4 พ.ค. 2022 เวลา 02:13 • ข่าว
จากสันนิบาตชาติสู่สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
หากพูดถึงนครเจนีวา หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จักว่าอยู่ที่ไหน และมีความสำคัญอย่างไร …. วันนี้ดิฉันขอถือโอกาสถ่ายทอดการให้สัมภาษณ์ของ คุณรองวุฒิ วีรบุตร อุปทูต รักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา (ในขนะนั้น) ถึงเรื่อง “จากสันนิบาตชาติสู่สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา” (รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=fcFKVQp9ZAI)
นครเจนีวาตั้งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเมืองที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากในประวัติศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีความเป็นกลาง คือ ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้กลายเป็นที่ยอมรับของหลายประเทศ และยังเป็นจุดเชื่อมทางผ่านของประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่นฝรั่งเศสและเยอรมนี และยังมีชายแดนติดกับออสเตรียและอิตาลี ทำให้สวิตเซอร์แลนด์จำเป็นที่จะต้องมีความเป็นกลาง เพราะเปรียบเสมือนเป็นรัฐกันชนที่ดี
หากเราจะเข้าใจถึงจิตวิญญาณของนครเจนีวา ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้ลึกซึ้งถ่องแท้ เราจะต้องทำความเข้าใจสงครามโลกครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ก่อน เพราะความเป็นมาของนครเจนีวาผูกพันกับสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามก็เพราะยุคนั้นเป็นยุคของการล่าอาณานิคม และประเทศในยุโรปมีการสะสมอาวุธกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนเกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ประชาคมโลกจึงไม่ต้องการให้เกิดสงครามขึ้นอีก ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ของสหรัฐฯ จึงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ที่มีวัตถุประสงค์ในการไกล่เกลี่ย และไม่ให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบานปลายกลายเป็นสงครามขึ้นอีก
...ต่อมา องค์การสันนิบาตชาติได้ยุติบทบาทลงหลังจากก่อตั้งอยู่นานกว่า ๒๐ ปี เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ ทำให้ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ริเริ่มก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้ร่วมมือกันยกร่างกฎบัตรสหประชาชาติ และร่วมกันลงนามที่เมืองซานฟรานซิสโก แต่ท้ายที่สุด องค์การสหประชาชาติได้ไปตั้งที่นครนิวยอร์ก
องค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ภาพจาก เว็บไซต์ United Nations
ถึงแม้องค์การสันนิบาตชาติไม่ได้ประสบความสำเร็จในวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แต่องค์การสันนิบาตชาติก็ได้สร้างสิ่งดี ๆ ไว้มากมาย สิ่งหนึ่งที่สันนิบาตชาติได้ให้ความสำคัญ ก็คือ การพยายามลดอาวุธ เนื่องจากสิ่งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดสงครามระหว่างกัน นอกจากนี้ สันนิบาตชาติยังได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคม ประกอบด้วย เรื่องสุขอนามัย เรื่องแรงงาน และเรื่องการปลดปล่อยอาณานิคม ซึ่งล้วนเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนา ดังคำกล่าวที่ว่า “Geneva is the kitchen, while New York is the restaurant”
เปรียบเสมือนเจนีวาเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ และนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอและส่งเสริมให้นำไปใช้ ทั้งนี้ สำนักงานสันนิบาตชาติ ณ นครเจนีวา ยังได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่องค์การสหประชาชาติ ทำให้สำนักงานสันนิบาตชาติ ณ นครเจนีวา กลายเป็นที่ตั้งขององค์การสหประชาชาติของยุโรป คือ The United Nations Economic Commission for Europe (ECE or UNECE)
สำนักงาน UN ที่นครเจนีวา ภาพจาก เว็บไซต์ United Nations
หากมองถึงบทบาทของประเทศไทยในสมัยนั้น สยามก็ได้เข้าเป็นภาคีขององค์การสันนิบาตชาติ แต่ไม่ได้เปิดสำนักงานผู้แทนถาวรอย่างเช่นทุกวันนี้ ประเทศเรามีนักการทูตประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตในยุโรป ซึ่งก็ทำหน้าที่เป็นทูตผู้แทนถาวรในองค์การสันนิบาตชาติ จนกระทั่งองค์การสันนิบาตชาติได้ยุติบทบาทลงแล้วเปลี่ยนเป็นองค์การสหประชาชาติ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๗ ประเทศไทยได้มาเปิดสำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และได้ให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน การลดอาวุธ การค้า การพัฒนา เรื่องสุขภาพ หรือแม้กระทั่งเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน
ประเทศไทยยังได้ร่วมผลักดันประเด็นต่าง ๆ ในแต่ละหมวดหมู่ของสหประชาชาติ อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (Technical Assistance and Capacity Building) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) รวมถึงการผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ และการทูตพหุภาคีถูกวิจารณ์ว่า มีการตอบสนองค่อนข้างช้าต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
เพราะกรอบเดิมอาจจะมีความบกพร่องและไม่ทันสมัย จึงควรมีกลไกใหม่มาเสริม ไทยจึงร่วมสนับสนุนการจัดทำกลไกใหม่ คือ สนธิสัญญาว่าด้วยโรคระบาด (Pandemic Treaty) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีบทบาทอย่างไร และทำงานอะไรไปบ้าง ที่สำคัญ เราได้ส่งเสริมผลประโยชน์ให้กับโลกและประเทศไทยอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการปฏิบัติงานของนักการทูตทุกคน ทั้งในประเทศและในต่างประเทศเสมอมา
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา