1 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตอนนี้ คนเกาหลีใต้ หรือ คนญี่ปุ่น รวยกว่ากัน ?
1
ทำไมซัมซุง ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับแบรนด์ญี่ปุ่นได้
ทำไมศิลปินเกาหลีใต้ เข้าถึงคนทั่วโลกได้มากกว่าญี่ปุ่น
แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า
1
ตอนนี้ คนเกาหลีใต้ กับ คนญี่ปุ่น ใครรวยกว่ากัน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
3
45,274 ดอลลาร์สหรัฐ คือ GDP ต่อหัว เมื่อวัดจากค่าครองชีพของชาวเกาหลีใต้
หรือ GDP (PPP) ในปี 2020 ซึ่งมากกว่าของชาวญี่ปุ่นที่ 42,390 ดอลลาร์สหรัฐ
1
ถึงแม้ GDP ต่อหัวที่วัดตามตัวเลข หรือ Nominal GDP
ชาวเกาหลีใต้จะยังคงตามหลังชาวญี่ปุ่น
แต่หากวัด GDP ต่อหัวที่วัดตามค่าครองชีพ
เกาหลีใต้ได้แซงหน้าญี่ปุ่นไปตั้งแต่ปี 2018 แล้ว
หรือพูดง่าย ๆ คนเกาหลีใต้ รวยแซงหน้าคนญี่ปุ่นไปกว่า 3 ปีแล้ว..
4
ทั้ง ๆ ที่เมื่อปี 2000 หรือราว 20 กว่าปีที่แล้ว
GDP (PPP) ต่อหัว ของชาวเกาหลีใต้ ยังน้อยกว่าชาวญี่ปุ่นอยู่เกือบ 50%
อะไรที่ทำให้ประเทศที่เคยตามหลังญี่ปุ่นแทบทุกอย่าง
สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ จนผู้คนร่ำรวยแซงหน้าได้ ?
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดนนี้
ล้วนเต็มไปด้วยความบาดหมาง
คาบสมุทรเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ตามมาด้วยการกดขี่สารพัด ทั้งการห้ามสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียน
ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงาน ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ
ทั้งหมดล้วนสร้างความคับแค้นใจให้ชาวเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน
1
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
สงครามเกาหลีที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งของประเทศอื่น
ก็เข้ามาซ้ำเติมคาบสมุทรแห่งนี้ จนทำให้ต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ
เกิดเป็นประเทศเกาหลีใต้ที่สิ้นเนื้อประดาตัวจากสงคราม อุตสาหกรรมถูกทำลายอย่างย่อยยับ
และเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลก..
1
ชะตากรรมของเกาหลีใต้สวนทางกับญี่ปุ่น ที่สามารถพลิกฟื้นจากความพ่ายแพ้หลังสงคราม
จนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกในช่วงทศวรรษ 1990s
1
ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น จึงเป็นเหมือนต้นแบบที่เกาหลีใต้เลือกดำเนินรอยตาม
ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก ต่อเรือ
จนมาสู่รถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
แต่นอกจากจะเป็นต้นแบบแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นเหมือนคู่แข่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ซึ่งหนึ่งในจุดหมายสำคัญก็คือ การพัฒนาประเทศให้ร่ำรวยแซงหน้าญี่ปุ่นให้ได้
จากในปี 2000 ชาวเกาหลีใต้มี GDP (PPP) ต่อหัว 18,538 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเทียบกับชาวญี่ปุ่นที่สูงถึง 27,287 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ในวันนี้ ชาวเกาหลีใต้กลับมี GDP (PPP) ต่อหัวแซงหน้าชาวญี่ปุ่นแล้ว
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจนวัตกรรมอันดับ 1 ของโลก
จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของ Bloomberg ในปี 2021 แซงหน้าญี่ปุ่นที่อยู่อันดับที่ 12 ไปไกล
3
โดยเกาหลีใต้ได้กลายมาเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสิทธิบัตร การเพิ่มมูลค่าของผลผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนา ที่เกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณสูงมาก คิดเป็นสัดส่วน 4.5% ของ GDP
ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอิสราเอลเท่านั้น
3
เกาหลีใต้ ยังมีบริษัทสตาร์ตอัปยูนิคอร์น ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากถึง 14 บริษัท ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของญี่ปุ่นที่มีเพียง 7 บริษัท
2
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ก้าวไปไกลกว่าญี่ปุ่น คือ การวางแผนพัฒนาอย่างจริงจัง และเป็นระบบจากบนลงล่าง นำโดยหน่วยงานของภาครัฐ ที่สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอย่างเหนียวแน่น
4
เพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า ไปสู่ภาคการบริการที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคต
โดยมีจุดเด่นของการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 3 ประการ ได้แก่..
