2 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
รู้จัก มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
2
ถ้าพูดถึงมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น หลายคนคงนึกถึง
คุณ Masayoshi Son เจ้าของอาณาจักร SoftBank Group หรือคุณ Tadashi Yanai เจ้าของแบรนด์ UNIQLO
ซึ่งผลัดกันครองตำแหน่งบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยสุดของญี่ปุ่นอยู่หลายครั้ง
6
แต่รู้ไหมว่า อีกคนหนึ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน แม้เราจะไม่ค่อยเห็นชื่อของเขาตามสื่อสักเท่าไร
คือคุณ “Takemitsu Takizaki” ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 3 ในญี่ปุ่น และเคยแซงหน้าขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในบางช่วงเวลาด้วย
2
ชายคนนี้ทำธุรกิจอะไร ถึงรวยเป็นอันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่นได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
คุณ Takemitsu Takizaki เป็นนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น เกิดเมื่อปี 1945 ปัจจุบันอายุ 76 ปี
1
เขาเรียนจบเพียงแค่ระดับชั้นมัธยมปลาย แต่ก็ค่อย ๆ เก็บสะสมประสบการณ์การทำงาน จนต่อมาได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเอง ชื่อว่า “Keyence” ในปี 1974
3
บริษัท Keyence ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย อุปกรณ์และระบบอัตโนมัติ ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็น เซนเซอร์, วิชันซิสเต็ม, เครื่องอ่านบาร์โคด รวมถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
7
พอเป็นเช่นนี้ ลูกค้าสำคัญของบริษัท ก็คือกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่พึ่งพาสายพานการผลิตเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
4
ในช่วงแรก คุณ Takemitsu Takizaki ได้เข้าไปช่วยคิดค้นเซนเซอร์ ให้กับสายพานการผลิตรถยนต์ของ Toyota และสายพานการผลิตชิปของ Toshiba ทำให้ Keyence เริ่มมีชื่อเสียง และสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
3
และความจริงแล้ว Keyence ไม่ได้ผลิตอุปกรณ์เหล่านั้นเอง
แต่จะรวบรวมวัสดุตั้งต้น ไปจ้างโรงงานอื่น ให้ผลิตเป็นชิ้นส่วนและสินค้าสำเร็จรูป จากนั้นจึงค่อยนำมาตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพ และขายให้ลูกค้าอีกที
5
โดยในการผลิต บริษัทได้วางกลยุทธ์แยกจ้างโรงงานหลาย ๆ แห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครรับรู้ถึงส่วนประกอบและเทคโนโลยีทั้งหมด แล้วผันตัวมาเป็นคู่แข่งในอนาคต
4
ส่วนในด้านการทำตลาด Keyence ก็ไม่ได้แยกขายสินค้าเป็นชิ้น ๆ
แต่จะพ่วงทั้งอุปกรณ์และระบบ เป็นแพ็กเกจเดียวกัน
โดยจะวิเคราะห์ความต้องการ จากฐานข้อมูลของลูกค้า เพื่อเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์การผลิตของแต่ละโรงงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
6
ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ของ Keyence จึงมีมูลค่าเพิ่ม
ส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรถึงเกือบ 40% และทำให้สามารถจ่ายค่าจ้างพนักงานได้สูง โดยพนักงานของ Keyence มีเงินเดือนเฉลี่ยราว 5.8 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3 เท่า ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
13
แล้วปัจจุบัน Keyence มีขนาดใหญ่แค่ไหน ?
ที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจของ Keyence เติบโตควบคู่กันไปด้วย
และทุกวันนี้ การพัฒนาของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ประกอบกับวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ก็บีบให้ต้องลดความแออัดของพนักงาน
2
ซึ่งเรื่องนี้ ก็ยิ่งส่งผลให้อุปกรณ์และระบบอัตโนมัติของ Keyence เป็นสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้เลย สำหรับผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ
4
เราลองมาดูผลประกอบการของ Keyence
ปี 2020 รายได้ 147,000 ล้านบาท กำไร 53,000 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 143,000 ล้านบาท กำไร 52,000 ล้านบาท
8
โดยบริษัทไม่ได้ดำเนินงานอยู่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มีการขยายไปใน 46 ประเทศทั่วโลก ซึ่งยอดขายในปีล่าสุด มีสัดส่วนมาจาก
- ญี่ปุ่น 44%
- จีน 16%
- สหรัฐอเมริกา 14%
- ประเทศอื่น 26%
4
และสำหรับในประเทศไทย บริษัท คีย์เอ็นซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่ปี 1998 โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 2,669 ล้านบาท และกำไร 127 ล้านบาท
2
โดย Keyence จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท นับเป็นบริษัทใหญ่สุด เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น รองจาก Toyota และ Sony
3
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างคุณ Takemitsu Takizaki ซึ่งถือหุ้น Keyence อยู่ในสัดส่วนราว 21% ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท
ซึ่งนับเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 3 ในประเทศญี่ปุ่น รองจากคุณ Masayoshi Son เจ้าของ SoftBank Group และคุณ Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้ง Fast Retailing เจ้าของแบรนด์ UNIQLO เพียงเท่านั้น
1
และเมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 เขาเคยแซงขึ้นเป็นบุคคลร่ำรวยสุดในญี่ปุ่นมาแล้ว หลังจากธุรกิจของทั้ง SoftBank Group และ UNIQLO ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งสวนทางกับ Keyence
2
จากเรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่า
สิ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาว คือ การตอบโจทย์แนวโน้มของตลาด
2
แม้ผลิตภัณฑ์เซนเซอร์และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ของ Keyence อาจมีราคาสูง แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับลูกค้าโรงงานแทบทุกราย ไม่เช่นนั้นกระบวนการผลิตอาจมีประสิทธิภาพสู้คู่แข่งไม่ได้
และในอนาคต เมื่อหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่โรงงานอุตสาหกรรม แต่รวมถึงในตัวเมืองและที่พักอาศัย มีการใช้เทคโนโลยีระบบอัจฉริยะมากขึ้น หนึ่งในผู้ที่จะเป็นรากฐานสำคัญของเทรนด์ดังกล่าว คงหนีไม่พ้น Keyence
2
ซึ่งมันก็น่าจะทำให้คุณ Takemitsu Takizaki คนนี้ ติดอันดับมหาเศรษฐีแถวหน้าของญี่ปุ่น ไปอีกนาน..
โฆษณา