาก รัฐบาลจึงเห็นชอบปรับกรอบเพดานหนี้จาก 60% เป็น 70%
แม้การแบกหนี้ยังถือว่าไม่สูงเกินไป สะท้อนจาก Fitch Rating ยังให้ความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ แต่รัฐบาลต้องมีแผนการใช้เงินและการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ อีกทั้งการที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และรัฐบาลมีภาระจัดสรรงบสวัสดิการ จึงส่งผลให้หนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปอีก
…จะขาดดุลงบประมาณเป็นเวลานานคงไม่เหมาะสม มาตรการกระตุ้นคงน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
💡จากปัจจัยทั้งด้านรายได้และรายจ่าย รวมไปถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น คงบอกได้อย่างแน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเจอช่วงเวลาที่ลำบาก แม้อาจไม่เกิดวิกฤติในระยะนี้ แต่ปัญหาที่สะสมและไม่ได้รับการแก้ไขอาจก่อเกิดช่วงเวลาอันมืดมนอย่างยาวนานที่เรียกกัน Lost Decade
โฆษณา