ประการที่ 1 การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และต่อยอดมาสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
2
ภาครัฐบาลของเกาหลีใต้พัฒนา การให้บริการประชาชนผ่านเครือข่ายไอที มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980s
3
ก่อนจะยกระดับสู่การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตให้โรงเรียนทั่วประเทศ และบริการออนไลน์แก่ประชาชนอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2000
2
การมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตั้งแต่ปี 2001
1
โดยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 57% ของประชากร แซงหน้าญี่ปุ่นที่มีผู้ใช้งานเพียง 39%
ในปี 2021 เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีความเร็วของอินเทอร์เน็ตมือถือเป็นอันดับ 2 ของโลก
1
ความได้เปรียบด้านนี้ ถูกนำมาต่อยอดสู่บริการด้านไอที ที่ครอบคลุมการบริการต่าง ๆ ทั้งการขนส่ง การเงิน ความบันเทิง อุตสาหกรรมก่อสร้าง ไปจนถึงบริการรักษาพยาบาล
2
เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Digitalization เกาหลีใต้จึงเป็นประเทศที่ปรับตัวเข้ารับกับการเปลี่ยนผ่านได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G การรองรับและพัฒนา Internet of Things รวมไปถึงโลก Metaverse ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
5
ประการที่ 2 การวางตลาดสินค้าและบริการให้ขายได้ทั่วโลก
2
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 50 ล้านคน ดังนั้นตลาดภายในประเทศ จึงมีขนาดเล็กกว่าญี่ปุ่นที่มีประชากร 120 ล้านคนมาก
2
และเพื่อเปิดตลาดให้ใหญ่ขึ้น สินค้าของเกาหลีใต้จึงต้องวางแผนทำการตลาด เพื่อตอบโจทย์คนทั้งโลก
2
โดยเกาหลีใต้พึ่งพาการค้ากับต่างประเทศ เป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GDP
ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของญี่ปุ่นที่พึ่งพาการค้ากับต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% ของ GDP
3
ในขณะที่สินค้าของญี่ปุ่น จะเน้นไปที่สินค้าคุณภาพสูง โดยเฉพาะเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์
ที่มักมีคุณสมบัติเกินความต้องการของผู้ซื้อ และตามมาด้วยราคาที่สูง
แต่ขาดดีไซน์ ความง่ายในการใช้งาน และวิธีการสื่อสารกับผู้ใช้งาน
1
ในทางตรงกันข้าม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ กลับเน้นการตั้งราคาให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ มากกว่ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงคุมต้นทุนในการผลิตได้ดี เลือกเฉพาะฟังก์ชันการใช้งานที่จำเป็นแทน เน้นที่ดีไซน์ และการทำการตลาดให้เข้าถึงผู้ซื้อ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือการเติบโตของ Samsung ที่กลายเป็นบริษัทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย
3
หรืออุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่น ที่เน้นตลาดภายในประเทศ ต่างกับเกาหลีใต้ที่วางแผนอย่างจริงจัง เพื่อเจาะตลาดโลก มีการตั้งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีกว่า 33 ประเทศทั่วโลก เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมหรือ Soft Power ในทุกรูปแบบ
2
ทั้งซีรีส์เกาหลีที่จะมีบทพากย์เป็นภาษาต่าง ๆ ก่อนนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ
รวมถึงวางแผนช่วงเวลาในการออกอากาศ และฉากให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่จะนำไปฉาย
หรือวงดนตรีที่มีสมาชิกเป็นชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดฐานแฟนคลับในประเทศอื่น ๆ ด้วย
