27 เม.ย. 2022 เวลา 01:44 • ประวัติศาสตร์
สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เกิดขึ้นบนโลกเร็วกว่าที่คาด 1 พันล้านปี👾👾
(ภาพจากฝีมือศิลปิน) สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในยุคดึกดำบรรพ์ Ediacaran ซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์รุ่นแรก ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลก
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ถือกำเนิดขึ้นบนโลกเมื่อราว 600 ล้านปีก่อน ในขณะที่ชั้นบรรยากาศและใต้มหาสมุทรเริ่มมีปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้น แต่ล่าสุดหลักฐานใหม่กลับชี้ว่า สิ่งมีชีวิตแบบซับซ้อนอาจมีมานานกว่านั้นถึงหนึ่งพันล้านปี
ทีมนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาจีน รวมทั้งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระและมหาวิทยาลัยลีดส์ของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการค้นพบข้างต้นในวารสาร Nature Geoscience โดยระบุว่าพื้นที่ใต้มหาสมุทรในมหายุคมีโซโพรเทอโรโซอิก (Mesoproterozoic Era) เมื่อราว 1.6 พันล้าน ถึง 1 พันล้านปีก่อน มีปริมาณออกซิเจนในระดับสูงกว่าที่เคยเข้าใจกัน และเงื่อนไขนี้เอื้ออำนวยต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ได้
วงการบรรพชีวินวิทยาเคยเข้าใจกันว่า มหายุคมีโซโพรเทอโรโซอิกนั้นอยู่ในช่วงเวลาที่โลกยังมีออกซิเจนในระดับต่ำอย่างคงที่ยาวนานถึงหนึ่งพันล้านปี ทำให้ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เกิดขึ้น นอกจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหรือแบคทีเรียที่มีมาก่อนหน้านั้น นักวิทยาศาสตร์บางรายเรียกช่วงเวลานี้ว่า Boring Billion หรือ "หนึ่งพันล้านปีที่น่าเบื่อ"
"ฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตคล้ายสาหร่ายที่พบในจีนเมื่อไม่กี่ปีก่อน ชี้ว่าสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดถึง 1 พันล้านปี"
อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของหินยุคมีโซโพรเทอโรโซอิก ที่ได้จากแอ่งหยานเหลียว (Yanliao Basin) ทางตอนเหนือของจีนชี้ว่า ในช่วงต้นของยุคนี้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณออกซิเจนที่ก้นมหาสมุทร จนน่าจะมีความเข้มข้นเพียงพอที่สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ซึ่งใช้พลังงานในการดำรงชีวิตมากขึ้นจะสามารถอยู่รอดได้
ผลการศึกษาล่าสุดนี้ สนับสนุนรายงานการค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์คล้ายสาหร่ายในจีนเมื่อปี 2016 โดยการที่ฟอสซิลดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ถึง 1.56 พันล้านปี และเกิดขึ้นก่อนช่วงที่เชื่อว่าโลกจะมีปริมาณออกซิเจนสูงพอ ทำให้ในเวลานั้นหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ฟอสซิลดังกล่าวน่าจะเป็นของกลุ่มแบคทีเรียที่รวมตัวกันเป็นแผ่นบาง ๆ มากกว่าจะเป็นของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ในยุคเริ่มแรก
โฆษณา