29 เม.ย. 2022 เวลา 11:00 • ข่าวรอบโลก
เปลี่ยนทิศท่อก๊าซสู่ ‘เอเชีย’ ช่วย ‘รัสเซีย’ ได้จริงหรือ?
7
ความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นปัจจัยภายนอกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในขณะที่กำลังจะผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปวิเคราะห์และหาทิศทางในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
7
เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์สงครามในยูเครนยังคงยืดเยื้อ ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียตัดสินใจที่จะ ‘เปลี่ยนทิศทาง’ การส่งออกพลังงานใหม่ไปยังทิศ ‘ตะวันออก’ หรือฝั่ง ‘เอเชีย’ เพราะว่ายุโรปพยายามที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่สามารถตัดขาดการใช้พลังงานของรัสเซียได้ในทันทีก็ตาม
7
ขณะที่ สหภาพยุโรปกำลังถกเถียงเกี่ยวกับการคว่ำบาตรก๊าซและน้ำมันของรัสเซียและประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปจะต้องหาทรัพยากรเหล่านี้จากประเทศอื่นแทน รัสเซียก็ได้เร่งเดินหน้า ‘กระชับความสัมพันธ์’ กับจีนซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานอันดับต้น ๆ ของโลกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
6
ผู้นำของรัสเซียนั้นมีความมั่นใจอย่างมากถึงกับประกาศในที่ประชุมของรัฐบาลรัสเซียว่าคู่ค้าจาก ‘กลุ่มประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ยอมรับว่าไม่สามารถจะอยู่ได้โดยปราศจากทรัพยากรพลังงานของรัสเซียและไม่มีแหล่งพลังงานที่จะเหมาะสมและสามารถมาแทนที่ก๊าซของรัสเซียในตอนนี้ได้ ซึ่งการที่ยุโรปประสานเสียงว่าจะลดพลังงานจากรัสเซียก็ยิ่งผลักดันให้ราคาพลังงานยิ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดโลกไม่มั่นคง
7
แม้จะมีความมั่นใจว่ายุโรปยังตัดพลังงานจากรัสเซียไม่ได้ในตอนนี้ แต่รัสเซียจำเป็นต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อที่จะไม่ตกเป็นผู้แพ้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่ารัสเซียได้ประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะถูกห้ามค้าขายกับคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรปไว้อยู่แล้ว ดังนั้นรัสเซียจึงได้เริ่มเปิดดำเนินการโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-รัสเซีย หรือ ‘พลังงานแห่งไซบีเรีย’ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากที่ช่วยรัสเซียลดการพึ่งพาผู้ซื้อจากชาติตะวันตก โดยท่อส่งก๊าซนี้มีกำหนดที่จะต้องส่งก๊าซให้จีน 10,000 ลูกบาศก์เมตร ในปี 2564 และคาดว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้น 38,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีนับจากปี 2567 ตามสัญญามูลค่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ทำไว้เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยระบบท่อนั้นมีความยาวกว่า 8,000 กิโลเมตร ส่งก๊าซธรรมชาติจากไซบีเรียสู่ 9 มณฑลของจีน
7
นอกจากนี้ ผู้นำรัสเซียได้สั่งให้รัฐบาลนำเสนอแผนภายในวันที่ 1 มิถุนายน เกี่ยวกับแผนการขยาย ‘โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง’ สู่แอฟริกา, ลาตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัสเซียกำลังมองหาความชัดเจนสำหรับความเป็นไปได้ของการรวม ‘ท่อพลังงานแห่งไซบีเรีย’ และ ‘ท่อพลังงานตะวันออกไกล Sakhalin-Khabarovsk-Vladivostok’ ในระบบครบวงจรของพลังงานก๊าซต่าง ๆ โดยมองว่าการนำเส้นทางพลังงานเหล่านี้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายที่กว้างกว่าเดิมอาจจะทำให้รัสเซียสามารถเปลี่ยนทิศทางการปล่อยก๊าซจากยุโรปไปสู่เอเชียได้
9