4
อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ จึงก้าวขึ้นมามีอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลก และจุดประกายให้วัฒนธรรมอื่น ๆ ของเกาหลีใต้ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และการแต่งกายให้แพร่หลายไปทั่วโลก
1
ประการที่ 3 วัฒนธรรมที่เร่งรีบ และแข่งขันสูง
1
ชาวเกาหลีใต้มีวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ปัลลี ปัลลี” ซึ่งมาจากคำที่แปลว่า “เร็ว ๆ”
ซึ่งเราอาจเคยได้ยินคำนี้บ่อย ๆ ในซีรีส์เกาหลี ซึ่งวัฒนธรรมนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอันเร่งรีบของชาวเกาหลีใต้ ที่ไม่ชอบการรอคอย ทุกอย่างต้องรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนไปทุกวงการ
ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาประเทศ
3
ความเร่งรีบทำให้เกิดธุรกิจ ตั้งแต่การบริการส่งพัสดุด่วน บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
บริการหลังการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงบริการก่อสร้าง
แม้แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเซมิคอนดักเตอร์ เกาหลีใต้ก็ใช้วิธีเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศอื่น และนำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งวิธีนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็ว
ในขณะที่ญี่ปุ่นกลับเลือกที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาเอง ซึ่งใช้เวลาช้ากว่ามาก
2
แล้วความรวดเร็วนี้เองก็ทำให้ Samsung ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกได้สำเร็จ
1
อย่างไรก็ตาม ความเร่งรีบในการใช้ชีวิตก็สร้างความกดดันให้กับชาวเกาหลีใต้ไม่น้อย
ผู้คนที่นี่ล้วนทำงานหนัก เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวให้สำเร็จเร็ว ๆ วัยเรียนก็เรียนหนัก
ดาราศิลปินก็ซ้อมอย่างหนัก การแข่งขันที่สูงมากในสังคมเกาหลีใต้ สร้างความเหนื่อยหน่ายและหมดหวังในชีวิต จนคนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ เรียกประเทศตัวเองว่า “Hell Joseon”
หรือ “นรกโชซ็อน”
4
ในวันที่ GDP (PPP) ต่อหัวของชาวเกาหลีใต้ แซงหน้าชาวญี่ปุ่นได้ในปี 2018
สังคมเกาหลีใต้กลับต้องประสบปัญหาไม่ต่างอะไรกับที่สังคมญี่ปุ่นกำลังเจออยู่
1
ทั้งอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลก ผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไปจนถึงการขาดแคลนแรงงาน ที่วัยแรงงานจะลดลงอย่างมาก จากอัตราการเกิดที่ต่ำ
1
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นช้าลง
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นแทบจะเรียกได้ว่าหยุดนิ่งมาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ
หรือที่คนทั้งโลกรู้จักกันในชื่อ “ทศวรรษที่สาบสูญ”
เปิดโอกาสให้เกาหลีใต้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ
จนผู้คนร่ำรวยแซงหน้าคนญี่ปุ่นไปได้ในที่สุด
บทเรียนความสำเร็จของญี่ปุ่น เป็นต้นแบบที่เกาหลีใต้ ใช้พัฒนาเศรษฐกิจเสมอมา
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เศรษฐกิจของประเทศประสบความสำเร็จแล้ว เกาหลีใต้ก็กลับเจอปัญหา
เหมือนที่ญี่ปุ่นต้องเจอ
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน
และจะซ้ำรอยกับญี่ปุ่นหรือเปล่า
เพราะนอกจาก “บทเรียนจากความสำเร็จ” ที่จำเป็นต้องเรียนรู้แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คือ “บทเรียนจากความล้มเหลว”
1
สำหรับเกาหลีใต้ บทเรียนใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น..
โฆษณา