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัจจัยต่าง ๆ เช่น 1. ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2. ความกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศและ 3. ความต้องการทางเศรษฐกิจที่น้อยอาจจะทำให้ตลาด ‘เอเชีย’ ไม่สามารถรับเอาพลังงานของรัสเซียแทนยุโรปได้ทั้งหมด แต่จนถึงขนาดนี้จะเห็นว่าข้อจำกัดเหล่านี้ยังไม่สามารถหยุดรัสเซียได้ เพราะถึงแม้ว่าจะถูกกดดันรอบด้าน แต่รัสเซียก็คิดหาทางออกในการขายน้ำมันให้ประเทศในเอเชียได้ใน ‘ราคามิตรภาพ’ และในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนที่รัสเซียรุกรานยูเครน หลายชาติในเอเชียยังคงซื้อขายน้ำมันกับรัสเซียต่อไป เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีนและอินเดีย
8
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ว่าสหภาพยุโรปจะห้ามค้าขายพลังงานกับรัสเซีย แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าภาคพลังงานของรัสเซียจะล่มสลายไปทั้งหมด และถึงแม้ว่าตลาด ‘เอเชีย’ จะช่วยรับซื้อได้ไม่มาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีตลาดรองรับเลยซึ่งตลาดที่ยังคงซื้อพลังงานจากรัสเซียก็ไม่ได้เลวร้าย เช่น เบลารุส ที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ที่ซื้อน้ำมันของรัสเซียและจีนที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ซึ่งไม่มีแนวโน้มว่าจะเข้าร่วมมาตรการต่าง ๆ ที่ต่อต้านรัสเซีย
8
นอกจากนั้น จีน, ญี่ปุ่น, อินเดียและเวียดนาม ยังลงทุนในภาคน้ำมันฟอสซิลของรัสเซียด้วยและยังไม่ส่งสัญญาณที่จะถอนการลงทุนออกไป ซึ่งแหล่งน้ำมันและก๊าซจะมีช่วงอายุมากถึง 30 ปี ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ จึงสามารถรอจนกว่าวิกฤติจะจบสิ้นไปได้ ยกตัวอย่าง เช่น Chevron ที่ยังคงการลงทุนในเวเนซุเอลาต่อไปแม้ว่าสหรัฐฯ จะคว่ำบาตรเวเนซุเอลาอยู่ก็ตาม
9
ท้ายที่สุด หากรัสเซียสามารถตัดขาดการซื้อขายพลังงานกับยุโรปได้อย่างสิ้นเชิงก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาการ ‘เจ็บหนัก’ ทางเศรษฐกิจได้เพราะว่าการส่งออกน้ำมันและก๊าซมีสัดส่วนในงบประมาณแห่งชาติราว 45% ขณะที่ยุโรปเอง การตัดสินใจหยุดซื้อทันทีก็ไม่ง่ายเช่นกัน
6
แต่ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันท่าทีของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ยังคาราคาซัง (แม้ว่าล่าสุดรัสเซียจะเพิ่งประกาศว่าจะหยุดส่งก๊าซให้โปแลนด์และบัลแกเรีย) ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจของเอเชียที่กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมาก เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้และอินเดีย
7
อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทยยังคงไม่ได้รับผลกระทบในด้านการขาดแคลนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพราะส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมันดิบจาก ‘ตะวันออกกลาง’ คิดเป็นสัดส่วน 55% ของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด และซื้อจากรัสเซียเพียงแค่ 3% แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ราคาพลังงานและการผลิตน้ำมันโลกในปริมาณที่จำกัดซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังคงผลักดันราคาน้ำมันซึ่งราคาน้ำมันที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนพลังงานและโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานโลก
6
ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจเช่นกันซึ่งจะเห็นได้ชัดจากที่ภาคธุรกิจเริ่มขึ้นราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ แล้ว
6
ที่มา: Putin says Russia will direct energy eastwards as Europe shuns Russian gas | Reuters
China-Russia east route natural gas pipeline delivers 10 billion cubic meters of gas - Global Times
Oil prices have authorities on edge (bangkokpost.com)
3
ผู้เขียน : ศิริอาภา คำจันทร์
3
╔═══════════╗
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของ AEC Connect
╚═══════════╝
3
โฆษณา